วันพุธที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2555

ปาฐกถายิ่งลักษณ์: “Thailand: Creating the Future”

คำกล่าว ฯพณฯนายกรัฐมนตรี ในงานเลี้ยงรับรองอาหารกลางวันภายหลังการสัมมนาการลงทุนในหัวข้อ “Thailand: Creating the Future”

18 เมษายน 2555 ระหว่าง 11.00-12.45 น.

ห้องซัมมิทบอลรูม โรงแรมไชน่าเวิลด์ซัมมิทวิง กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

เรียน ท่านรองนายกรัฐมนตรี หวัง ฉี ซาน และท่านแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน

ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก และได้มีโอกาสในการพบผู้บริหารระดับสูงภาครัฐ ผู้นำทางธุรกิจ และผู้แทนจากบริษัทชั้นนำของประเทศจีน รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและเอกชนของฝ่ายไทย รวมกว่า 700 ท่าน ในวันนี้

ก่อนอื่น ดิฉันขอขอขอบคุณรัฐบาลจีนที่ให้ความร่วมมือและร่วมสนับสนุนการจัดงานสัมมนาการลงทุนและการประชุมทางธุรกิจ (Business Luncheon) ครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน่วยงาน China Council for the Promotion of International Trade (CCPIT) ที่ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงานกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรมของไทย

ประเทศจีนไม่เพียงแต่เป็นมิตรประเทศที่ใกล้ชิดของไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับประเทศไทยเสมอมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีน มีการพัฒนาและผูกพันกันมายาวนานในทุกๆด้าน ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ และมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นในทุกระดับ ทั้งระดับผู้นำ ระดับหน่วยงาน และระดับประชาชน

ประเทศจีนในวันนี้มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและยิ่งใหญ่ในทุกๆด้านประกอบกับการเมืองที่มั่นคง และความมีศักยภาพรอบด้าน ทำให้จีนเป็นประเทศมหาอำนาจของโลก และคู่ค้าสำคัญของหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย

ในช่วง 4-5 ปีมานี้ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยจีนมีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ทั้งในกรอบทวิภาคี พหุภาคี และเวทีภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือทางการค้าภายใต้กรอบความตกลงเอฟทีเอ อาเซียน-จีน ที่ทำให้เกิดข้อตกลงเร่งลดภาษีระหว่างไทยและจีนสำหรับสินค้านำร่องผักและผลไม้ เป็นร้อยละ 0 ในปี 2546 ต่อมา ความตกลงเอฟทีเอระหว่างอาเซียนซึ่งรวมไทยด้วย กับประเทศจีน มีการลดภาษีกลุ่มสินค้าปกติลงเป็นร้อยละ 0 ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งความตกลงดังกล่าวทำให้การค้าสองฝ่ายขยายตัวอย่างมากโดยในปัจจุบันจีนเป็นประเทศส่งออกรายใหญ่ที่สุดของไทยและขณะเดียวกันจีนยังเป็นประเทศที่ไทยนำเข้ามากที่สุดเป็นอันดับสอง

ในด้านการลงทุน พบว่าการลงทุนจากจีนมาไทยเพิ่มมากขึ้นในระยะ 2-3 ปีมานี้ โดยสถิติการขอรับการลงทุนของจีนในปี 2554 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 970 ล้านเหรียญสหรัฐ[1] เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 62

ในด้านการท่องเที่ยว ก็พบว่านักท่องเที่ยวจีนที่มาไทยในปี 2554 มีจำนวนถึง 1.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยมาเยือนจีนมีจำนวน 500,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

นอกจากนี้ จากการหารือกับนายเวิน เจียเป่า ยังได้มีการตั้งเป้าหมายให้ในส่วนของด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างกัน ในช่วง 5 ปีข้างหน้า คือมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 ต่อปี การลงทุนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15 ต่อปี และ การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ต่อปี

ดิฉันใคร่ขอกล่าวถึงเหตุผลที่จะสนับสนุนว่าทำไมประเทศไทยจึงเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจที่สำคัญของจีนในขณะนี้

ประการแรก (พื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงแข็งแกร่ง)

ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงแข็งแกร่งมาก แม้จะเกิดเหตุการณ์อุทกภัยใหญ่ในปีที่แล้ว ฐานะการเงินและการคลังของประเทศก็ยังมีความมั่นคง ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ที่ระดับสูงถึง 180 พันล้านเหรียญสหรัฐ หนี้สาธารณะเป็นสัดส่วนที่ต่ำคือประมาณร้อยละ 40 ของจีดีพี สำหรับเศรษฐกิจในปีนี้จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากการส่งออกที่แข็งแกร่งและการเร่งดำเนินการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงการใช้จ่ายในโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล โดยในปีนี้ ได้มีการคาดว่า GDP ของไทยจะเติบโตประมาณ ร้อยละ 5.5-6.5

ประการที่สอง (นโยบายการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ)

รัฐบาลไทยมีนโยบายเพื่อต้อนรับการลงทุนต่างจากนักลงทุนประเทศ โดยได้มีการปรับปรุงนโยบายและมาตรการเพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนมาโดยตลอด เช่น ในปีนี้เรามีการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 23 และจะลดให้เป็นร้อยละ 20 ในปีถัดไป

นอกจากนี้รัฐบาลไทยได้มีการปรับลดอุปสรรคต่างๆที่เกี่ยวกับกฎระเบียบการค้าและ การลงทุนในไทยเพื่อส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติสามารถทำธุรกิจและลงทุนในประเทศไทยได้สะดวกมากขึ้น อีกทั้งเพื่อเอื้อให้บริษัทต่างๆพิจารณาตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในประเทศไทยอีกด้วย

ประการที่สาม (Strategic location และ Connectivity)

ประเทศไทยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเป็นศูนย์กลางของจุดเชื่อมระหว่างระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) และระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) นอกจากนี้รัฐบาลไทยมีนโยบายที่จะส่งเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนการลงทุนในโครงการใหญ่มูลค่าประมาณ 72,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึง ระบบขนส่งและระบบลอจิสติกส์ภายในห้าปีนี้ ตัวอย่างโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ และการส่งเสริมโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายของรัฐบาลพม่า

นอกจากนี้ การรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ที่จะถึงนี้ จะเป็น การเปิดโอกาสสำหรับการลงทุนของท่านที่จะลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีตลาดผู้บริโภคกว่า 600 ล้านคน ทางรัฐบาลไทยได้จะมีการเตรียมความพร้อมอย่างต่อเนื่องโดยจะส่งสริมแรงงานไทยที่มีคุณภาพสูงและอุตสาหกรรมสนับสนุนที่แข็งแกร่งโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ประเทศไทยก็เป็นผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์อันดับหนึ่งของโลก การที่อุตสาหกรรมการผลิตที่ขยายตัวต่อเนื่อง ยังทำให้เกิดความต้องการในธุรกิจอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมไปถึงพลังงาน โดยเฉพาะการลงทุนด้านพลังงานทดแทนยังจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย จึงขอเชิญชวนให้นักธุรกิจจีนพิจารณาการลงทุนในสาขาที่กล่าวมานี้

ประการที่สี่ (แผนการบริหารจัดการน้ำ)

นอกจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการขยายตัวเศรษฐกิจดังได้กล่าวแล้ว ยังมีแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ วงเงินลงทุนประมาณ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อป้องกันเขตเศรษฐกิจสำคัญต่างๆ ในประเทศไม่ให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมดังเช่นในปีที่ผ่านมา

แผนบริหารจัดการน้ำจะประกอบไปด้วย การบริหารจัดการน้ำในเขื่อน เพื่อลดปริมาณของน้ำ การกำหนดพื้นที่กักเก็บน้ำตามธรรมชาติ การสร้างขันกั้นน้ำ การขุดลอกคูคลองเพื่อเป็นการเร่งระบายน้ำให้ออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ตลอดจนการป้องกันนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการปรับปรุงยกระดับถนนเพื่อให้มั่นใจว่าการขนส่งสินค้าต่างๆจะไม่ถูกกระทบ และที่สำคัญจะมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการในการบริหารจัดการน้ำ (Single Command Center) เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาระบบศูนย์ข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบเตือนภัยต่อสาธารณะชนอีกด้วย

จากที่ได้กล่าวมานี้ ดิฉันเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการลงทุนของท่าน และขอให้ความมั่นใจกับทุกท่านว่ารัฐบาลไทยต้อนรับและสนับสนุนการลงทุนจากจีน ดิฉันมั่นใจว่าความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทยและจีนจะเข้มแข็งขึ้นด้วยความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนของภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย โดยมีภาครัฐส่งเสริมและให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง

สุดท้ายนี้ ดิฉันหวังว่าจะได้ต้อนรับทุกท่านสู่ประเทศไทย

ขอบคุณค่ะ

หมายเหตุ : มูลค่าการลงทุนจีนปี 2554 มีจำนวน 28,495 ล้านบาท ขณะที่ ปี 2553 มีมูลค่า 10,698 ล้านบาท

ไม่มีความคิดเห็น: