สัมภาษณ์พิเศษ โดย จำนง ศรีนคร
ทั้ง "เรียกแขก" ฝ่ายตรงข้าม ผ่านความเคลื่อนไหวและส่งสัญญาณทางการเมือง ผ่านกรณี พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ การเข้ามอบตัวของ "อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง" แกนนำ นปช. และการเตรียมคุกการเมืองที่เรือนจำชั่วคราวหลักสี่ ฯลฯ
แม้แต่ความเคลื่อนไหวต่อการ "ปรับ ครม." ใน "พรรคเพื่อไทย" ที่บรรดาแชมป์เก่าและผู้ท้าชิง ต่างกุลีกุจอบินด่วนไปพบทุกที่ที่ "นายใหญ่" เดินทางไป ล่าสุดคือ "สิงคโปร์"
รวมทั้งการเดินหน้าแนวทาง "ปรองดอง" เต็มสูบผ่านกลไก "รัฐสภา" "คณะกรรมการอิสระ" หรือแม้แต่ "พรรคเพื่อไทย" และ "กลุ่มเสื้อแดง" เอง
ทุกอย่างหมุนรอบ ชื่อ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ทั้งสิ้น
ทีนี้ลองฟังข้อเท็จจริงจากผู้ที่ทำหน้าที่ เงา "เสียง-ความคิด" จากแดนไกล ที่ชื่อ "นพดล ปัทมะ" ที่ปรึกษากฎหมายส่วนตัว
เที่ยวนี้ "นำสารสำคัญ" ถึงฝ่ายตรงข้ามโดยเฉพาะ
- ทำไมช่วงนี้ พ.ต.ท.ทักษิณมีบทบาทค่อนข้างมาก
การเมืองมันยังไม่นิ่ง มันยังมีการต่อสู้ระหว่างฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ คือ ไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย กับฝ่ายอนุรักษนิยม นี่คือภาพใหญ่ เหมือนการประลองกำลังชักเย่อกันยังไม่เสร็จ พ.ต.ท.ทักษิณก็เหมือนกัปตันทีมฝ่ายประชาธิปไตย ทุกอย่างที่เคลื่อนไหวก็ต้องมุ่งไปเพื่อทำลายแม่ทัพ มีตั้งแต่เคยเอาชีวิต ทำลายทางกฎหมาย ทำลายทางการเมือง ทำลายทางความน่าเชื่อถือ การทำงานมีหลายระดับ
เขายังไม่ยอมแพ้ ยังมีความหวังอยู่ คิดว่าถ้าทำลาย พ.ต.ท.ทักษิณได้ ก็จะทำลายฝ่ายประชาธิปไตยได้ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะฝ่ายประชาชนมันหยั่งรากลึกหลายองค์กรมาก
- เมื่อแม่ทัพฝ่ายหนึ่งคือ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วแม่ทัพของฝ่ายอนุรักษนิยมคือใคร
มันอาจจะไม่มีการประกาศตัวชัดเจน อาจจะเป็นมือที่มองไม่เห็น แต่ขอเรียกว่าหน้าที่มองไม่เห็น อาจต้องประกาศคนหายที่เป็นตัวแทนฝ่ายโน้น (หัวเราะ)
- ถ้ามองไม่เห็นแล้วมาดึงเชือกได้อย่างไร
อ่า...(หัวเราะ) ดึงผ่านตัวแทน เป็น Proxy War (สงครามตัวแทน) ก็รู้อยู่แล้วว่าใครอยู่เบื้องหลัง สังคมไทยและสังคมโลกรู้ดี (เน้นเสียง) ว่ามันเกิดการชักเย่อกันอยู่ ดังนั้น จะทำยังไงให้อยู่ร่วมกันได้ ยอมรับกันได้ แบ่งประโยชน์กันได้
- แบ่งประโยชน์กันได้ ใช่ความพยายามปรองดองผ่านกลไกต่างๆ เวลานี้หรือไม่
ใช่ครับๆ (พยักหน้ารับ) ผมเห็นว่าต้องปรองดอง แต่ปรองดองเป็นคำกว้าง พูดไปคนละความหมาย เพราะมีทั้งข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาก็จะมีผลศึกษา เอาชัดๆ ไปเลยนะว่า ขีดเส้นแค่ยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 ก็พอได้อยู่ เริ่มจากตรงนั้น ว่าอะไรที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถูกกระทำ ก็กลับคืนสู่สถานะเดิม เหมือนหมุนเทปกลับ
คำว่าสถานะเดิม หรือ Status quo เป็นศัพท์ทางกฎหมาย เวลาทำสัญญาแล้วเกิดเป็นโมฆียะ บอกล้าง ก็กลับคืนสู่สถานะเดิม ทำไมไม่เริ่มจากจุดนี้ก่อน เพื่อมาเป็นจัดเริ่มในการพูดคุยกัน
- แล้วเงื่อนไขของ พ.ต.ท.ทักษิณ คืออะไร
1.คดีทางการเมืองคุณจะทำอย่างไร เช่น ยุบพรรค สิทธิทางการเมืองของบ้านเลขที่ 111 และ 109 เพราะกฎหมายไม่เป็นธรรม ย้อนหลังทั้งที่คนเดียวทำผิด นั่นคือมาตรา 237
2.คดีอาญาที่ต่อเนื่องมาหลายคดี ที่เริ่มด้วยการเอาคนที่เป็นปฏิปักษ์และมีอคติต่อ พ.ต.ท.ทักษิณมาสอบ คือ คตส. มีหลักกฎหมายอาญาว่า เมื่อการจัดมิชอบแล้ว การพิจารณาก็มิชอบ มันเหมือนกลัดกระดุมผิดเม็ด ไม่ใช่แค่ปลายน้ำ ต้นน้ำก็ต้องชอบด้วย ตรงนี้จะทำยังไง
3.เรื่องยึดทรัพย์เขา 4 หมื่นกว่าล้านบาท ยุติธรรมแล้วหรือ เพราะคำพิพากษายึดทรัพย์ ตัดแบ่งนับตั้งแต่ทรัพย์ในวันที่เป็นนายกฯยึดหมด แล้วสมมุติเขามีหุ้นอยู่ก่อนเป็นนายกฯ แล้ววันที่เป็นนายกฯหุ้นขึ้นโดยธรรมชาติแต่ถูกยึดไปด้วย สมมุติว่า พ.ต.ท.ทักษิณโกง อย่างน้อยก็ควรให้ส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องไว้
4.การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เราคิดว่ามีหลายคดีที่เราเห็นแล้วไม่สบายใจ สร้างความเคลือบแคลงในใจคน เราต้องมาคุยเรื่องความเป็นอิสระ จะทำยังไงเช่น คดีทำกับข้าวเนี่ย! นักกฎหมายที่ไม่จำเป็นต้องเรียนสูง ก็รู้ว่าการตีความกฎหมายเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิ ต้องตีความอย่างจำกัดชัดเจน ไม่ใช่ตีความอย่างเสรี
5.เป็นเรื่องคดีความต่างๆ ของทั้งสองฝ่าย ทั้ง คดีเสื้อเหลืองและเสื้อแดง จะทำอย่างไร
และ 6.แก้ไขรัฐธรรมนูญ เราคิดว่าควรจะมีรัฐธรรมนูญที่กลับไปสู่ฐานของรัฐธรรมนูญปี 2540 เพราะคุณไปฉีกรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเอารัฐธรรมนูญกลับมา แต่แน่นอนอะไรที่บกพร่องเราแก้ไขได้ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือนำฉบับ 2540 มาใช้ ก็จะปลดเงื่อนไขยุบพรรคตามมาตรา 237 ไปด้วย
แต่แม้คู่เจรจาไม่มี ที่จริงเราใช้กลไกของรัฐสภาได้ เพราะถ้าเราคิดว่ารัฐธรรมนูญ แม้ฉบับปี 2550 ก็บอกว่า ส.ส. และ ส.ว.เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทย และรัฐสภาก็มีความสามารถออกกฎหมายต่างๆ ได้
- แต่การที่พรรคเพื่อไทยกุมเสียงข้างมากในสภา ถ้าทำจริงจะเป็นการใช้เสียงข้างมากทำข้างเดียว เพราะคู่กรณีตัวจริงไม่ได้นั่งโต๊ะเจรจาด้วย อาจเกิดวิกฤตอีกรอบ
ทำประชาพิจารณ์และประชามติให้ประชาชนตัดสิน ไปโหวตเหมือนเลือกตั้งได้ แล้วแต่จะยกทั้ง 6 ประเด็น หรือสังคมคิดว่าประเด็นไหนสำคัญเร่งด่วน แต่ทุกภาคส่วนต้องมาคุยกัน อาทิ ทหาร ข้าราชการ นักการเมือง ประชาชน นักธุรกิจ วิชาชีพอิสระ ตัวแทนสาขาอาชีพ สื่อมวลชน ให้แต่ละฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น ว่าอยู่อย่างนี้ให้มันทะเลาะกันไปเรื่อยๆ ดีแล้วหรือ หรือไม่เอาแล้ว
- ทำไมจึงยอมเปิดโต๊ะเจรจา
มันสูญเสียพลัง เสียโอกาส สูญเสียอนาคตประเทศและลูกหลาน เราทะเลาะเบาะแว้งกัน โดยไม่ได้ดูเนื้อหาสาระของบ้านเมือง เช่น เหลือง-แดงทะเลาะกัน เราก็เอาประเด็นปราสาทพระวิหารมาเป็นเครื่องมือทิ่มแทงผม รัฐบาลพลังประชาชน และ พ.ต.ท.ทักษิณ บอกว่าเราขายชาติ แล้วล้มรัฐบาล ท้ายที่สุดก็ทะเลาะกับเพื่อนบ้าน
- สารที่ส่งมานี้ พ.ต.ท.ทักษิณเห็นชอบแล้วหรือ
ก็โอเค..ผมเรียนตรงๆ ว่า ผมไม่รู้ว่าท่านเห็นด้วยทั้งหมดหรือไม่ แต่ความเห็นไม่ไกลกันน่ะ (สบตา) เอาอย่างนั้นแล้วกัน
- แต่ทั้ง 6 ข้อ ดูไปดูมา มีประโยชน์ พ.ต.ท.ทักษิณมาเกี่ยวข้องทั้งหมด อย่างนี้ก็ส่อแววล้ม เพราะอีกฝ่ายไม่เอาแน่
เราเสนอให้สังคมพิจารณา แล้วผู้มีส่วนได้เสียในสังคมก็ไม่ได้มีแค่พันธมิตร หรือฝ่ายต่อต้าน แต่ก็เคารพความเห็น
- ทั้งหมดมาจากแผนการที่วางไว้ เพื่อบีบมาสู่จุดนี้หรือไม่
ก็ต้องมาพูดคุยกันก่อน ปรับเข้าหากัน ไม่นั้นคุณจะปล่อยให้ประเทศอยู่ในสภาพนี้เหรอ มีฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ-เพื่อไทย-เสื้อแดง แต่เราก็เล่นตามกติกาที่ฝ่ายพวกคุณกำหนดไว้คือ รัฐธรรมนูญ 2550 เราก็หาเสียง เลือกตั้งมา
- พ.ต.ท.ทักษิณเองพูดผ่านหลายเวทีชุมนุมในปี 2552-2553 ถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ใช่ฝ่ายหนึ่งที่ต้องคุยด้วยหรือไม่
โอเค...(สูดหายใจ) คือ...พล.อ.เปรมท่านเป็นประธานองคมนตรี โดยส่วนตัวผมคิดว่าท่านอยู่เหนือการเมืองในขณะนี้ ฉะนั้น อาจไม่เหมาะจริงๆ ที่ผมจะบังอาจไปเชิญท่านมาเจรจาหรือพูดคุย แต่เราคิดว่ามันคงจะมีกลไกที่จะให้ผู้ใหญ่ หรือคนสำคัญในบ้านเมืองได้รับทราบว่า แนวทางที่จะบรรลุข้อตกลงและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แล้วมีความปรองดอง คงจะเป็นความห่วงใยของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองซึ่งก็รักชาติ และเป็นห่วงประเทศเหมือนกับพวกเรา คิดว่าท่านในฐานะผู้ใหญ่ก็คงมีความห่วงใยอยู่ ผมคิดของผมอย่างนี้ว่า ท่านก็คงอยากจะเห็นบ้านเมืองปรองดอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นไปคิดแทนท่านก็ไม่ได้
- เที่ยวนี้ถ้าเจรจาไม่สำเร็จ โอกาสที่จะนองเลือดเป็นไปได้หรือไม่
โอ้..(นิ่งคิด) ผมไม่มองอะไรสุดโต่งนะ ด้วยความเป็นคนไทย ผมไม่เชื่อว่าประเทศไทยจะมีนองเลือดนะ แต่...ความไม่แน่นอนคือ ความแน่นอน อะไรก็เกิดขึ้นได้ประเทศไทย มันอยู่ที่แต่ละฝ่ายจะโอนอ่อนผ่อนปรนกันได้แค่ไหน จะให้อีกฝ่ายมีที่ยืนในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีแค่ไหน สมมุติถ้ามีการยึดอำนาจซ้ำขึ้นมาอีก แล้วปราบปรามประชาชนมันก็เกิดนองเลือดได้
ผมหวังว่าจะไม่เกิด และ พ.ต.ท.ทักษิณคงไม่ยอมให้เกิด ท่านคงจะไม่เดินทางกลับมาในช่วงที่ฝีมันแดง คือต้องกลับมาในช่วงที่บ้านเมืองมีความมั่นคงและสงบพอสมควร
แต่ตราบใดถ้ายังพิสูจน์ความจริงให้ประจักษ์ไม่ได้ พ.ต.ท.ทักษิณก็ยังจะสู้ต่อไป ในกระบวนการที่ถูกต้อง คือ ลงเลือกตั้ง...
ขอขอบคุณมติชนออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น