วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553
สื่อไทยเกือบบ๊วย!! อันดับ 153 จาก 178
สื่อไทยถูกคุกคามเสรีภาพมากจนติดอันดับโลก แล้ว องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจัดอันดับเสรีภาพสื่อ ไทยร่วงลงมา 23 อันดับ อยู่ที่ 153 จากทั้งหมด 178 ประเทศทั่วโลก แฉเพราะเหตุการสลายม็อบแดง ทำให้มีนักข่าวญี่ปุ่น-อิตาลีถูกยิงตาย 2 ศพ นักข่าวอีก 15 รายบาดเจ็บ ขณะที่ฟินแลนด์เป็นประเทศที่สื่อมีเสรีภาพมากที่สุดในโลก
เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (อาร์เอสเอฟ) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ประกาศยกย่อง 6 ประเทศยุโรปเหนือ ประกอบด้วย 1.ฟินแลนด์ 2.ไอซ์แลนด์ 3.เนเธอร์แลนด์ 4.นอร์เวย์ 5. สวีเดน และ 6.สวิตเซอร์แลนด์ เป็น 6 อันดับ สูงสุดของการจัดอันดับเสรีภาพสื่อทั้งหมด 178 ประเทศ ซึ่งการจัดอันดับเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2002 เพื่อเป็นตัวอย่างการให้เกียรติ และปกป้องสื่อจากการใช้อำนาจมิชอบทางตุลาการ
นอกจากนี้ องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนยังเตือนว่า สหภาพยุโรปยังเสี่ยงที่จะเสียตำแหน่งผู้นำโลกในด้านการเคารพเสรีภาพสื่อ โดยระบุว่าขณะที่ 13 ประเทศจาก 27 ประเทศสมาชิก อียูอยู่ในท็อป 20 แต่อีก 14 ประเทศกลับติดอันดับต่ำมาก เช่น ประเทศอิตาลีอยู่ในอันดับที่ 49 ประเทศโรมาเนียอยู่อันดับที่ 52 และประเทศกรีซอยู่อันดับที่ 70
องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุอีกว่า เสรีภาพของสื่อใน 10 ประเทศ ได้แก่ เกาหลีเหนือ พม่า จีน อิหร่าน รวันดา ซีเรีย เยเมน ซูดาน เติร์กเมนิสถาน และเอริเทรีย ยังคงเลวร้ายอย่างต่อเนื่อง มีการกลั่นแกล้งสื่อ และปิดกั้นข้อมูลข่าวสารกับประชาชน
อาร์เอสเอฟระบุด้วยว่า ความรุนแรงทางการเมืองภายในประเทศ เป็นสาเหตุสำคัญที่ฉุดอันดับเสรีภาพสื่อของบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งตกลงมาถึง 23 อันดับ อยู่ที่อันดับ 153 หลังจากมีนักข่าวต่างชาติ (ญี่ปุ่นและอิตาลี) 2 รายเสียชีวิต และนักข่าวอีก 15 คนได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา
ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ร่วงลงมาถึง 34 อันดับ อยู่ที่อันดับ 156 หลังเหตุสังหารหมู่นักข่าว 30 คนที่ลงพื้นที่หาเสียงพร้อมนักการเมืองในจังหวัดมากินดาเนา ทางตอนใต้ของประเทศ ซึ่งนับเป็นการโจมตีผู้สื่อข่าวที่ร้ายแรงที่สุดในโลก
นายฌอง ฟรองซัว จูลิอาร์ด เลขาธิการอาร์เอสเอฟ เปิดเผยว่า การคุ้มครองเสรีภาพสื่อยังเป็นเรื่องที่ต้องดิ้นรนต่อสู้กันต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และการต่อสู้กับความไม่ยุติธรรมในประเทศเผด็จการ ที่ยังแผ่กระจายอยู่ทั่วโลก ชะตากรรมของนักเคลื่อน ไหวด้านสิทธิมนุษยชน นักข่าว และบล็อกเกอร์ต่างๆ ซึ่งกล้าที่จะปกป้องสิทธิในการแสดงออก เป็นสิ่งที่องค์กรกังวลอยู่เสมอมา
ในขณะที่สื่อฯบางสำนักทางวิทยุ ได้รายงานว่า การจัดอันดับนี้ไม่เป็นธรรมเนื่องจากไปดูเฉพาะเหตุการณ์พิเศษ 19พ.ค. ซึ่งสื่อเห็นว่าเป็นการกระทำที่มีเหตุผลในตัวเอง ไม่ควรนับรวมเป็นสิทธิสื่อตกต่ำ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น