พลโทเร็ตต์ เอ. เฮอร์นันเดซ ผู้บัญชาการกองบัญชาการไซเบอร์ (อาร์กไซเบอร์) ในสังกัดกระทรวงกลาโหม แห่งสหรัฐอเมริกา เปิดเผยในระหว่างการประชุมว่าด้วยการกลาโหมในโลกไซเบอร์ ที่กรุงลอนดอน เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า อาร์กไซเบอร์ กำลังเตรียมเกณฑ์สมาชิกจำนวนมาก ให้ได้ราว 10,000 นาย เพื่อให้ทำหน้าที่เป็น "นักรบไซเบอร์ระดับเวิลด์คลาส" ที่จะใช้โลกไซเบอร์เป็นสมรภูมิในการปฏิบัติหน้าที่
พลโทเฮอร์นันเดซระบุว่า ไซเบอร์สเปซซึ่งมีอิทธิพลและเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคดิจิตอล มีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นและมีภัยคุกคามที่ไม่เพียงวิวัฒนาการไปหลาก หลายมากขึ้นเท่านั้น ยังก้าวหน้าทันสมัยไฮเทคมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย การรับสมัครดังกล่าวนี้ ทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐ พร้อมที่จะผ่อนคลายกฎเกณฑ์ปกติของตนเองหลายต่อหลายอย่าง อาทิ ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องตัดผมสั้นเกรียน มีร่างกายแข็งแรง หรือวิ่งได้เป็นหลายๆ กิโลเมตร ตรงกันข้ามจะผมยาวเฟื้อยหรือไม่ต้องวิ่งเร็ว อึดมากมายก็ได้ แต่จำเป็นต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ และความสามารถอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์เพื่อการใช้งานในไซเบอร์สเปซระดับสุดยอด ต้องเป็นมืออาชีพที่วางใจได้ มีวินัยและมีความแหลมคมในการทำหน้าที่ตามศักยภาพของตนเอง ผู้ที่ผ่านเกณฑ์จะได้รับการฝึกให้รับมือกับสถานการณ์ท้าทายในโลกไซเบอร์ที่ คุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยต่อประเทศชาติ อย่างเช่นการโจมตีต่อระบบควบคุมดูแลสาธารณูปโภคของสหรัฐอเมริกา อย่างเช่นการไฟฟ้าและการประปาที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม และสามารถเจาะเข้าสู่ระบบได้ด้วยช่องโหว่เท่าที่มีอยู่ นอกเหนือจากนั้นก็ต้องฝึกรับมือการโจมตีจาก "นักรบไซเบอร์" ชาติอื่นๆ ที่มีต่อระบบคอมพิวเตอร์ของสถาบันการเงินหรือตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา เป็นอาทิ
เซอร์ จอห์น สกาเล็ตต์ ประธานอำนวยการ เบล็ตซลีย์ ปาร์ก ทรัสต์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบความมั่นคงในโลกไซเบอร์ของอังกฤษ เปิดเผยไว้ในที่ประชุมเดียวกันว่า ประเด็นปัญหาในการสื่อสารผ่านโลกไซเบอร์ในยุคปัจจุบัน ไม่ได้เป็นปัญหาในส่วนตัวบุคคลหรือเอกชนแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่กำลังเป็นปัญหาระหว่างรัฐกับรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ
"นอกจากเราต้องเป็นกังวลกับอาชญากรรมในโลกไซเบอร์ เรายังต้องกังวลกับการก่อการร้ายผ่านไซเบอร์สเปซ ต้องกังวลกับการดำเนินการของรัฐบางรัฐ ต้องรับมือกับสิ่งที่เรียกว่า แฮกติวิสต์..นักเจาะระบบที่เคลื่อนไหวโจมตีเพื่อผลประโยชน์ของรัฐใดรัฐหนึ่ง หรือเพื่อเป้าหมายทางการเมืองอื่นๆ" เซอร์ จอห์นระบุ
จอห์น บัมการ์เนอร์ ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยรับมือผลกระทบทางไซเบอร์แห่งสหรัฐอเมริกา (ยูเอส ซีซียู) ระบุว่า นอกจากประเด็นต่างๆ เหล่านั้นแล้ว ตนยังเชื่อว่า โลกไซเบอร์ในเวลานี้ต้องการกองกำลังแบบที่เรียกว่า "กองกำลังรักษาสันติภาพในไซเบอร์สเปซ" อีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น