วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เรียกร้องความรับผิดชอบสูงสุด " ชัช ชลวร" ปธ.ศาลรัฐธรรมนูญ ควรลาออก!!

เปิดระเบียบศาล รธน.ประธาน-ตุลาการมี"เอกสิทธิ์"ตั้ง "เลขาฯ" ตามอำเภอใจ?กับ"สปิริต"นัก กม.รางวัลสัญญาฯ


หลังจากที่นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2553 ให้ปลดนายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ออกจากตำแหน่งเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากในคลิปที่พรรคเพื่อไทยอ้างว่า มีการต่อรองเรื่องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ปรากฏภาพของนายพสิษฐ์ กำลังพุดคุยอยู่กับนายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนองพรรคประชาธิปัตย์ ณ ร้านอาหารฟู้ดดี้ หมู่บ้านปูนซิเมนต์ไทย ย่านประชาชื่น รวมทั้งการตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่า เป็นผู้แอบถ่ายคลิปในห้องประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วย ได้เกิดคำถามตามมามากมาย อาทิ


1.นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ เป็นคนของใคร ใครเป็นผู้นำเข้ามาเป็นเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ
2.ทำไมนายพสิษฐ์ถึงมีพฤติกรรมตามที่ปรากฏในคลิป แล/หรือแอบถ่ายคลิปในห้องประชุมตุลาการ มีความสัมพันธ์อะไรกับพรรคเพื่อไทย ทำไมจึงคิดเล่นงานพรรคประชาธิปัตย์(ล่อซื้อ?) โดยเอาอนาคตหน้าที่การงานของตนเองเข้าแลก
3.สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนายพสิษฐ์
ฯลฯ
หลายคำถามอาจค้นหาคำตอบได้ แต่หลายคำถามอาจต้องใช้เวลาหรืออาจเงียบหายไปกับกาลเวลา


ก่อนที่จะตอบคำถามว่า นายพสิษฐ์ เป็นคนของใคร ต้องดูระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการแต่งตั้งเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2551 ว่า ใครเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ


ระเบียบดังกล่าว บังคับตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งระบุว่า "ให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแต่งตั้งเลขานุการตามความประสงค์ของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ จำนวนอัตรา ค่าตอบแทนเป็นรายเดือนและเงินประจำตำแหน่งของเลขานุการ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในบัญชีท้ายระเบียบนี้"(ข้อ6)


จากระเบียบดังกล่าวเห็นชัดว่า การแต่งตั้งนายพสิษฐ์เป็นเลขานุการ เป็นอำนาจหรือ"เอกสิทธิ์"ของนายชัช ชลวรโดยตรง ประกอบกับข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า นายพสิษฐ์ มาเป็นเลขานุการพร้อมกับนายชัชรับตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยดึงตัวมากจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โดยไม่ได้จบกฎหมาย แต่จบมาจากทางด้านกายวิภาคศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต


อย่างไรก็ตามระเบียบดังกล่าวกำหนดคุณสมบัติของเลขานุการฯไว้พอเป็นพิธีเพราะค่อนข้างเปิดกว้าง
ข้อ 7 เลขานุการต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(1 ) มีสัญชาติไทย (2 ) อายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ (3๓) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี หรือมีคุณสมบัติพิเศษหรือประสบการณ์ตามที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นสมควร แล้วแต่กรณี (4 ) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ (5 ) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ ข้าราชการการเมือง หรือข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
เห็นชัดว่า ระเบียบเปิดช่องให้แต่งตั้งบุคคลใดเป็นเลขานุการก็ได้ไม่จำกัดระดับคุณวุฒิการศึกษาโดยอ้างว่า "มีคุณสมบัติหรือประสบการณ์พิเศษ" ตาม ข้อ7(7) ที่ระบุว่า "หรือมีคุณสมบัติพิเศษหรือประสบการณ์ตามที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นสมควร แล้วแต่กรณี"
ส่วนอำนาจหน้าที่นั้น ข้อ 9 ระบุว่า "มีหน้าที่ประสานการปฏิบัติงานในภารกิจที่อยู่ในความรับผิดชอบของประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี การค้นคว้าทางวิชาการเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาวินิจฉัยคำร้อง และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมอบหมาย"


เมื่อประธานหรือตุลาการมีอำนาจแต่งตั้งใครเป็นเลขานุการก็ได้ตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้กว้าง ระเบียบดังกล่าวจึงให้อำนาจประธานหรือตุลาการปลด"เลขานุการ"ได้ตามสะดวกตามข้อ 11(4)
ด้านสถานะของเลขานุการนั้น เป็นเพียงเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อพ้นจากตำแหน่ง(ถูกปลดหรือปรธานหรือตุลาการพ้นจากตำแหน่งก็ต้องไปพร้อมกับเจ้านาย) จึงไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐอีกต่อไป เช่น นายพสิษฐ์ เมื่อถูกปลดออกจากตำแหน่งเลขานุการประธานศาลฯก็ต้องพ้นจากความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไปด้วย หมดสิทธิได้รับค่าตอบแทนและสวัสิดากรต่างๆ เช่น เงินเดือน 42,200 บาท เงินประจำตำแหน่ง 4,900 บาท


จากระเบียบศาลฯและข้อเท็จจริง จึงฟันธงได้อย่างมั่นใจว่า นายพสิษฐ์เป็นบุคคลที่นายชัช ชลวรตั้งมากับมือหรือภาษาชาวบ้านมักเรียกว่า เป็นเด็กของประธานศาลรัฐธรรมนูญ


คำถามต่อมาคือ เมื่อถูกปลดจากตำแหน่งแล้ว สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะดำเนินการอย่างไรกับพสิษฐ์


"มติชนออนไลน์"ได้พยายามตรวจสอบข้อกฎหมายต่างๆ ยังไม่พบว่า จะดำเนินการกับนายพสิษฐ์อย่างไร เพราะเมื่อนายพสิษฐ์พ้นจากความเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ก็ไม่สามารถดำเนินการทางวินัยได้อีกแล้ว


ส่วนในทางอาญา นายพสิษฐ์ไม่มีฐานะเป็น"เจ้าพนักงาน" ดังนั้นจะไปพูดคุยอะไร อย่างไรกับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ว่า จะช่วยเหลือคดียุบพรรค ก็ไม่น่าจะเข้าข่ายความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มตรา 157 หรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดพนักงานองค์การของรัฐ พ.ศ.2502


สำหรับการถ่ายคลิปในห้องประชุมตุลการแล้วนำมาเผยแพร่ ยังไม่มีการพิสูจน์ว่า ใครเป็นผู้กระทำ แม้พิสูจน์ได้ว่า นายพิสิษฐ์ เป็นผู้กระทำ ก็ยังไม่น่ว่า จะดำเนินคดีอาญาได้หรือไม่ ด้วยกฎหมายอะไร


ถ้าเช่นนั้นแล้ว นายชัช ชลวร ในฐานะ"ลูกพี่"ที่กระเตงนายพสิษฐ์เข้ามา ต้องรับผิดชอบอย่างไร แค่ปลดนายพสิษฐ์แล้วลอยตัวหนีปัญหาเพียงพอแล้วหรือ


เพราะอย่างน้อยที่สุดสาธารณชนตั้งข้อสงสัยว่า นายชัชมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการต่อรองในร้านอาหารฟู้ดดี้หรือไม่ จะตัดสินคดียุบพรรคด้วยความเที่ยงธรรมหรือไม่


ดังนั้น ระดับความรับผิดชอบของนายชัชควรอยู่ในระดับใด


ถ้าเอาระดับสูงสุด ควรลาออกจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ระดับรองลงมา ควรลาออกจากตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังเป็นตุลการศ่าลรัฐธรรมนูญ
ระดับต่ำสุด ควรถอนตัวจากคดียุบพรรค


หรือ ถ้าไม่ยอมแสดงความรับผิดชอบในระดับใดๆก็อาจจะเกิดคำถามขึ้นว่า การประพฤติตนเช่นนี้เหมาะสมแล้วหรือกับนักกฎหมายดีเด่นรางวัลศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์


ขอบคุณ มติชนออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: