เรียกเสียงฮือฮากันพอควร เมื่อมีข่าวว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นัดชุมนุมใหญ่คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทย ที่สโมสรกองทัพบก แต่ในวันต่อมา แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ นำโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และ พิภพ ธงไชย ได้ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงว่า กลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้เรียกร้องให้มีการชุมนุมดังกล่าว แต่การชุมนุมของพี่น้องประชาชนสามารถทำได้เพื่อปกป้องใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ
แปลความตามถ้อยแถลงข้างต้นคือ งานนี้พันธมิตรไม่เกี่ยว แต่กลุ่มก่อการเคลื่อนไหวชุมนุมครั้งนี้เป็นใคร? มาจากไหน?
ที่สุด บวร ยสินทร แกนนำกลุ่มราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน ก็ออกมายอมรับว่า การนัดหมายชุมนุมที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดี ในวันเสาร์ที่ 21 เมษายนศกนี้ เป็นการรวมตัวของภาคประชาชนในนาม กลุ่มเรียกคืนอำนาจจากนักการเมืองเนรคุณแผ่นดิน
องค์กรที่มาร่วมจัดการชุมนุมเรียกว่า สหธรรมิก 4 องค์กร ประกอบด้วย สภาการวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง (สวชพ.) นำโดย น.ต.ถนิต พรหมสถิต เป็นประธาน สุขุม วงประสิทธิ์ เป็นเลขาธิการใหญ่
สมาพันธ์พลเมืองฐานราก (สพฐ.) นำโดย พายัพ ยังปักษี องค์การโอนอำนาจทรัพยากรใต้ดิน เพื่อสร้างสรรค์การปรองดองแห่งชาติ (อทพช.) นำโดย พ.ท.รัฐเขต แจ้งจำรัส และองค์การทรัพยากรทางทะเล เพื่อสร้างสรรค์การปรองดองแห่งชาติ (อททช.) นำโดย พล.ร.ต.พัฒนะ จิรนันท์
โดยมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นประธานที่ปรึกษาใหญ่ มีจุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ
4 องค์กรที่ว่านี้ ได้ประสานงานกับ กลุ่มราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน นำโดย บวร ยสินทร ซึ่งมีแนวคิดเรื่องปฏิรูปการเมืองให้เกิดระบอบประชาธิปไตย ในแบบราชอาณาจักรอย่างสมบูรณ์ โดยจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านอำนาจจากนักการเมืองในปัจจุบันเช่นเดียวกัน
กลุ่มเรียกคืนอำนาจจากนักการเมืองเนรคุณแผ่นดิน จึงมีความเห็นสอดคล้องที่จะจัดประชุมรัฐสภามหาชนขึ้น ณ สโมสรทหารบก วิภาวดีรังสิต
คณะกรรมการจัดงานประกอบด้วย น.ต.ถนิต พรหมสถิต (ประธาน), บวร ยสินทร (รองประธาน) นายพายัพ ยังปักษี (รองประธาน) พ.ท.รัฐเขต แจ้งจำรัส (กรรมการ) พล.ร.ต.พัฒนะ จิรนันท์ (กรรมการ) และนายสุขุม วงประสิทธิ (กรรมการและเลขาธิการ)
เมื่อกองทัพบกประกาศห้ามใช้สถานที่สโมสรทหารบก เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง ทางกลุ่มเรียกคืนอำนาจฯ ก็คงจะใช้พื้นที่ภายนอกและปรับไปตามสภาพที่เหมาะสมต่อไป
สำหรับกรณี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในแถลงการณ์ของกลุ่มเรียกคืนอำนาจฯ ระบุว่า พล.อ.ชวลิต มิได้เป็นผู้จัดงานหรือประธานของงานในครั้งนี้ แต่เป็นที่ปรึกษาใหญ่ของสหธรรมิก 4 องค์กรเท่านั้น
ประเด็นการเรียกร้องของกลุ่มเรียกคืนอำนาจฯ ไม่ได้เป็นไปตามที่สื่อหลายสำนักเฝ้ามอง คือมิได้คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือต้าน พ.ร.บ.ปรองดองฯ หากแต่เป็นเรื่องปัญหาความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ และความเดือดร้อนของประชาชน
กล่าวสำหรับตัวละครหลักของการขับเคลื่อนครั้งนี้คือ กัปตันถนิต หรือ น.ต.ถนิต พรหมสถิตย์ อดีตกัปตันการบินไทย ที่เคยร่วมกับ สมาน ศรีงาม เลขาธิการเครือข่ายประชาธิปไตยแห่งชาติ บุกเข้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อกลางเดือนมกราคม 2549
เหตุเกิดจากการชุมนุมในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ที่สวนลุมพินี โดย สนธิ ลิ้มทองกุล ได้นำผู้ชุมนุมเดินเท้ามายังทำเนียบรัฐบาล ซึ่งกัปตันถนิต ก็ยกพวกมาสมทบ แต่เมื่อถึงทำเนียบได้สั่งเคลื่อนคนส่วนหนึ่งเข้าไปด้านใน จึงถูกตำรวจแจ้งข้อหามั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปกระทำการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
นัยว่า กัปตันถนิต กลับมามวลชนอีกครั้ง คงไม่ได้กระทำการเพียงลำพัง เนื่องจากมีข่าวลือสะพัดไปในหมู่คนเสื้อเหลืองว่า ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ เปิดไฟเขียวให้ภาคประชาชนรวมพลจุดกระแสต้านนักการเมืองทุนสามานย์
แต่แกนนำพันธมิตรฯ กลับได้ข้อมูลมาอีกด้านว่า การนัดหมายชุมนุมของกลุ่มกัปตันถนิต เป็นเรื่องของพรรคการเมืองฝ่ายค้าน จึงชิงนัดประชุมเพื่อกำหนดท่าที และแถลงให้ทราบว่า แกนนำพันธมิตรฯ ยังมิได้นัดหมายชุมนุมแต่อย่างใด
กล่าวถึงที่สุด การรวมพลังในนามกลุ่มเรียกคืนอำนาจฯ ก็จะจบลงอย่างไร้พลัง และไม่มีใครให้ความสนใจมากนัก
แม้ว่า สถานีทีวีดาวเทียมช่อง ไทยทีวีดี (ThaiTVD) หรือ ทีวีสีฟ้า สาขา 2 จะรับหน้าที่เป็น กระบอกเสียง และถ่ายทอดสดการชุมนุมของกลุ่มเรียกคืนอำนาจฯ แต่ก็คงไม่มีพลังเท่ากับยุค ASTV เกาะติดการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ
แหล่งข่าวในกลุ่มคนเสื้อเหลืองชี้ว่า เบื้องหลังการรวมตัวของ นักเคลื่อนไหวอิสระ ยังมี เงา ของ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อันวูบไหวอยู่หลังม่าน!
จึงทำให้หลายคนคิดถึงการผนึกกำลังของ ประสงค์ และ คนไม่รักทักษิณ ที่ก่อหวอดชุมนุมโค่นทักษิณเมื่อปี 2548 แต่จุดม็อบไม่ติด และต้องรอมาถึงปี 2549 จึงเกิดกลุ่มพันธมิตรฯ
จริงหรือไม่? มี ซีไอเอคาบไปป์ เป็นอีกหนึ่งตัวละคร...คำตอบอยู่ที่ถ้อยแถลงของแกนนำพันธมิตรฯ ที่ดูเหมือนจะรู้ลึกและรู้จริงว่า เป้าประสงค์การขับเคลื่อนครั้งนี้เพื่อการใด?--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น