ทอท.เลิกสัญญาบริษัทสัมปทานลานจอดรถสุวรรณภูมิ 6 ต.ค.นี้ 11 ตุลาฯเตรียมเข้าจัดการเองชั่วคราว ก่อนเปิดประมูล แฉหุ้นส่วน"ปาร์คกิ้งฯ"ผิดเงื่อนไขอื้อ ผิดนัดส่งรายได้ ไม่ติดตั้งเครื่องจัดเก็บค่าจอดรถอัตโนมัติ 2 กก.บริษัทปาร์คกิ้งฯแฉถูกนักการเมืองพรรคร่วม รบ.หลอกให้ลงทุน เล็งฟ้องการท่าฯเลิกสัญญา
ผู้บริหารบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ให้ยกเลิกสัญญาบริษัทปาร์คกิ้ง แมเนจเมนท์ จำกัด ผู้รับสัมปทานพื้นที่ลานจอดรถภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หลังร่วมหารือกับนายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม
โดยนายปิยะพันธ์กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับผู้บริหาร ทอท. ทาง ทอท.จะทำหนังสือเพื่อแจ้งยกเลิกสัญญาและสัญญาทวงหนี้ค้างชำระจากบริษัทปาร์คกิ้งฯ ผู้รับสัมปทานพื้นที่ลานจอดรถภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภายในวันพุธที่ 6 ตุลาคม หลังจากนั้นในวันที่ 11 ตุลาคม ทอท.จะเข้าไปดูแลพื้นที่ที่คืนและในช่วงแรก ทอท.จะเป็นผู้เข้าไปบริหารการจัดเก็บค่าจอดรถเป็นการชั่วคราว ก่อนที่จะเร่งดำเนินการประกวดราคาคัดเลือกเอกชนรายใหม่เข้ามาบริหารจัดการภายใน 90 วัน
นายปิยะพันธ์กล่าวว่า ได้ให้นโยบายกับฝ่ายบริหารของ ทอท.เกี่ยวกับแนวทางยกเลิกสัญญากับบริษัทปาร์กกิ้งฯเพราะทำผิดสัญญาหลายประการ คือ ผิดนัดการนำส่งรายได้ให้ ทอท. ไม่รายงานรายได้ให้กับ ทอท.ได้รับรู้ซึ่งจะต้องดำเนินการทุกวัน รวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้นของบริษัททั้ง 2 กลุ่ม โดยส่งชายฉกรรจ์ชุดดำเข้ามายึดพื้นที่ภายในพื้นที่ลานจอดรถ ซึ่งสร้างความตื่นตกใจให้กับผู้ที่มาใช้บริการ ถือว่าเป็นการสร้างความเสียหายให้กับสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเป็นสนามบินนานาชาติ
"ความจริงคิดเรื่องเลิกสัญญามาตั้งแต่ 2 อาทิตย์ก่อนหน้านี้ที่เข้าไปดูรายละเอียด พบว่ามีการกระทำผิดสัญญาหลายข้อ มีการแจ้งเตือนแล้ว ได้นัดให้มาคุยตกลงกันตั้งแต่วันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมาก็ไม่มา ปัญหาเพราะหุ้นส่วนทะเลาะกันเอง แต่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้รับผลกระทบเสียหาย จึงต้องยกเลิกสัญญา และอาจจะถูกแบล๊คลิสต์ ตัดสิทธิในการเข้าร่วมประมูลรอบใหม่ด้วย" นายปิยะพันธ์กล่าว และว่าประเด็นหลักของการยกเลิกสัญญา คือ บริษัทไม่ปฏิบัติตามสัญญาในการติดตั้งเครื่องจัดเก็บค่าจอดรถอัตโนมัติ จะต้องติดตั้งแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อช่วยในการเช็คยอดจำนวนรถที่ผ่านเข้าออกได้อย่างชัดเจน แต่เบื้องต้นเป็นการกำหนดอัตราขั้นต่ำไว้เท่านั้น ทำให้ ทอท.เสียผลประโยชน์ และตั้งแต่สัญญามีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา บริษัทจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้กับ ทอท.งวดแรกของเดือนเมษายนเพียงงวดเดียว หลังจากนั้นใช้วิธีหักจากเงินค้ำประกัน และบริษัทไม่ได้นำเงินค้ำประกันมาวางเพิ่มอีก
นายปิยะพันธ์กล่าวว่า ขั้นตอนจากนี้ ทอท.จะทำหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาฝ่ายเดียว ในขณะเดียวกันจะมีหนังสือทวงหนี้จากการจัดเก็บค่าจอดรถในช่วงที่ผ่านมา เป็นการส่งหนังสือแจ้งเตือนแบบลงทะเบียนเพื่อให้มีหลักฐานและหลีกเลี่ยงข้ออ้างจากไม่ได้รับเอกสาร จะให้เวลาอีกประมาณ 3 วัน เพื่อให้ขนย้ายบุคลากรออกจากพื้นที่ จากนั้นภายในวันที่ 11 ตุลาคม ทอท.จะดำเนินการเข้ายึดพื้นที่คืน และให้ทาง ทอท.จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปรับผิดชอบในการบริการจัดเก็บค่าจอดรถเป็นการชั่วคราว ก่อนที่จะดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้ามาให้เร็วที่สุดภายใน 60 วัน ไม่เกิน 90 วัน
นายปิยะพันธ์กล่าวว่า ขณะนี้ได้สั่งให้ฝ่ายบริหาร ทอท.ทบทวนร่างทีโออาร์เดิม ให้พิจารณาเรื่องการกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูล การกำหนดกรอบวงเงินและประสบการณ์ที่ผ่านมา เพื่อต้องการคัดเลือกเอกชนที่มีความพร้อมจะเข้ามาดำเนินการ รวมทั้งจะต้องปรับเรื่องการกำหนดเงื่อนไขในการบอกยกเลิกสัญญา เช่น การวางเงินค้ำประกัน หลังถูกหักไปแล้วภายในกี่วันต้องนำเงินการันตีก้อนใหม่มาวาง หรือการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขกำหนดที่จะใช้เป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญาได้ทันที โดยใช้จากกรณีศึกษาในครั้งนี้เพื่อให้สัญญามีความรัดกุมมากขึ้น
ส่วนกรณีที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีกลุ่มผู้มีอิทธิพลคนมีสีหนุนหลังอยู่นั้น นายปิยะพันธ์กล่าวว่า ไม่ทราบว่าเป็นใคร ไม่ได้สนใจ เพราะถือว่าสิ่งที่ได้ทำไปนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งถูกมองเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพลเข้ามาหาผลประโยชน์ทั้งไก๊ด์ผีและแท็กซี่เถื่อน ซึ่งหลายคนบอกว่าเป็นปัญหาที่แก้ได้ยาก หรือมาเตือนว่าอย่าเข้าไปยุ่งเกี่ยว ที่ผ่านมาเข้าไปจัดการและพิสูจน์ให้เห็นแล้ว
วันเดียวกันนี้ นายทรรศ พจนประพันธ์ และนายสุภชัย สถิตวิมล กรรมการบริษัทปาร์คกิ้งฯออกแถลงการณ์ในนามของผู้เสียหาย กรณีที่ร่วมกันทุจริตอาคารที่จอดรถสนามบินสุวรรณภูมิ โดยระบุว่ามีนักการเมืองพรรคร่วมรัฐบาล ใช้ลูกมือคนหนึ่งเข้ามาตั้งบริษัทเพื่อทำหน้าที่เก็บค่าจอดรถที่สนามบินสุวรรณภูมิ แต่ไม่มีเงินลงทุน และไม่มีความสามารถในการทำหนังสือค้ำประกันเพื่อลงนามในสัญญา จึงนำโครงการไปเร่ขายนายทุนและหลอกให้เข้ามาลงทุน
ทั้งนี้ ในเอกสารระบุว่า ทั้งนายทรรศและนายสุภชัยไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่ถูกหลอกให้เข้าไปซื้อหุ้นเพราะมีการสัญญาว่าจะให้เข้าไปเป็นกรรมการบริษัท และบริหารโครงการ ทำให้นายทรรศเสียเงินไปแล้ว 17 ล้านบาท และถูกยืมอีก 20 ล้าน พร้อมกับเงื่อนไขให้นายทรรศเป็นกรรมการที่มีอำนาจลงนาม แต่ไม่เป็นไปตามที่ตกลง เพราะพบว่ามีการปลอมลายเซ็นของนายทรรศ และเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้น รวมทั้งกรรมการผู้มีอำนาจ ซึ่งนายทรรศได้แจ้งความกับตำรวจ เพราะถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย แต่มีนักการเมืองบางคนเข้ามาเรียกร้องค่าวิ่งงานและยุติปัญหาทั้งหมดจากนายทรรศจำนวน 100 ล้านบาท แต่นายทรรศไม่ยินยอม จึงถูกลูกน้องนักการเมืองคนดังกล่าวฟ้องร้องดำเนินคดี และถูกออกหมายจับ
ส่วนนายสุภชัย ซึ่งถูกเร่ขายโครงการได้ไปทำข้อตกลงว่าจะยอมเพิ่มทุนในบริษัทปาร์คกิ้งฯอีก 240 ล้านบาท และเสียเงินไปแล้ว 90 ล้านบาท แต่กลับไม่ได้เข้ามาเป็นเจ้าของกิจการ กระทั่งในเวลาต่อมาได้มีกลุ่มชายฉกรรจ์ได้เข้ายึดสำนักงานและจุดเก็บเงินรวมถึงห้องควบคุมคอมพิวเตอร์
หลังจากที่นายทรรศและนายสุภชัยได้พบกัน จึงรู้ว่าต่างถูกหลอกให้มาลงทุนในโครงการเดียวกัน และที่ผ่านมาการจัดเก็บเงินไม่ได้มาถึงมือของผู้ลงทุนทั้ง 2 และไม่มีการนำส่ง ทอท. ทำให้ ทอท.ไม่ได้รับผลประโยชน์เพราะมีนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐสมรู้ร่วมคิดในการปล่อยให้ใช้กองกำลังเข้ามาคุกคาม จึงขอเรียกร้องไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีให้เข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหานี้โดยเร่งด่วน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงก่อนแถลงข่าวมีสตรีนางหนึ่งอ้างว่าเป็นมารดาของนายทรรศ ระบุว่าถ้า ทอท.ยกเลิกสัญญาก็ต้องมีการดำเนินคดีฟ้องร้อง ทอท. เพราะขณะนี้ถือว่าครอบครัวของตนซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทปาร์คกิ้งฯได้รับความเสียหาย
นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่มีการระบุว่ามีคนในพรรคภูมิใจไทยเข้าไปเกี่ยวข้องในปัญหาของบริษัทปาร์คกิ้งฯนั้น ไม่รู้ในรายละเอียด ซึ่งหากใครมีหลักฐานให้ดำเนินการฟ้องร้องกันไป แต่ตนในฐานะกำกับดูแล ทอท. ยอมไม่ได้ที่ปล่อยให้มีกลุ่มบุคคลเข้ามาปิดอาคารที่จอดรถ จนทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของสนามบินสุวรรณภูมิ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น