อานนท์ นำภา คือทนายหนุ่มไฟแรงวัย 27 ปี จากรั้วพ่อขุนรามคำแหง ที่มีเส้นทางชีวิตคู่ขนานกับขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนอย่างแนบชิด ชีวิตที่เดินเข้าออกเรือนจำเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นชินของบรรดาญาติผู้ต้องขังในคดีการเมืองหลายคดี
ประสบการณ์ของทนายหนุ่มคนนี้เคยว่าความให้ชาวบ้านที่ชุมนุมค้านโรงถลุงเหล็ก จ.ประจวบคีรีขันธ์ที่ค้านโรงไฟฟ้าหนองแซง ค้านท่อแก๊สที่ อ.จะนะ จ.สงขลา และคดีการเมือง คดีจากการชุมนุมต่างๆอีกหลายคดี เรื่อยมาจนถึงเป็นหนึ่งในทีมทนายว่าความคดีดังในชื่อรหัสที่ถูกเรียนขานว่า อากง เอสเอ็มเอส
บุคลิกของ "อานนท์" ผู้ซึ่งมีภาคหนึ่งในฐานะทนายว่าความของคนเดินตรอกไร้ทางสู้ ตีคู่อีกภาคในตัวกับหนุ่มหัวใจอิสระ ศิลปินนักขีดเขียนร่ายกลอนบทกวีเพลินเพลินเป่าขลุ่ยยามว่าง
เมื่อผสมผสานความเป็นนักกฎหมายกับศิลปินเข้าไป ทำให้เขาถูกวิจารณ์ในคดี "อากง เอสเอ็มเอส" ว่าเป็น ทนายดราม่า(?)
สำหรับที่มาของคดีที่ถูกเรียกว่า อากง เอสเอ็มเอส คือกรณีที่นายอำพล (สงวนนามสกุล) อายุ 61 ปี หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า "อากง" ถูกฟ้องว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยข้อกล่าวหาว่าส่งเอสเอ็มเอสที่มีข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปยังโทรศัพท์มือถือของเลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อมาศาลพิพากษ์ว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ลงโทษจำคุก 20 ปี
กรณีคดีอากง เอสเอ็มเอส ถูกพูดถึงในเชิงให้หลายคนระมัดระวังตัวต่อการครอบครองโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพราะแม้จะไม่มีหลักฐานหรือการพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้ลงมือจริงหรือไม่ แต่มีหลักฐานว่า ข้อความสั้นถูกส่งจากเครื่องของจำเลยในบริเวณย่านที่จำเลยอยู่อาศัย แม้ว่าในการส่งจะไม่ได้ทำผ่านซิมการ์ดที่จำเลยใช้เป็นประจำก็ตาม แต่จำเลยก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ในช่วงเกิดเหตุนั้นเครื่องอยู่นอกความดูแลของตน
เรื่องราวของคดีและการทำงานของทีมทนายความในคดีนี้จะดราม่าแค่ไหนอย่างไร ประชาชาติธุรกิจออนไลน์พาไปสัมผัสผ่านทัศนะของ อานนท์ นำภา
@@@ การทำงานคดีนี้ (อากง SMS)มีทนายกี่คน
ทนายในคดีอากง ได้รับความร่วมมือ 3 องค์กร คือ ilaw , เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิฯ และสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ โดยได้รับการดูแลค่าใช้จ่ายเรื่องการเดินทางจาก 2 องค์กรหลัง มีทนาย 3 คน คณะทำงานอีก 10 คน
นอกจากการทำหน้าที่ทนายแล้ว ในฐานะที่เรามีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสไปพูดคุยกับอากงอยู่ในเรือนจำ เราในฐานะทนายความ ก็นำสิ่งที่อากงพูดมาสื่อกับคนภายนอก วันนี้คนอยากให้กำลังใจอากง แต่หลายคนก็ไม่สะดวกที่จะเข้าไป คดีแบบนี้ กำลังใจสำคัญสุด
@@@มีการนำคอมเมนท์ให้กำลังใจในเฟซบุคไปให้อากงอ่านหรือไม่
เอาไปให้แกก็น้ำตาไหล ผมถามว่าร้องไห้ทำไมซึ้งหรือ แต่อากงบอกว่า “ผมไม่ได้เอาแว่นตามา มองไม่เห็นแต่ผมเดาว่าเขาคงให้กำลังใจผม”
@@@ ปกติใครที่โดนคดีในมาตรานี้ ส่วนใหญ่จะโดนกดดัน
คดีนี้ต่อให้คุณเป็นเสื้อเหลือง หรือ สลิ่ม หรือไม่มีสี ถ้าคุณเชื่อเรื่องความยุติธรรมในสังคม คุณต้องยืนอยู่ข้างอากง เพราะคดีอากง มันชัดว่าแกไม่ได้ทำ แต่กฎหมายหมิ่นฯทำให้ตกเป็นเหยื่อ ผมอ่านความเห็นเพื่อนที่เป็นเสื้อเหลือง มีทั้งเห็นใจและเห็นปัญหามาตรา112
@@@ ทำไมมั่นใจว่าอากงเป็นผู้บริสุทธิ์
ผมว่าหลักฐานอ่อน ข้อเท็จจริงในคดี เกิดขึ้นช่วงวันที่ 5-22 พฤษภาคม 2553 เป็นช่วงเดียวกับที่เสื้อแดงชุมนุมและหลังถูกสลายที่ราชประสงค์ “คนร้าย” ส่งข้อความที่อาจเข้าข่ายผิดมาตรา 112 จากเบอร์โทรศัพท์หมายเลขลงท้าย15จากเครือข่ายดีแทคเข้าเบอร์เลขาของอภิสิทธิ์ และส่งข้อความเดียวกันนั้นเข้าเบอร์บุคคลสำคัญคนอื่นๆ รวมแล้วเกือบ 70 ข้อความ โดยซิมการ์ด นั้น เป็นซิมการ์ดที่เปิดใช้บริการใหม่ในระบบเติมเงิน และเปิดใช้เพื่อส่งข้อความนี้โดยเฉพาะ ไม่มีการโทรออกหรือสื่อสารอย่างอื่น ขณะที่โทรศัพท์ “อากง” ใช้บริการเครือข่ายทรู ส่วนเบอร์โทรศัพท์ลงท้ายด้วยเลข 27 แต่ตำรวจอ้างว่า “อีมี่” ซึ่งเป็นตัวเลขที่อยู่ในเครื่องโทรศัพท์เป็นอีมี่เดียวกับโทรศัพท์ของ“อากง”
โดยตำรวจอ้างว่าเมื่อวันที่วันที่ 23 มิ.ย. 2553 ได้ไปสืบ และทราบว่า อากงใช้อีมี่นี้ แล้วผมถามตำรวจในชั้นศาลว่าคุณรู้ได้อย่างไรว่าเป็น “อากง”
เขาตอบว่าได้รับรายงานจากทรู ซึ่งเช็คการใช้โทรศัพท์ของอากง ซึ่งเบอร์ลงท้ายด้วย 27 ของทรู ส่วนการใช้เบอร์ของคนร้าย จากเครือข่ายดีแทค หมายเลขโทรศัพท์ลงท้ายด้วย 15 ในวันที่ 23 มิ.ย. ดีแทค แจ้งผลว่า ไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่พบว่าช่วงวันที่10-15 มิ.ย. คือหลังเกิดเหตุ 1 เดือน “ซิมการ์ด” ของคนร้ายที่ลงท้ายด้วย15 เอาไปเสียบใช้กับ เครื่องโทรศัพท์ “อีมี่” ลงท้าย 110 โดยเอกสารนั้น ไม่ระบุว่ามีเอกสารแนบ แต่พอในชั้นศาล อัยการกลับมี “เอกสารแนบ” มาแสดงที่บอกว่าคนร้ายใช้ “อีมี่” ลงท้าย 110 ซึ่งตรงกับ อีมี่ที่ทรูระบุว่า เป็นเครื่องอากง ทั้งที่ตอนแรกดีแทคบอกว่าตรวจไม่ได้ แต่ต่อมาก็กลับพรินท์นำมาแนบมาภายหลัง
@@@ ระหว่าง “ซิมการ์ด”แบบเติมเงินของคนร้าย ซึ่งสามารถซื้อมาใช้ทิ้งๆ ขว้างๆ ได้ กับ “เลขอีมี่” ที่แสดงตัวเครื่องโทรศัพท์ มีอะไรเกี่ยวข้องกันระหว่าง “คนร้าย” และ “อากง”
ไม่มี เพราะเอกสารดีแทค บอกแค่ว่าวันที่ 10-15 มิ.ย. คนร้ายใช้อีมี่ที่ลงท้ายด้วย 110 ซึ่งไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์วันที่ 5-22 พ.ค. ช่วงก่อนและหลังสลายชุมนุมเสื้อแดง ซึ่งเป็นเวลาที่คนร้ายส่งข้อความ
ส่วนทรูตรวจสอบแล้วพบว่าเบอร์โทรศัพท์อากง ซิมการ์ดที่ลงท้าย 27 ใช้เครื่องที่มีเลขอีมี่ลงท้ายด้วย 110 ซึ่งจริงๆ มันยังมีเลขท้ายเพี้ยนๆไปบางครั้ง เช่น บางครั้งอาจเพียนเป็น 17 หลัก โดยตอบกลับมาวันที่ 12 ก.ค. 53 จึงตรงกันว่าอีมี่ของ “คนร้าย” และ “อากง” ตรงกันคือ อีมี่ 110
@@@ ความเชื่อมโยงระหว่างซิมการ์ดกับอี่มี่ในคดีนี้เป็นอย่างไร
ตำรวจบอกว่าดูแค่ เลขอีมี่ 14 หลัก แรก ตัวท้ายไม่เกี่ยว ซึ่งคดีนี้ทีมงานไปติดต่อช่างเทคนิค 10 กว่าคนไม่มีใครกล้ามายืนยันทางคดี เพราะกลัว แต่เขาบอกว่า หมายเลขอีมี่ตัวเลขสุดท้ายคือลำดับที่15 จะเป็นตัวคุมตัวเลขลำดับที่1-14 ฉะนั้น ตัวเลขลำดับที่ 15 มันจะคงที่ ซึ่งสวนทางกับที่ตำรวจบอกว่าไม่แคร์ตัวเลขลำดับที่ 15
ส่วนโทรศัพท์เครื่องของอากง สอบถามได้ความว่าไม่เคยเอาเครื่องไปเปลี่ยนซิม พอตำรวจเอาโทรศัพท์เครื่องของอากงไปตรวจโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขาบอกว่าไม่สามารถตรวจสอบได้ แล้วตำรวจเขาเอาหน่วยความจำเครื่องไปตรวจด้วย แต่ตำรวจและอัยการไม่ส่งผลการตรวจหน่วยความจำมาเป็นหลักฐาน
@@@อากงเป็นเสื้อแดงหรือไม่
แกเคยไปดูเสื้อเหลืองชุมนุมช่วงพันธมิตรฯเฟื่องฟู ผมถามว่าอากง ไปเสื้อแดงหรือเปล่า แกก็บอกว่าไป ผมคิดว่าอากงคงเป็นคนแก่ที่ไปดูม็อบทุกสี แต่ตำรวจทุกปากไม่ได้เบิกความว่าแกเป็นเสื้อแดง กระทั่งในชั้นสืบสวนก็ไม่ได้บอกว่าอากงเป็นเสื้อแดง ไม่มีข้อเท็จจริงเลยแกเป็นแค่คนแก่เลี้ยงหลาน โทรศัพท์ ก็ไม่พกติดตัว เอาทิ้งไว้บ้านเหมือนโทรศัพท์บ้าน
@@@เป็นไปได้หรือไม่ว่า อากงนำซิมการ์ดเบอร์โทรศัพท์ลงท้าย 27 ไปเสียบเครื่องของแก แล้วส่งข้อความนั้น
เบอร์จริงของอากง กับเบอร์ของคนร้าย คนละเครือข่าย ระบบของแต่ละเครือข่าย เวลากดเติมเงินแต่ละครั้ง หรือเช็คอะไรแต่ละอย่าง กดดอกจันทร์-สี่เหลี่ยม กดอะไรก่อนอะไรหลังก็ไม่เหมือนกันแล้วใครจะไปจำ ปกติคนที่ใช้หลายซิมมักใช้เครือข่ายที่ตัวเองคุ้นเคย แต่สุดท้าย ไม่ว่าคนส่งจะเป็นใคร ก็ได้บทสรุปว่า ครบองค์ประกอบความผิด เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ ก็เป็นหมิ่นประมาท ดูหมิ่น เป็นข้อความกล่าวอาฆาตมาดร้าย แล้วส่งไปบุคคลที่ 3 โดยตามกฎหมายมาตรานี้โทษจำคุก 3-15 ปี แต่คดีนี้ลงโทษ 20 ปี เพราะเขากล่าวหาว่าอากง ส่ง 4 ครั้ง ลงโทษครั้งละ 5 ปี ก็ 5x4 = 20 ปี
เรื่องอีมี่ คดีนี้ จริงๆ ตำรวจ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครกระทำความผิด แม้แต่ศาลเอง ก็ยอมรับในคำพิพากษาว่า คดีนี้ไม่มีใครเป็นประจักษ์พยานว่าอากงทำผิด...ทั้งนี้เลขาคุณอภิสิทธิ์ เป็นคนบุคคลที่ 3 ที่รับข้อความนี้แล้วไปแจ้งความ ประเด็นปัญหาสำคัญคือ ใครก็ตามแจ้งความมาตรานี้ก็ได้
@@@ได้เสนอทางเลือกให้อากงหรือไม่
ผมเป็นทนายความมีหน้าที่ชี้แจงบอกลูกความว่าอะไรเป็นทางเลือกคือ1) ขอพระราชทานอภัยโทษ ไม่อุทธรณ์ คือรอคดี 1 เดือนนับแต่มีคำพิพากษาวันที่ 27 พ.ย. แล้วขอพระราชทานอภัยโทษ ข้อ 2) คืออุทธรณ์ สู้คดี ยืนยันว่าไม่ใช่คนส่งเอสเอ็มเอส
ความเห็นส่วนตัวผม ผมอยากให้อากง กลับไปอยู่ในครอบครัวให้เร็วที่สุด ผมเห็นว่าช่องที่เร็วที่สุดน่าจะขอพระราชทานอภัยโทษ แกบอกว่า แกคุยกับเมีย
แล้วว่าแกไม่ได้ทำผิด คำที่ผมฟังแล้วน้ำตาจะแตก คือ แกบอกว่า “ผมยืนยันว่าผมไม่ได้ทำผิด แล้วมีคนให้กำลังใจผมเยอะ ผมจะไม่ทำให้คนที่ให้กำลังใจผมผิดหวัง”
ใจหนึ่งผมก็ชื่นชม ใจหนึ่งผมก็อยากให้แกออกมา แต่ในฐานะทนายความ เมื่อเขาไม่ได้ยอมรับผิด ผมก็ไม่มีสิทธิไปบีบคอให้เขารับสารภาพ
@@@อากงฟังทางเลือกทั้ง 2 ทางแล้วแสดงสีหน้ายังไง
แกร้องไห้ ที่จริงแกก็ร้องไห้ทุกครั้งที่เจอผมเหมือนมีเรื่องที่อยากจะเล่าเยอะมาก แต่ตอนนั้น ก็คงเจ็บปวด เพราะรู้ว่า ถ้าเลือกอีกทางหนึ่งจะได้ออกจากคุกเร็ว แต่เขาไม่เลือกแล้วพูดทั้งน้ำตา ผมออกมาจากห้องเยี่ยม เจอเมียอากง แกก็บอกว่า ตกลงกันแล้วว่า “ใครตายก่อน ก็ให้ไปรอในสวรรค์”
@@@เท่าที่ดูเจตนาของคนร้ายไม่ได้มุ่งเป้าตรงไปที่เลขาฯคุณอภิสิทธิ์
เบอร์ที่เหลือทราบมาว่าเป็นเบอร์บุคคลสำคัญ น่าสนใจว่า อากงจะไปมีเบอร์คนเหล่านี้ได้อย่างไร แล้วส่งไปหาคนอื่นรวมเกือบ 70 ข้อความ
@@@อากง รู้ไหมว่าข้อความที่ถูกกล่าวหาคือข้อความอะไร
ผมถามแกว่ารู้ไหมว่าข้อความเอสเอ็มเอสใจความว่าอย่างไร แกก็บอกว่าไม่รู้ แกไม่ได้ส่งเอสเอ็มเอส แกเพียงแต่รับว่าเป็นเจ้าของเบอร์ ลงท้าย 27 แต่แกไม่ได้ยอมรับว่าทำผิด ส่วนเรื่องอีมี่คำให้การในชั้นสอบสวนถามอากงว่า อีมี่ อันนี้ ของอากงหรือเปล่าที่ลงท้ายหมายเลข0 แล้วแกก็รับ ซึ่งผมว่า อากงอาจจะไม่รู้ ถามใครสักกี่คนจะไปรู้เบอร์อีมี่เครื่องโทรศัพท์ตัวเอง ก็รู้กันแต่เบอร์โทรศัพท์ซึ่งก็เป็นเบอร์ซิมการ์ด ไม่ใช่อีมี่ คนทั่วไปจะรู้ไหมครับว่าโทรศัพท์ตัวเองอีมี่อะไร
@@@เสื้อแดงอินกับกรณีอากงจะไปจุดประเด็นการเมืองไหม
ใจของคนที่มีความเป็นธรรมไม่ว่าเสื้อสีอะไรก็ยืนอยู่ข้างอากง
@@@ อานนท์เป็นนักกฎหมาย แต่มาเคลื่อนไหวผ่านสื่อ แบบที่คนรู้สึกว่าดราม่า คิดว่าตัวเองดราม่าไหม
ต้องถามว่าข้อเท็จจริงที่ผมนำมาพูดนั้น ดราม่าหรือเปล่า อากง แกพูดว่า “ผมรู้แล้วว่าทำไมผมโดนขัง เพราะตอนเป็นหนุ่ม บ้านผมขายไก่ ผมเอาไก่มาขัง มันคงเป็นกรรม”- ผมได้ยินผมก็เอามาพูดต่อ ผมดราม่าเหรอ? ตอนที่ผมเห็นป้าอุ๊ เมียอากง เอามือไปแตะกระจกลูกกรงขัง เพราะ ผัวกับเมียอยู่ใกล้กันเอามือแตะกัน โดยมีเพียงกระจกกั้น ผมเอามาเล่าให้คนฟัง แบบนี้ดราม่าหรือเปล่า ผมถ่ายรูป ตอนอากงโบกมือ ให้หลานแก ผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนท์ หลังศาลพิพากษา มีคนบอกว่าผมดราม่า แต่ผมดราม่าตรงไหนเหรอ นี่มันรูปจริง แล้วโดยสันดานผม... ผมชอบเขียนกลอน เขียนบทกวี เปล่าขลุ่ย ผมชอบนำเสนอผ่านอารมณ์คน แต่ทุกเรื่องเป็นความจริง
อากงได้รับเงินที่คนฝากให้ในบัญชีขณะอยู่ในเรือนจำเป็นหมื่น แต่แกโอนมาให้เมียดูแลหลาน ครึ่งหนึ่งคือ 5 พัน ทั้งที่แกก็ต้องใช้เงินทุกวัน เพราะแกเป็นมะเร็งที่คอ ต้องซื้อกับข้าวอ่อนๆ มากิน ถามว่าดราม่าหรือเปล่า ...
@@@ทำไมอากง ต้องร้องไห้เวลาเจออานนท์
ผมคิดว่าแกมีอะไรอยากจะเล่าเยอะ และผมคิดว่าคนที่สามารถพูดคุยและถ่ายทอดได้ดีคือทนายความ เพราะตอนคุยกันห้องค่อนข้างเงียบ ไม่มีการจำกัดเวลา ไม่เหมือนตอนญาติเยี่ยม มันเสียงดัง...แล้วถ้าพูดแบบดราม่าแบบที่ถามตอนแรก ผมคิดว่าจำเลยมองว่าเราเป็นคนเดียวที่จะช่วยเขาได้ โดยวิชาชีพ ผมว่าทนายเหมือนหมอเลยนะ คือคนก็ต้องคิดว่าช่วยเขาได้ แต่สุดท้ายก็อาจจะช่วยอะไรไม่ได้...
รายงานโดย--ฟ้ารุ่ง ศรีขาว ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจ
ขอขอบคุณ ประชาชาติธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น