สัมภาษณ์ "ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประเด็นเรื่องการรับ"ก้านธูป" เข้าเรียนใน มธ. ซึ่งเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้
ทำไม มธ. ถึงรับ "ก้านธูป" ให้มาศึกษา ในขณะที่ มศก. และมก. ต่างปฎิเสธที่จะรับเธอเข้าเรียน
ไม่เห็นมีกฎข้อบังคับใดของมหาวิทยาลัยบอกว่า นักศึกษา มธ. ต้องเคารพชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถ้าหากมีกฎข้อนี้จริง หมายความว่า มธ. ต้องตรวจสอบว่านักศึกษาคนนี้รักชาติ รักศาสนาหรือเปล่า นับถือศาสนาไหม คำถามเหล่านี้จะเกิดทันที ไม่ใช่แต่เฉพาะก้านธูปคนเดียว ผมจึงสงสัยคนที่มาโพสต์ถามผมในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการรับก้านธูปมาเรียนที่ มธ. ว่า ทำไมถึงตั้งโจทย์กับก้านธูปคนเดียว ไม่ตั้งโจทย์นี้กับนักศึกษาอื่นเลย เพราะใน มธ. ก็มีนักศึกษาอีกมากที่ไปขึ้นเวทีชุมนุมต่างๆ ทั้งเหลืองทั้งแดง ทำไมต้องเป็นก้านธูป นี่คือคำถามของผม
ต่อมาคือสิ่งที่ก้านธูปทำผมไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ แล้วจะมาอ้างว่าก็ให้อธิการบดีไปตรวจสอบแล้วทำไมไม่ตรวจสอบ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าอธิการบดีมีเรื่องมากมายที่ต้องทำ นักศึกษา 1 ใน 35,000 คนของมธ. ถือว่าเล็กมาก ที่สำคัญคือสิ่งที่คนพูดว่าก้านธูปโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทนั้นเกิดขึ้นก่อนที่เธอจะเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ และสิ่งสุดท้ายคือ เราไม่ควรไล่ล่าแม่มดเพราะเราไม่รู้ว่าเขาเป็นแม่มดจริงหรือเปล่า แล้วแม้เธอจะเป็นแม่มดจริงแต่แม่มดก็สามารถอยู่ในสังคมไหนก็ได้ ตัวอย่างเรื่องแวมไพร์ ทไวไลท์ แวมไพร์ยังอยู่กับคนได้เลย"
อาจารย์มองว่านักศึกษาควรได้รับโอกาสในการศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้
ผมอยากยกตัวอย่างว่า ถ้าเข้าใจสังคมไทย ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มีนักศึกษาที่รักชาติ รักประชาชนส่วนหนึ่งไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ ทั้งเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ธีรยุทธ บุญมี และอีกมากมาย แต่ทุกวันนี้คนเหล่านี้คือคนชั้นยอดของประเทศ พวกเขาอาจจะหลงทิศผิดทางไปบางช่วงแต่ก็กลับมาเมื่อสังคมเปิดโอกาสให้กลับมา เมื่อเทียบก้านธูปกับนักศึกษาที่เข้าร่วมกลุ่ม พคท. เมื่อหลายปีก่อน เราในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นอธิการบดี เป็นคนมธ. ถ้าเด็กมีความรู้ ความสามารถสอบเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้เธอก็ต้องได้รับการศึกษาจาก มธ. สิ่งที่เธอทำก่อนมาเข้าศึกษาใน มธ. เป็นสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครแจ้งความจับ มีเพียงแต่บอกทำผิดกฎหมาย ซึ่งกฎ ข้อบังคับของ มธ. ระบุชัดว่า หากนักศึกษาผู้ใดต้องโทษหรือมีคำพิพากษาที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ทำผิดลหุโทษ หรือทำความผิดโดยประมาท ถือว่าผิดร้ายแรงถึงมีคำสั่งให้ไล่ออก ดังนั้นผมจะไล่ก้านธูปได้ก็ต่อเมื่อมีคำพิพากษาที่สุดให้จำคุก ต่อให้ถูกแจ้งความวันนี้ผมก็ไล่เขาออกไม่ได้ เพราะฉะนั้นผมขอร้องว่าอย่าไล่คนให้ไปจนตรอก ผมคิดว่าคนแต่ละคนก็มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน ที่ผมคิดก็คือก้านธูปเป็นเด็กที่มีความคิดหัวรุนแรง
ถ้าอาจารย์มองว่า ก้านธูปมีแนวคิดที่รุนแรงทางคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์หรือทางมหาวิทยาลัยเอง จะทำอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้
วันที่เธอเข้ามามธ. คณะสังคมสงเคราะห์ฯ ก็รู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว ทางคณะสังคมสงเคราะห์ฯ เองก็สอบสัมภาษณ์เธอถึงสองครั้ง นอกจากนี้คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ฯ ก็นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณบดีทุกคณะพร้อมกับก้านธูปด้วย วันที่ประชุมก็ไม่มีคณบดีคนใดรู้ว่า ก้านธูปกำลังถูกกล่าวหาจากสังคมออนไลน์ว่าโพสต์ข้อความหมิ่นสถาบันเบื้องสูง มีแต่คนรู้ว่าเธอขึ้นเวทีเสื้อแดง ผมขอเรียนว่าถ้าหากอยากให้ผมลงโทษเธอก็ต้องเอาข้อเท็จจริงตามที่เธอถูกกล่าวหามาให้ผม จะได้ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย แล้วคนที่ร้องขอให้มีการสอบสวนเธอทางวินัยจะต้องรับผิดชอบด้วยถ้าเธอไม่ผิดจริงตามข้อกล่าวหานั้น มีแต่คนกดดันอธิการบดี มธ. ให้ลงโทษ คนกดดันไม่ต้องรับผิดชอบอะไรแต่อธิการบดีต้องรับผิดชอบ
ทั้งนี้ประเด็นไม่ใช่ว่าผมกลัวถูกฟ้องเลยไม่กล้าจัดการในสิ่งที่ควรกระทำ แต่ผมคิดในเชิงให้โอกาสคน เด็กอายุ 18-19 อย่างก้านธูปอาจจะได้รับข้อมูลชุดหนึ่งมา เธอก็คิดไปอย่างที่สื่อเหล่านั้นบอก ถ้าใช้เหตุผลเรื่องการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างในการไล่เธอออกจาก มธ. แบบนี้คงต้องไล่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนออกจากสภาเพราะไปแสดงความเห็นทางการเมืองบนเวทีเสื้อแดง ผมบอกเลยนะว่านักศึกษา มธ. ส่วนใหญ่ไม่ใช่เสื้อแดง ก้านธูปมาเรียนหนังสือก็ต้องเจอเพื่อน เจอการกดดันจากหลายสิ่งหลายอย่าง มีคนบอกว่าวันรับเพื่อนใหม่เธอไม่ยืนตอนเพลงสรรเสริญพระบารมี แต่สุดท้ายแล้วเธอก็ต้องยืน ไม่รู้ว่าเหตุการณ์จริงเป็นแบบที่นักศึกษาคนอื่นเล่ามาไหม แต่ถ้าเป็นเรื่องจริงทำไมก้านธูปต้องลุก เขาอยากนั่งก็นั่งได้
ย้อนไปว่าทำไมต้องมีการประชุมคณบดีทั้งมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการรับก้านธูปเข้ามาเรียนใน มธ. กรณีการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจึงสำคัญขนาดที่ต้องเรียกประชุมใหญ่
เนื่องจากมีคนร้องเรียนมาทั้งคนในและคนนอกมหาวิทยาลัย เราก็ต้องเคลียร์ประเด็นนี้ให้ชัดเจน
อธิการบดี มธ. ไม่กลัวถูกกล่าวหาหรือ ในการรับก้านธูปเข้ามาเรียนใน มธ.
ไม่กลัวครับ จะกลัวอะไร เพราะถ้าผมจะจัดการก็คงต้องจัดการกับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล วรเจตน์ ภาคีรัตน์หรือปิยบุตร แสงกนกกุล ต้องจัดการไม่รู้กี่คนเพียงเพราะพวกเขาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเขาที่แตกต่างกัน ไม่ใช่เฉพาะแค่กรณีก้านธูปหรือคนที่มีความเห็นต่างทางการเมืองคนอื่น ๆ แม้แต่นักศึกษา มธ. นาย ก. ไปฆ่านาย ข. ตาย แต่ศาลยังพิพากษาอยู่เขาก็ต้องได้เรียนหนังสือในมธ. ต่อไปจนกว่าจะถูกตัดสินจำคุกโดยไม่รอลงอาญา"
มีกรณีที่ก้านธูปซึ่งขณะนี้เป็นนักศึกษา มธ. ถูกสังคมออนไลน์นำข้อมูลส่วนตัวมาเปิดเผยในที่สาธารณะชน สื่ิอสำนักหนึ่งลงบทความเกี่ยวกับก้านธูปในกรณีเรื่องการตั้งคำถามกับ มธ. ที่รับเธอเข้ามาศึกษา ในฐานะที่เป็นอธิการบดี มธ. จะออกหนังสือมาชี้แจงหรือตอบโต้สื่อดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร
ไม่ครับ อธิการบดีไม่ว่างขนาดนั้น น้ำท่วมเสียหาย 2,800 ล้านบาท ผมมีเรื่องใหญ่ที่ต้องคิดเยอะ มีเรื่องที่ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้อาจารย์ มธ. ทำวิจัย เพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกให้ได้ เรื่องก้านธูปนี้คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ฯ รับเรื่องและเป็นที่ปรึกษาให้เธอด้วย ปกติคณบดีไม่รับเป็นที่ปรึกษาให้แก่นักศึกษาหรอก เรื่องนี้มีคนดูแลเยอะครับ มีคนจับจ้องก้านธูปเยอะไม่ต้องห่วงอะไร ผมขอย้ำว่าถ้าก้านธูปทำอะไรผิดในมธ. ผมก็ต้องจัดการ ซึ่งผมเองก็ไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของก้านธูปตามข้อกล่าวหา เพราะฉะนั้นอย่าบอกว่าผมช่วยเหลือก้านธูปเพราะผมเป็นพวกเดียวกับก้านธูป เรื่องก้านธูปผมก็สนใจเลยเอาเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณบดีซึ่งในที่ประชุมก็มีการพูดคุยกันว่าจะรับหรือไม่ คณบดีส่วนใหญ่ก็หนุนว่าควรรับทั้งนั้น"
การรับก้านธูปเข้ามาเรียนใน มธ.เพื่อลดกระแสต่อต้านจากคนที่เห็นต่างกับอาจารย์ในเรื่องความคิดทางการเมืองหรือไม่
ไม่เคยคิดเลย เรารับก้านธูปเพราะเธอสอบได้ก็ต้องได้เรียน ซึ่งถ้าทำแบบนั้นเพื่อให้รัฐบาลเสื้อแดงพอใจมธ. ผมคงต้องรับเด็กเสื้อแดงมาอีกสักร้อยคนซึ่งผมไม่ทำแบบนั้นหรอก ในทางกลับก็เช่นเดียวกันเพราะธรรมศาสตร์ไม่ได้แยกคนที่สีเสื้อ แต่เราแยกคนด้วยความรู้ความสามารถ ด้วยตัวตนของเด็กคนนั้นเอง ไม่ว่าคุณจะเสื้อสีใดพอเข้ามาคุณคือธรรมศาสตร์ ถึงคุณเป็นสีแดงคุณก็ต้องเคารพว่ามีสีอื่นในสังคมไทยและสังคมธรรมศาสตร์ด้วย คุณเป็นสีเหลืองก็ต้องเคารพว่ามีสีแดง ก็ต้องปรับตัวอยู่ในสังคมไทยให้ได้ ธรรมศาสตร์พยายามจะทำให้สังคมภายนอกเห็นว่าเป็นสังคมที่ดีที่แม้จะคนละสีเสื้อก็อยู่ร่วมกันได้ เราไม่ควรไล่ล่าแม่มดกัน"
การที่ให้คณบดีเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา การยื่นวาระเรื่องก้านธูปในที่ประชุมคณบดีทุกคณะใน มธ. เป็นการสะท้อนว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมืองเป็นปัญหาของสังคม มธ. หรือไม่
ผมเรียนว่ามีคนมาชมผมในเฟซบุ๊กจำนวนมากว่าอธิการบดีมีพฤติกรรมที่น่ายกย่องเรื่องเดียวก็คือ การรับก้านธูปมาศึกษาใน มธ. ในฐานะอธิการบดีมธ. เราวางตัวว่าเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงจะด่าผมไม่สนใจเพราะผมยังยึดหลักการของธรรมศาสตร์ว่าธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ธรรมศาสตร์สอนให้คนรักประชาชน ธรรมศาสตร์สามารถพูดอะไรก็ได้แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ไม่ใช่แค่ก้านธูป นิติราษฎร์เองผมก็เคยไปเตือนตอนที่จัดงานแถลงข่าวต่าง ๆ ของกลุ่มนี้ จัดได้งานเสวนาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหามาตรา 112 แต่เมื่อไรที่จัดแล้วไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นผมต้องจัดการ ผมต้องมีมาตรการผม ผมให้คนมาใช้เวทีของมธ. เพื่อด่าหรือละเมิดสิทธิคนอื่นไม่ได้ อันนี้เป็นหลักการที่สำคัญของธรรมศาสตร์
อาจารย์มองกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างไร มีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายข้อนี้เหมือนคนในสังคมอีกกลุ่มอีกกำลังตะโกนบอกหรือไม่
มาตรา 112 คือเรื่องดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ รัชทายาท ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีมานานในสังคมไทยอย่างน้อยก็ปรากฎหลักฐานในสมัยรัตนโกสินทร์ และไม่ใช่มีเฉพาะสังคมไทยเท่านั้นในต่างประเทศก็มี มาตรานี้เป็นมาตราคุ้มครองประมุขของประเทศไม่ว่าประมุขนั้นจะเป็นกษัตริย์ ประธานาธิบดี หรือรูปแบบใดก็ตาม ทุกประเทศมีกฎหมายอาญามาตรานี้เพราะการดูหมิ่น หมิ่นประมาทประมุขของประเทศก็เหมือนไปหมิ่นประมาทคนอื่นๆ ทั่วไป
สำหรับมาตรา 112 นั้นมีปัญหามาตลอดในสายตาของนักวิชาการ ไม่ได้มีปัญหาที่ตัวบทมาตรา แต่มีปัญหาที่การตีความกฎหมาย การบังคับใช้ซึ่งคนที่บังคับใช้ก็คือตำรวจ ศาล ในหลักทางกฎหมายอาญาความผิดดูที่เจตนา ถ้าไม่มีเจตนาไม่ต้องรับผิด โดยโครงสร้างของกฎหมายไทยเกี่ยวกับคดีดูหมิ่น หมิ่นประมาทแบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ
1. ดูหมิ่นซึ่งหน้าโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน 2. หมิ่นประมาท โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี โดยศาลจะดูจากเจตนา ซึ่งสำหรับพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 คือ 3-15 ปี ที่ผ่านมาการพิจารณาของศาลและแนวของการบังคับคดีต่างๆ ของศาลไปในทิศทางที่ไม่เอาเจตนามาดู
นี่คือปัญหาใหญ่ของมาตรา 112 ซึ่งเป็นปัญหาทางการบังคับใช้ ในทางกฎหมายนักกฎหมายพูดกันว่า มีบุคคลโดนมาตรา 112 หลายคดีที่ไม่ควรถูกรับโทษเพราะศาลไม่เอาเจตนามาจับในบางกรณี เช่น สนธิ ลิ้มทองกุลเอาคำพูดของดา ตอร์ปิโดมาพูดบนเวทีเพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์นั้นถือว่าไม่มีเจตนาจะดูหมิ่น ไม่ควรถูกรับโทษ หากมีคนแจ้งความจับสนธิและตำรวจตีความอย่างที่ผมบอก เขาก็ไม่รับแจ้งความ อัยการต้องไม่ฟ้องศาล ศาลต้องไม่ตัดสินให้สนธิต้องรับผิดชอบเพราะเป็นการกระทำที่ขาดเจตนา รวมถึงกลุ่มคนต่างๆ นานาที่วิพากษ์วิจารณ์เพื่อปกป้องสถาบันเหล่านี้ไม่ควรถูกรับโทษตามมาตรา 112 แต่หากบอกว่าพูดอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าพูดถือว่าหมิ่นประมาทหมด ก็แสดงว่าศาลไม่ได้ใช้เจตนามาใช้บังคับคดีกฎหมายอาญาเพราะหลักการสำคัญของกฎหมายอาญาต้องดูเจตนาเสมอ
อีกเรื่องที่เป็นปัญหาสำหรับกฎหมายอาญามาตรานี้คือ โทษ โดยกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป ถ้าเป็นหมิ่นซึ่งหน้า ลงโทษจำเลยไม่เกินหกเดือน หากเป็นนาย ก ดูหมิ่น นาย ข หรือเจ้าพนักงานไม่เกินหนึ่งปี ถ้าเทียบกับบทลงโทษของกฎหมายอาญามาตรา 112 สำหรับผมบทลงโทษของมาตรานี้ โทษมันหนักเกินไป"
"นิธิ เอียวศรีวงศ์" เขียนไว้ในบทความว่า กฎหมายอาญามาตรานี้มุ่งผลประโยชน์ต่อประมุขของรัฐ ในแง่ที่กระทบถึงความมั่นคงของรัฐแล้วอาจส่งผลให้เกิดการกบฎในราชอาณาจักร แต่จำเลยที่ถูกพิพากษาตามมาตรานี้ส่วนใหญ่ไม่ได้มีพลังมากพอที่จะสามารถพูดหรือเขียนอะไรที่ถึงขั้นกระทบประมุขแห่งรัฐจนอาจทำให้เกิดการกบฎในราชอาณาจักรได้ อาจารย์มองแนวคิดของ "นิธิ เอียวศรีวงศ์" อย่างไร
ไม่ครับ นิธิอาจจะตีความกฎหมายกว้าง แต่เวลาเราดูว่ากฎหมายมุ่งประสงค์สิ่งใดบ้าง พุ่งไปที่อนาคต แต่กฎหมายมาตรา 112 ที่เขียนแบบนี้จากอดีตจนถึงปัจจุบันเขาหมายความถึงตัวบุคคล ไม่ได้หมายถึงในแง่ของพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงตัวบุคคลที่เป็นพระมหากษัตริย์ด้วย กฎหมายนี้ก็เหมือนกับกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไป อย่างถ้ามีคนมาด่าผมก็เหมือนกับด่านายสมคิดด้วย ด่าอธิการบดี มธ. ด้วย ดังนั้นประเด็นสำคัญของปัญหาอาญามาตรานี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวบทแต่อยู่ที่การตีความในการบังคับใช้กฎหมายเพราะตีความกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยที่ไม่ได้เอาเจตนาเป็นที่ตั้ง"
กลุ่มอาจารย์-นักวิชาการของชาญวิทย์ เกษตรศิริ" ก็ออกมาบอกว่า ควรจะตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการฟ้องร้องกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยอาจเป็นตัวแทนจากภาคประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือววุฒิสภา อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร
ทำไม่ได้ ในทางกฎหมายไม่มีการให้ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองก่อนการฟ้องร้องใด ๆ มีแต่ ตำรวจ อัยการ ศาล เท่านั้นที่มีอำนาจดังกล่าว"
แล้วข้อเสนอของ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มอบแผนการแก้ไขปัญหากฎหมายอาญามาตรา 112 กับรัฐบาล ด้วยการให้ราชเลขาธิการเป็นคนดำเนินการฟ้องตามกฎหมายดังกล่าว อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร
ยิ่งไม่ได้ใหญ่เลยเพราะในสำนักราชวังไม่ควรยุ่งเกี่ยวในกระบวนการยุติธรรม การให้ราชเลขาธิการหรือสำนักราชวังเป็นผู้ฟ้องร้องเสียเองยิ่งทำให้สถาบันกษัตริย์เกี่ยวข้องกับการเมือง เรื่องนี้เป็นเรื่องรัฐ เป็นประมุขของรัฐ เช่นการที่ให้สำนักราชวังมาเป็นผู้ฟ้องเอง อาจจะเกิดการตั้งคำถามจากสังคมว่า ทำไมสำนักราชวังจึงฟ้องคนนี้ ไม่ฟ้องคนนั้น ทำไมไปฟ้องราษฎร ผมมองว่าไม่ควรให้ราชเลขาธิการเป็นผู้ดำเนินการฟ้องร้อง
โดยส่วนตัวผมไม่ได้ครุ่นคิดว่า จะแก้ไขกฎหมายอาญามาตรานี้อย่างไรเพราะผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายอาญา คนที่จะนำประเด็นนี้ไปปรับแก้ไขอาจจะเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ หรือแม้แต่ที่นิติราษฎร์ทำอยู่ สำคัญก็คือ กลุ่มคนที่เรียกร้องหรือเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตราดังกล่าวจะต้องตอบสังคมให้ได้ว่า แก้ไปทำไม แก้ไขแล้วจะได้อะไรแก่สังคม ต้องตอบโจทย์ว่า ทำไมโทษหมิ่นประมาทสมเด็จพระราชินีและองค์รัชทายาทโทษจะต้องเท่ากับบุคคลธรรมดาคือไม่เกินหนึ่งปีด้วย"
กฎหมายอาญามาตรา 112 ก็เหมือนกับกฎหมายทั่วไปสามารถแก้ไขหรือคุยกันในวงเสวนาทางวิชาการต่าง ๆ ได้อยู่แล้ว "คนที่เสนอให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่คนหมิ่นพระมหากษัตริย์ สังคมคงไม่บอกว่าอดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุนหมิ่นพระมหากษัตริย์" คนที่อยากให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตราดังกล่าวหวังดีต่อพระมหากษัตริย์ก็มีตั้งเยอะ เรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเรื่องที่คนพูดเรื่องเดียวกันแต่คิดไม่เหมือนกัน คนที่อยากแก้ไขกฎหมายมาตรานี้จะต้องหาเหตุผลมาอธิบายสังคมให้ชัดเจนให้ได้ว่า ทำไมจึงต้องแก้ ส่วนตัวแล้วไม่ได้คิดว่าจะเป็นคนนำในการแก้ไขกฎหมายนี้เพราะเป็นนักกฎหมายมหาชนไม่ใช่นักกฎหมายอาญา อีกทั้งการเป็นอธิการบดี มธ. ก็มีเรื่องให้คิด แก้ปัญหาอยู่อีกมากมาย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น