วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับพรรคเพื่อไทย
หมายเหตุ - เนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ..... ที่คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) จากพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นผู้ยกร่าง และเตรียมเสนอประธานรัฐสภาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ โดยมีสาระสำคัญอยู่เพียง 5 มาตรา เพื่อแก้ไขมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 3 ขึ้นมายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ.....
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
มาตรา 1 รัฐธรรมนูญนี้เรียกว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พุทธศักราช...
มาตรา 2 รัฐธรรมนูญนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (17) ของมาตรา 136 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 "(17) การให้ความเห็นชอบสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291/1 (2)"
มาตรา 4 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นหมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาตรา 291/1 ถึงมาตรา 291/16 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
หมวด 16 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
มาตรา 291/1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ ประกอบด้วยสมาชิก ดังต่อไปนี้
(1) สมาชิก ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จังหวัดละ 1 คน
(2) สมาชิก ซึ่งมาจากการคัดเลือกโดยที่ประชุมของรัฐสภา จำนวน 22 คน ดังต่อไปนี้
(ก) ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน จำนวน 7 คน
(ข) ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ จำนวน 7 คน
(ค) ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ ตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภาประกาศกำหนด จำนวน 8 คนคน
มาตรา 291/2 บุคคลผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291/1 (1) ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง
(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี หรือเทียบเท่า
(4) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้ว เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง หรือเป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง หรือเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี การศึกษา หรือเคยรับราชการ หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี
มาตรา 291/3 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
(1) เป็นบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้ แทนราษฎรตามมาตรา 102 (1) (2) (3) (4) (6) (7) (9) (11) (12) (13) หรือ (14)
(2) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
(3) เป็นข้าราชการการเมือง
มาตรา 291/4 สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291/1 (2) ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 291/2 (1) (2) และ (3) และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา
มาตรา 291/5 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 291/1 (1) และให้รัฐสภาดำเนินการคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291/1 (2) ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้มีผลบังคับใช้
การกำหนดวันเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาซึ่งต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร
หลัก เกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามระเบียบ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด โดยอาจนำหลักเกณฑ์ และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาใช้บังคับ โดยอนุโลม
เมื่อได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง โดยให้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งแต่ละจังหวัดเป็นผู้ได้ รับเลือกเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญของจังหวัดนั้น
มาตรา 291/6 ให้สภาของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง คัดเลือกบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติที่จะเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291/1 (2) ในประเภทต่างๆ ตามมาตรา 291/1 (2) (ก) (ข) และ (ค) ประเภทละไม่เกิน 3 คน โดยจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อของแต่ละประเภท พร้อมทั้งรายละเอียดตามที่ประธานรัฐสภากำหนด และส่งให้ประธานรัฐสภาภายใน 15 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดวันรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291/1 (1)
ให้ประธานรัฐสภาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 15 คน ซึ่งมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 9 คน และสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 6 คน เพื่อดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐ ธรรมนูญตามวรรคหนึ่ง ให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน แล้วส่งผลการตรวจสอบให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับผลการตรวจสอบดังกล่าว เพื่อให้รัฐสภาลงมติคัดเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐ ธรรมนูญ
ในการคัดเลือกผู้สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐ ธรรมนูญตามวรรคสอง ให้เลือกจากบัญชีรายชื่อที่ส่งต่อประธานรัฐสภาตามวรรคหนึ่งและได้ผ่านการ ตรวจสอบคุณสมบัติตามวรรคสอง ตามจำนวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291/1 (2) การลงคะแนนดังกล่าวให้กระทำเป็นการลับ
ให้ประธานรัฐสภาประกาศรายชื่อผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291/1 (1) และ (2) ในราชกิจจานุเบกษา
มาตรา 291/7 ในกรณีที่รัฐสภาจะต้องดำเนินการใดตามหมวดนี้ในระหว่างปิดสมัยประชุมรัฐสภา ให้ประธานรัฐสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการเรียกประชุมรัฐสภา เป็นการประชุมสมัยวิสามัญ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่ถ้าอายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร และมีกรณีที่รัฐสภาจะต้องดำเนินการใดภายในระยะเวลาที่กำหนดตามหมวดนี้ มิให้นับระยะเวลาตั้งแต่วันที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร แล้วแต่กรณี จนถึงวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกภายหลังจากมีพระบรมราชโองการโปรด เกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร รวมเข้าในระยะเวลาที่รัฐสภาจะต้องดำเนินการ
มาตรา 291/8 สมาชิกภาพของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291/1 (1) และ (2) เริ่มตั้งแต่วันเลือกตั้ง หรือวันที่รัฐสภามีมติแล้วแต่กรณี
สมาชิกภาพของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291/1 (1) หรือ (2) สิ้นสุดลง เมื่อ
(1) สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงตามมาตรา 291/16
(2) ตาย
(3) ลาออก
(4) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา 291/2 หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 291/3 แล้วแต่กรณี
เมื่อ ตำแหน่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291/1 (1) หรือ (2) ว่างลง เพราะเหตุอื่นใดนอกจากถึงคราวออกตามมาตรา 291/16 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือรัฐสภาดำเนินการเลือกตั้ง หรือคัดเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ภายในกำหนดเวลา 30 วัน เว้นแต่ระยะเวลาการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291/11 จะเหลือไม่ถึง 90 วัน
ในกรณีที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 291/1 (1) ว่างลง และไม่มีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งรายอื่นในบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือก ตั้งของจังหวัดนั้นแล้ว หรือในกรณีที่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291/1 (2) (ก) (ข) หรือ (ค) ประเภทใดประเภทหนึ่งว่างลง และไม่มีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีประสบการณ์ตามบัญชีรายชื่อในประเภทที่ว่างลงนั้นแล้ว ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไปโดยไม่ต้องดำเนินการเลือกตั้ง หรือคัดเลือกแทนตำแหน่งที่ว่างนั้น แต่ทั้งนี้สภาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องมีจำนวนสมาชิกเหลืออยู่ไม่น้อยกว่ากึ่ง หนึ่งของจำนวนสมาชิกตามมาตรา 291/1 (1) และ (2)
มาตรา 291/9 สภาร่างรัฐธรรมนูญ มีประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ 1 คน และรองประธานค 1 หรือ 2 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกแห่งสภาร่างรัฐธรรมนูญตามมติของสภา ร่างรัฐธรรมนูญ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ประธาน สภาร่างรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของสภาร่างรัฐธรรมนูญตามหมวด นี้ รองประธานมีอำนาจหน้าที่ตามที่ประธานมอบหมาย และปฏิบัติหน้าที่แทนประธานเมื่อประธานไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
เมื่อประธานและรองประธานไม่อยู่ในที่ประชุม ให้สมาชิกแห่งสภาร่างรัฐธรรมนูญเลือกตั้งกันขึ้นเองเป็นประธานในคราวประชุมนั้น
มาตรา 291/10 เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของประธานและรองประธานสภาร่าง รัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมาธิการที่สภาร่างรัฐธรรมนูญแต่งตั้ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
มาตรา 291/11 สภาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 180 วัน นับแต่วันถัดจากวันประกาศรายชื่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญนั้น สภาร่างรัฐธรรมนูญอาจนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งที่เห็นว่ามีความเป็น ประชาธิปไตยสูงมาเป็นต้นแบบในการยกร่างก็ได้
การที่สภาผู้แทนราษฎร สิ้นอายุ หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นเหตุกระทบกระเทือนการปฏิบัติหน้าที่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญตามวรรค หนึ่ง
ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในทั่วทุกภูมิภาคด้วย
ร่าง รัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐจะกระทำมิได้
ในกรณีที่รัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะตามวรรคห้า ให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป
มาตรา 291/12 วิธีพิจารณาและจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ การประชุม การลงมติ การแต่งตั้งกรรมาธิการและการดำเนินการของกรรมาธิการ การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย และกิจการอื่นเพื่อดำเนินการตามบทบัญญัติของหมวดนี้ ให้ใช้ข้อบังคับการประชุมของรัฐสภาโดยอนุโลม
ให้นำบทบัญญัติมาตรา 126 วรรคหนึ่งถึงวรรคสี่ มาใช้กับการประชุมของสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม เอกสิทธิ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 130 และความคุ้มกันที่บัญญัติไว้ในมาตรา 131 ให้นำมาใช้บังคับกับการประชุมของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและกรรมาธิการ โดยอนุโลม
มาตรา 291/13 เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้วให้นำเสนอต่อรัฐสภา
เมื่อ ประธานรัฐสภาได้รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รัฐสภาได้รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงลงประชามติของ ประชาชนว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญนั้นหรือไม่
ให้คณะกรรมการการ เลือกตั้งประกาศกำหนดวันออกเสียงประชามติภายในไม่เกิน 60 วัน แต่ไม่น้อยกว่า 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากรัฐสภา วันออกเสียงประชามติให้กำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการในการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วย การนั้นเท่าที่ไม่ขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้
ให้คณะกรรมการการ เลือกตั้งประกาศรับรองผลการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันออกเสียงประชามติ หากคะแนนการออกเสียงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการตามมาตรา 291/14 ต่อไป แต่หากคะแนนการออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป
ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรง เห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้นกำหนด 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป
มาตรา 291/14 เมื่อมีประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
มาตรา 291/15 สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) สภาร่างรัฐธรรมนูญมีจำนวนสมาชิกเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 291/8 วรรคสี่
(2) สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 291/11 วรรคหนึ่ง
(3) เมื่อร่างรัฐธรรมนูญได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(4) เมื่อร่างรัฐธรรมนูญตกไปตามมาตรา 291/11 วรรคหก มาตรา 291/13 วรรคสี่หรือวรรคห้า
ใน กรณีที่สภาร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง (2) ให้ดำเนินการจัดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ตามหมวดนี้ ภายใน 90 วันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาตามมาตรา 291/11 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ บุคคลผู้ที่เคยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดเดิมจะเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐ ธรรมนูญอีกไม่ได้
มาตรา 291/16 ถ้าร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นตามหมวดนี้ตกไป คณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภามีมติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับ ใหม่ตามความในหมวดนี้อีกได้ การออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบของรัฐสภาให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณ
เมื่อรัฐสภามีมติอย่างหนึ่งอย่างใดตามวรรคหนึ่งแล้ว จะมีการเสนอญัตติตามวรรคหนึ่งอีกไม่ได้ เว้นแต่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่
มาตรา 5 ในวาระเริ่มแรก ให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการรับสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐ ธรรมนูญภายใน 30 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และให้ดำเนินการตามมาตรา 291/5 ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ประธานรัฐสภา
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น