วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

"สส.จารุพรรณ" หนึ่งเดียวในเอเซีย กระทบไหล่ "ฮิลลารี คลินตัน"



โลกยุคปัจจุบันผู้หญิงเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมทางด้านต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะบทบาททางการเมืองที่ผู้นำของหลายประเทศเป็นผู้หญิง แสดงให้เห็นว่าสังคมยอมรับและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้ามากขึ้น

ล่าสุดมีโครงการที่ชื่อว่า "The woman in Public service project" ที่ นางฮิลลารี คลินตัน รมว.ต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาตั้งขึ้น โดยมีเป้าหมายให้ภายในปีค.ศ.2050 เป็นปีที่มีผู้หญิงเข้ามาทำงานเพื่อสาธารณะไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 โดยสถานทูตสหรัฐอเมริกาคัดเลือกผู้หญิงจากทั่วโลกเหลือเพียง 200 คน เพื่อเข้าร่วม ประชุมและดำเนินกิจกรรมกับโครงการดังกล่าว

การสัมมนาจัดขึ้น 3 วัน ระหว่างวันที่ 15-17 ธ.ค.2554 ผู้ร่วมประชุมได้เดินทางไปเยี่ยมรัฐต่างๆ ของสหรัฐทั้งหมด 7 รัฐ โดยมีมหาวิทยาลัย 7 แห่งเข้าร่วมด้วย

หญิงไทยเพียง 1 เดียวที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนี้ คือ น.ส.จารุพรรณ กุลดิลก หรือ อาจารย์จา ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เคยรับราช การเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างปีพ.ศ.2546-2552 โดยมีตำแหน่งทางวิชาการสูงสุดเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์

นอกจากนั้นแล้วยังได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้บริหารในตำแหน่งผู้ช่วยคณบดี ระหว่างปีพ.ศ.2547-2549 และเป็นรองคณบดีในปีพ.ศ.2549-2551

ต่อมาลาออกจากราชการเพื่อเข้าสู่งานการเมืองโดยร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย

ภายหลังเดินทางกลับจากการเข้าร่วมประชุม น.ส.จารุพรรณ หรือ อาจารย์จา เล่าให้ฟังว่า โครงการ The Woman in Public Service Project เป็นโครงการที่กระ ทรวงการต่างประเทศสหรัฐมอบหมายให้สถานทูตต่างๆ ทั่วโลกคัดเลือกผู้หญิงที่ทำงานเพื่อสาธารณะ ประเทศละ 1 คน ซึ่งรวบรวมได้ทั้งหมด 200 คน จากนั้นนางฮิลลารีคัดเลือกจนเหลือ 50 คน เพื่อบุกเบิกโครงการ โดยทีมงานของนางฮิลลารีติดต่อมาว่าเราได้รับคัดเลือกแล้ว จะได้รับทุนของสหรัฐไปร่วมเวิร์กช็อปและร่วมประชุมที่วอชิงตันดีซี สหรัฐ



ในการประชุมนี้อาจารย์จาเป็นผู้หญิงเอเชียคนเดียวที่ได้ขึ้นพูดแสดงความคิดเห็นในมุมมองต่างๆ ร่วมกับผู้หญิงที่ทำงานการเมืองและสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงระดับโลก อาทิ นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐ นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการ ไอเอ็มเอฟ และ นางเมเดลีน อัลไบรต์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ รวมถึงสมาชิกรัฐสภา นักคิด นักเขียน

"เป็นเกียรติอย่างยิ่ง เพราะเป็นรุ่นแรกที่ได้รับคัดเลือกมาเพื่อเป็นแกนกลางที่จะทำงานพัฒนาคุณภาพของผู้หญิงในระดับโลกต่อไป

ตอนขึ้นพูดบนเวทีตื่นเต้นมาก เพราะไม่คาดคิดว่าจะได้ใกล้ชิดบุคคลสำคัญระดับโลกขนาดนี้ นั่งข้างๆ นางเมเดลีน (อัลไบรต์) และประธานาธิบดีหญิงของโคโซโว ภูมิใจที่ได้แลก เปลี่ยนความเห็นว่าเรามองโลกในอนาคตอย่างไร และมองว่าบทบาทของผู้หญิงจะช่วยพัฒนา ประชาคมโลกให้ดีขึ้นได้อย่างไรก็ดีใจ" ส.ส.หญิงกล่าว

เมื่อถึงช่วงพูดบนเวทีที่มีผู้ร่วมประชุมกว่า 900 คน อาจารย์จาเล่าว่า ได้แสดงทัศนะบนเวทีว่าเนื่องจากประเทศไทยผ่านวิกฤตมากมาย เราเผชิญความยากจนมาก เราต้องการใครก็ได้ไม่ว่าจะทั้งผู้หญิงหรือผู้ชายให้เข้ามาแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นผู้หญิงถูกยอมรับถูกมองเห็นในฐานะของมนุษย์ที่ผ่านวิกฤตมากมาย เราไม่อยากให้ประเทศอื่นต้องผ่านวิกฤตแบบนี้

ดังนั้น หนทางหนึ่งที่จะทำให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในบทบาทสาธารณะมากขึ้น คือการที่ประชาคมโลกต้อง เปล่งเสียงพร้อมๆ กันให้กำลังใจผู้หญิงได้ก้าวเข้ามา ไม่ว่าจะอยู่สาขาการเมืองโดยตรงหรือสาขาอื่นๆ ตอนนี้เป็นเวลาที่โลกมาถึงจุดที่เราต้องการการทำงานที่ละเอียดมากขึ้น

โครงสร้างถูกวางไว้โดยผู้ชายเป็นที่เรียบร้อยแล้วหลายร้อยปี วันนี้เราต้อง การทักษะของผู้หญิงในการทำงานที่ลงรายละเอียดมากขึ้น ถ้าเหมือนบ้านก็คือการตั้งเสาหลักมาเรียบร้อยแล้ว เราต้อง การทักษะที่จะมาช่วยตกแต่งบ้านให้สวยงามมากขึ้น และผู้หญิงก็น่าจะมาทำให้โลกนี้สวยงามมากขึ้น

ส่วนตัวเชื่อว่าการลดความรุนแรงผู้หญิงสามารถสร้างสันติภาพของโลกนี้ได้ด้วยความเอื้ออารีและละเอียดอ่อน อยากให้ผู้หญิงทำงานเรื่องนี้ ไม่ใช่การพัฒนาวิชาชีพหรือเรียกร้องสิทธิสตรีอย่างเดียว แต่เราควรมีโควตาของผู้หญิงที่เข้าไปอยู่ ระบุเป็นกฎหมายไปเลยว่า มีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีสมาชิกรัฐสภามากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นผู้หญิง

ถามถึงเหตุผลที่ได้รับคัดเลือก อาจารย์จากล่าวว่า ทางสหรัฐคิดว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย เพราะฉะนั้นเขาก็อยากให้เล่าว่าเราผ่านขั้นตอนกระบวนการตรงนี้มาได้อย่างไร เป็นแรงบันดาลใจว่าเราได้ทำงานอะไรไปบ้าง

ในที่ประชุมได้แนะนำว่าเราเป็นอาจารย์เข้ามามีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย และเข้ามาช่วยรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง โดยเข้าไปช่วยเรื่องการสื่อสารระหว่างประเทศ อธิบายสถานการณ์ จนในที่สุดชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย อาจเป็นส่วนที่คนทั่วโลกอยากฟังว่าเราผ่านการเลือกตั้งและชนะมาได้อย่างไร

"ที่สำคัญเขาถามว่าเราเป็นนักวิชาการแล้วทำไมจึงกล้าที่จะเสี่ยงกับความล้มเหลว เพราะผู้หญิงกลัวเรื่องความล้มเหลว การสมัครรับเลือกตั้งจะชนะหรือแพ้ ซึ่งตัวเองบอกถึงเหตุผลที่ไม่กลัวความล้มเหลวว่าเป็นเพราะประเทศเราผ่านวิกฤตมายาวนาน ผู้หญิงเราทั้งโดนค้ามนุษย์ ยาเสพติด ความยากจน และสงครามกลางเมือง จึงไม่แปลกเลยที่จะมีผู้หญิงจำนวนมากออกมาเป็นอาสาสมัคร"

สําหรับงานที่ต้องทำหลังจากนี้คือที่ประชุมมีพันธสัญญากันว่าภายในปี 2050 คืออีก 40 ปีข้างหน้าจะส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะการตัดสินใจในระดับสูง ไม่ใช่เพียงได้นายกรัฐมนตรีผู้หญิงเท่านั้น แต่ว่าทีมงานหรือองค์ประกอบอื่นๆ ในทุกๆ ส่วนควรให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาท 50-50 เท่ากัน เพราะว่าโลกได้ถูกวางพื้นฐานโดยผู้ชายมานานแล้ว ซึ่งฮิลลารีเชื่อว่าหากผู้หญิงเข้ามามีบทบาททางการเมืองครึ่งหนึ่งจะทำให้เกิดสมดุลมากขึ้น และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลกได้ ลดความขัดแย้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน

"ส่วนตัวมองในเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก ดังนั้น จึงพูดบ่อยว่าคนที่ทำงานเรื่องสิทธิสตรีกับคนที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนควรทำงานร่วมกัน และผู้หญิงเองสามารถพูดในเรื่องสิทธิมนุษยชนได้โดยเน้นเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้คุณค่าความเป็นมนุษย์

ถ้าเราเคารพศักดิ์ศรีความเป็นคนความเป็นมนุษย์ก็จะทำให้โครงสร้างเปลี่ยน คือโครงสร้างการสั่งอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจะน้อยลง ทำให้คนในองค์กรเรียนรู้มากขึ้นทั้งผิดถูก เรียนรู้ออกจากวิกฤตไปด้วยกัน เป็นสิ่งที่เรามุ่งหวังว่าผู้หญิงจะเข้ามามีบทบาทในการสร้างองค์กรให้มีความสุขมากขึ้น ผู้หญิงจะมีบทบาทลดความรุนแรงทั้งในครอบครัวและในสังคม"

อาจารย์จากล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาผู้หญิงแสดงความเห็น แต่เสียงจะเบาไม่ค่อยมีน้ำหนัก เป็นเพราะจำนวนผู้หญิงที่มาทำงานการเมืองหรือทำงานเพื่อสาธารณะยังน้อยอยู่ ยังไม่มากถึงขั้นส่งเสียงออกมาดังๆ

เชื่อว่าหากมีจำนวน 50-50 จะมีเสียงที่เท่าเทียมกัน ผู้หญิงจะมีเสียงดังมากขึ้น ในประเด็นต่างๆ ตรงนี้หากเราแก้ไขทั้งโครงสร้างเราจะเปลี่ยน แปลงได้ เชื่อว่าผู้หญิงจะมีเสียงที่ดังและมั่นใจขึ้น และนโยบายที่มาจากผู้หญิงจะขยับความสำคัญในระดับต้นๆ มากขึ้น

โครงการ "The Woman in Public Service Project" จึงถือเป็นโครงการที่สร้างความภาคภูมิใจไม่เฉพาะผู้หญิงไทยแต่สะท้อนไปยังผู้หญิงทั่วโลกให้เข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในสังคมมากขึ้น

ขอขอบคุณ ข่าวสดออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: