วันนี้ (5 เม.ย.) นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกมธ.แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวอีกครั้งถึงกรณีที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ของผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุการดำเนินการของกมธ.อาจขัดรัฐธรรมนูญใน3ประเด็น ว่า การตั้งข้อสังเกตของที่ปรึกษาผู้ตรวจฯเป็นเพียงการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเท่านั้น ขณะนี้ยังไม่มีการส่งหนังสือชี้แจงอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด ซึ่งในประเด็นการระบุว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการกำหนดให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ทั้งนี้เพราะร่างที่กมธ.เสียงข้างมากลงมตินั้นกำหนดให้นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เข้าใจว่าที่ผู้ตรวจฯแสดงความเป็นห่วงคือร่างเก่าของครม.ที่รับมติจากที่ประชุม
นายสามารถ กล่าวว่า 2.ประเด็นการบัญญัติให้ประธานสภาเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญที่มีขึ้นใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองหรือไม่ ตนคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญในช่วงดังกล่าวนั้นเป็นเพียงระหว่างกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญซึ่งยังถือว่ายังไม่ถึงที่สุดในการตรากฎหมาย อีกทั้งอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญระบุให้วินิจฉัยการออกกฎหมายว่าขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ อาทิ วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ที่ตราขึ้นใหม่ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่ได้ให้อำนาจถึงการวินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และผู้ที่จะพิจารณาประเด็นควรจะเป็นรัฐสภา ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ และหากเห็นว่าประเด็นนี้มีปัญหาจริง ๆ ก็สามารถไปว่ากันในที่ประชุมรัฐสภาในวาระ2 ได้ 3.ส่วนการที่ให้รัฐสภาลงมติยืนยันหลังจากที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ หากพระมหากษัตริย์ทรงยับยั้งไม่ส่งกลับมา ตรงนี้เป็นหลักการ ที่ระบุในรัฐธรรมนูญปี50 อยู่แล้ว
นายสามารถ กล่าวถึงกรณีการปรับใช้กฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นมาใช้เลือกตั้ง ส.ส.ร. ว่า เป็นไปในลักษณะสอดคล้องกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ในแต่ละพื้นที่ และใกล้เคียงกับการจัดเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว.แบบที่เคยปฏิบัติ เพียงแต่ไม่มีการใช้สิทธิ์ล่วงหน้า หรืออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในต่างประเทศเท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น