เรียน พี่เสก ที่นับถือ
ผมอ่านจดหมายชี้แจงกรณี “นิติราษฎร์-ครก.112” ของพี่เสกด้วยความรู้สึกเศร้าใจมากกว่าอย่างอื่น ความจริง ผมว่า พี่เสก คง “ชรา” แล้วอย่างที่พี่เสกพูดถึงตัวเองในจดหมายจริงๆ จึงตัดสินทำอะไรที่ไม่ควรทำเช่นนี้ ที่ในระยะยาวมีแต่จะเป็นการลดทอนชื่อเสียงเกียรติภูมิและฐานะทางประวัติศาสตร์ของพี่เสกลงไปอีก
ก่อนอื่น ใครที่ได้อ่านจดหมายของพี่เสกฉบับนี้ ก็ยากจะหลีกเลี่ยงอดคิดไม่ได้ว่า ที่พี่เสกเพิ่งมาออกจดหมายฉบับนี้ – สองสัปดาห์หลังจากมีการประกาศชื่อผู้ร่วมลงนามสนับสนุนร่างแก้ไข 112 ของ นิติราษฎร์ (ซึ่งรวมชื่อพี่เสกอยู่ด้วย) ก็เพราะหลายวันที่ผ่านมา มีกระแสโจมตี “นิติราษฎร์” อย่างหนัก ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าเสียใจว่า “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” ผู้เคยนำมวลชนลุกขึ้นสู้อย่างกล้าหาญไม่ถอย เมื่อ 40 ปีก่อน (ในท่ามกลางเพื่อนรุ่นเดียวกันหลายคนที่หวั่นไหวกับการขู่ของอำนาจทหารฟัสซิสต์) กลายมาเป็นคน “ใจเสาะ” อ่อนไหวง่ายกับกระแสโจมตี ที่ทั้งหมด มีแต่เสียงคำรามแบบป่าเถื่อน ไม่มีร่องรอยของภูมิปัญญาอยู่เลยนี้ ไปได้เสียแล้ว
ความจริง กระแสโจมตีในขณะนี้ พุ่งเป้าไปที่นิติราษฎร์เท่านั้น เรียกว่าไม่มีการกล่าวถึงคนอื่นๆที่ร่วมลงนามเลย อย่าว่าแต่พี่เสกเลย แม้แต่คนที่ใกล้ชิดหรือมีท่าทีสนับสนุนนิติราษฏร์มากกว่าพี่เสกหลายเท่า เช่น อาจารย์ชาญวิทย์ หรือ อาจารย์นิธิ (ที่พูดในงานเปิดตัวด้วย) ก็ยังเรียกว่าไปไม่ถึง ก็แล้วทำไมพี่เสกจะต้อง “ร้อนตัว” ออกจดหมายมาชี้แจงแบบนี้เล่า?
ผมเชื่อว่า ทุกคนตระหนักดีว่า ในการรณรงค์ที่ใช้รูปแบบร่วมลงชื่อกันมากๆ เป็นร้อยคนขึ้นไปเช่นนี้ แต่ละคนย่อมอาจจะมีเหตุผลเฉพาะของตัวเอง และไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกับคนที่เป็นผู้ริเริ่มทั้งหมด แต่อย่างน้อย ในฐานะที่แต่ละคนเป็นผู้ใหญ่มีวุฒิภาวะและวิจารณญาณกันแล้ว (อย่าว่า “ชรา” แล้ว อย่างพี่เสก) การลงชื่อ หรือยอมให้ชื่อของตัวเองรวมเข้าไปด้วย ย่อมมาจากการต้องเห็นด้วยกับข้อเสนอเช่นนั้น ไม่ว่าจะมีเหตุผลหรือมุมมองเฉพาะของตัวเองอย่างไร ดังนั้น จะว่าไปแล้ว ก็ไม่เห็นจะมีความจำเป็นที่แต่ละคนจะต้องออกมาชี้แจงเลย ยิ่งในเมื่อกระแสโจมตีในกรณีนี้ หาได้พุ่งเป้าไปที่ใครโดยเฉพาะ (นอกจากนิติราษฎร์) ที่แน่ๆ ผมก็ไม่เห็นกระแสโจมตีนี้ ไปแตะถึงตัวพี่เสกเลย
แต่ตอนนี้ พี่เสกกลับรู้สึกว่าจำเป็นต้อง “ชี้แจงจุดยืนของตัวเองให้กระจ่าง” โดยอ้างว่า ที่ลงชื่อไปนั้น “เนื่องจากถูกขอร้องโดยผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ และผมเองก็ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่อยู่ในกรอบของการปฏิรูปกฎหมาย มีเนื้อหากลางๆ ออกไปในแนวมนุษยธรรม และที่สำคัญคือยังคงไว้ซึ่งจุดหมายในการพิทักษ์รักษาสถาบันสำคัญของชาติ”
ก่อนอื่น ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า หลังๆ ดูๆ พี่เสกจะชอบ “ออกตัว” เวลาทำอะไรที่มีลักษณะเป็นประเด็นถกเถียง (controversial) ในลักษณะนี้คือ “ถูกผู้ใหญ่ขอร้อง” คราวที่พี่เสกไปรับตำแหน่งในคณะกรรมการปฏิรูป ก็บอกว่า“หนึ่ง-ผมเกรงใจท่านอดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ที่อุตส่าห์เชิญผมไปร่วมงาน” (ใน คำสัมภาษณ์นิตยสาร “ค คน”) พี่เสกก็แก่มากแล้ว ทำไมจะต้องคอย “ออกตัว” (แก้ตัว) ในลักษณะนี้ให้เด็กๆ อายุคราวหลานหลายคนที่เขาร่วมลงชื่อครั้งนี้รู้สึกสมเพชด้วยเล่า? พวกเขาเด็กปานนั้น ยังไม่เห็นมีใครเคยบอกว่าที่ทำไปเพราะคนเป็นผู้ใหญ่กว่าขอให้ทำเลย
แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือการออกมาชี้แจงด้วยเหตุผลที่เห็นได้ชัดว่า ต้องการให้ตัวเอง “ดูดี” ว่า ไม่ได้เป็นพวก “ล้มเจ้า” แบบที่กระแสโจมตีอันป่าเถื่อนกำลังกล่าวหา “นิติราษฎร์” ในขณะนี้ ไม่เช่นนั้น ทำไมจะต้องอุตส่าห์ใส่ข้อความว่า “ที่สำคัญคือยังคงไว้ซึ่งจุดหมายในการพิทักษ์รักษาสถาบันสำคัญของชาติ” ด้วย มิหนำซ้ำ ในข้อความที่ตามมา ยังอุตส่าห์เขียนในลักษณะ “เป็นนัยๆ” ในลักษณะที่ฝรั่งเรียกว่า innuendo (พูดเป็นนัยๆ ให้เสียหาย) ว่า “ผมต้องขอยืนยันว่าผมไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับนักวิชาการกลุ่มนี้ และยิ่งไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับข้อเสนอในประเด็นอื่นๆ ที่กลุ่มดังกล่าวได้ประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง”
คือถ้าพูดกันด้วยภาษาชาวบ้านๆ ใครที่อ่านหนังสือไทยได้ ก็เข้าใจว่า พี่เสกกำลังบอกเป็นนัยว่า “ผมจงรักภักดีนะ ผมไม่เกี่ยวข้องกับพวกนั้น (นิติราษฎร์) เลย ที่พวกนั้นออกมาในแนวไม่จงรักภักดี (คือไม่มี “จุดหมายในการพิทักษ์รักษาสถาบันสำคัญของชาติ” เหมือนผม) ผมไม่รู้ไม่เห็นด้วยนะ” – คือถ้าไม่ให้ตีความเช่นนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะอธิบายการที่พี่เสกต้อง “ร้อนตัว” มาบอกว่า ไม่เกี่ยวข้องกับนิติราษฎร์ได้ยังไง ในเมื่อ (ก) ในประเทศไทย ไม่เห็นมีใครเคยบอกว่าพี่เสกเกี่ยวข้องกับนิติราษฎร์ และ (ข) ถ้า “ข้อเสนอในประเด็นอื่น” ที่นิติราษฎร์ “ประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง” เป็นเรื่องอื่น ไม่ใช่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ (ที่พวกเขาเสนอให้ปฏิรูปตามอารยประเทศประชาธิปไตย) พี่เสกจะต้องออกมา “ชี้แจง” เช่นนี้ และต้องพาดพิงถึง “ประเด็นอื่นๆ ที่กลุ่มดังกล่าวได้ประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง”ด้วยหรือ?
ผมเสียใจที่พี่เสกยิ่งแก่ยิ่งกล้าหาญน้อยลงๆ ถ้าพี่เสกเห็นว่า สิ่งที่นิติราษฎร์ “ประกาศออกมาอย่างต่อเนื่อง” เป็นอะไรที่ไม่ดีต่อสถาบันกษัตริย์ (ที่พี่เสกปวารณาจะ “พิทักษ์รักษา”) ก็ควรกล้าที่จะอธิบายออกมาตรงๆ ไม่ใช่ใช้วิธี innuendo แบบนี้
น่าเสียใจด้วยว่า ในคำสัมภาษณ์ “ค คน” พี่เสกได้พูดถึง “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” โดยเสนอว่า ลักษณะ “โครงสร้างแบบอำนาจนิยม” ของ “ชนชั้นนำ” ในปัจจุบัน “เป็นโครงสร้างอำนาจเดียวกับสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์” จริงอยู่ พี่เสกกำลังโจมตีนักการเมือง ซึ่งเป็น “ผู้ใช้อำนาจการปกครอง [ในปัจจุบัน] ไม่ใช่พระมหากษัตริย์เหมือนแต่ก่อน” (พี่เสกพูดต่อด้วยคำที่เบาลงมาด้วยว่า “หรือบางทีก็เป็นผู้นำกองทัพ”) แต่ในเมื่อพี่เสกกล่าวว่า “โครงสร้าง” การใช้อำนาจปัจจุบันซึ่งพี่เสกวิพากษ์นั้น “แทบจะเหมือนเดิมทุกประการ” กับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ย่อมหมายความว่า พี่เสก ไม่เห็นด้วยกับสมบูรณาญาสิทธิราชย์เช่นกัน แต่ไฉน พี่เสกจึงมายอมค้อมหัวให้กับกระแสโจมตีนิติราษฎร์ในขณะนี้ ที่มาจากอุดมการณ์และวิธีคิดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างชัดเจนด้วยเล่า?
วินาทีแรกที่ผมอ่านจดหมายของพี่เสกจบ ผมนึกถึงกาพย์ของจิตร ภูมิศักดิ์ ท่อนนี้ ขึ้นมาทันที
หนทางพิสูจน์ม้า และเวลาพิสูจน์คน
ใครถอยและใครทน พิสูจน์ได้เมื่อภัยมา
ด้วยความเศร้าใจจริงๆ
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ที่มา เว็บไซต์ประชาไท
http://prachatai.com/journal/2012/01/38965
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น