ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันพรรคเพื่อไทย (พท.) ไม่มีความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แค่เห็นต่างกันเรื่องเวลาที่จะยื่นแก้ไขเท่านั้น ขณะที่ฝ่ายกฎหมาย พท.ได้กำหนดเวลาและขั้นตอนในการแก้ไขว่า จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเดือนมิถุนายน 2556
ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิมให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 ธันวาคมว่า สมาชิก พท.ไม่ได้แตกแยกกันในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นความแตกต่างของมุมมอง โดยหลักการคือ พรรคแถลงนโยบายว่าจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 1 ปี โดยส่วนตัวมองว่าขณะนี้รัฐบาลเพิ่งอยู่มา 4 เดือน ก็ควรจะเน้นไปที่การแก้ไขปัญหายาเสพติด ปัญหาเศรษฐกิจ และการปราบปรามเว็บไซต์ที่กระทบต่อความมั่นคง ส่วนเนื้อหาสาระที่จะให้มีการแก้ไขต้องพูดคุยกันให้ตกผลึกก่อน
แก้"291"ต้องจบก่อน18เม.ย.
ด้านนายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พท. กล่าวถึงขั้นตอนการได้มาซึ่ง ส.ส.ร.3 ว่า หากมีการยื่นร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขมาตรา 291 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2555 ตามที่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ก็จะพิจารณาในวาระที่ 1 ซึ่งต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา หรือ 325 เสียง จากนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญขึ้นเพื่อดำเนินการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก่อนนำกลับเข้ามาพิจารณาในวาระที่ 2 ทิ้งไว้ 15 วัน และพิจารณาวาระที่ 3 ทั้งนี้ คาดว่ากระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะแล้วเสร็จภายในการประชุมรัฐสภา สมัยสามัญนิติบัญญัติ ที่จะปิดสมัยในวันที่ 18 เมษายน 2555
"หากไม่สามารถดำเนินการได้ทัน รัฐบาลจะต้องเสนอขอให้มีการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาให้เสร็จสิ้น ก่อนที่จะมีการเปิดประชุมรัฐสภา สมัยสามัญทั่วไปในวันที่ 1 สิงหาคม 2555 เพราะในสมัยสามัญมีเรื่องที่จะต้องพิจารณามาก รวมไปถึงอาจจะมีญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย" นายพีรพันธุ์กล่าว
ไม่ต้องทำประชามติก่อนรื้อ
นายพีรพันธุ์กล่าวต่อว่า หลังการแก้ไขมาตรา 291 แล้วเสร็จ จะเป็นกระบวนการคัดเลือก ส.ส.ร. แล้วปล่อยให้ทำหน้าที่ หากย้อนดูกรอบการทำงานของ ส.ส.ร.ชุดที่ผ่านๆ มาจะอยู่ที่ประมาณ 8 เดือน ดังนั้น ส.ส.ร.ชุดใหม่คงจะใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 8 เดือน หรืออาจมากกว่า เพราะไม่ต้องการเร่งรัด หลังจากได้ต้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว จะนำไปจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มและเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบเนื้อหาภายในเวลา 30 วันก่อนจะจัดให้ออกเสียงลงประชามติ
ส่วนกรณีที่นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอดีต กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 เสนอให้รัฐบาลทำประชามติก่อนว่าประชาชนต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือไม่นั้น นายพีรพันธุ์กล่าวว่า ไม่เห็นด้วย เพราะหลังการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ จะต้องทำประชามติอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำหลายรอบ
ฉบับที่19คลอดมิถุนายน56
ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับปฏิทินการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 ส.ส.ร.จำเป็นต้องเกิดขึ้นก่อนวันที่ 23 สิงหาคม 2555 ซึ่งครบรอบ 1 ปีในการแถลงนโยบายของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หากให้ ส.ส.ร.ทำหน้าที่ประมาณ 8 เดือน คาดว่าจะได้ต้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ราวเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2556 และเริ่มกระบวนการเผยแพร่ร่างก่อนจัดให้ลงประชามติในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2556 จากนั้นนำรัฐธรรมนูญที่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่กลับมารายงานรัฐสภา เพื่อให้ประธานรัฐสภานำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป นั่นหมายความว่า จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นฉบับที่ 19 ในช่วงเดือนมิถุนายน 2556
29ธันวายื่นแก้มาตรา291
นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พท. เปิดเผยว่า วันที่ 29 ธันวาคมนี้ ตนพร้อมด้วยตัวแทนประชาชนประมาณ 40-50 คน จะทำหน้าที่ผู้แทนการเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อเปิดให้มี ส.ส.ร.เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา จากนั้นภายใน 30 วันจะยื่นรายชื่อประชาชนจำนวน 50,000 ชื่อเพิ่มเติม
"การได้มาซึ่ง ส.ส.ร.จำนวน 101 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชนใน 77 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน มาจากนักวิชาการ 3 สาขา คือ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และกฎหมายมหาชน สาขาละ 8 คน โดยนักวิชาการ 3 สาขานี้ ต้องเปิดให้มีการลงทะเบียนที่รัฐสภาแบ่งแยกตามสาขา จากนั้นแต่ละสาขาก็มาคัดเลือกกันเองให้เหลือ 30 คน ด้วยวิธีการลงคะแนนเลือกโดยลับคือนักวิชาการ 1 คนเลือกได้ 3 ชื่อ หากคะแนนเท่ากันให้จับสลาก เมื่อได้ครบจำนวน 90 คนแล้ว ให้เปิดประชุมของ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 77 คนให้ผู้ที่มีอายุสูงสุดทำหน้าที่ประธานชั่วคราว ดำเนินการเลือกให้เหลือสาขาละ 8 คน" นายสงวนกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น