เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นำโดยนายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์นัดไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกร้องนัด 2 ในคำร้องที่นายทะเบียนพรรคการเมืองในฐานะผู้ร้องขอให้ศาลวินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง จำนวน 29 ล้านบาท ผิดวัตถุประสงค์ โดยมีพยานฝ่ายผู้ถูกร้องเข้าเบิกความ 4 ปาก ประกอบด้วย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้า ปชป. นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อดีตเลขาธิการ ปชป. นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรองเลขาธิการ ปชป. นายประพร เอกอุรุ ส.ส.สงขลา ปชป.
การไต่สวนพยานนัดนี้ มีทีมกฎหมาย ปชป.นำโดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษา ปชป. ในฐานะหัวหน้าทีมต่อสู้คดียุบ ปชป. นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความประจำ ปชป. นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.สัดส่วน นายวิรัช ร่มเย็น ส.ส.ระนอง และนายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองเลขาธิการ ปชป. ขณะที่ฝ่ายผู้ร้องของ กกต.นำโดยนายกิตินันท์ ธัชประมุข อัยการคดีพิเศษ ฝ่ายสำนักคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ผู้รับมอบฉันทะจากนายทะเบียนพรรคการเมืองทำหน้าที่ซักค้านพยาน นอกจากนี้นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยได้เข้าร่วมฟังการพิจารณาคดีด้วย
ทั้งนี้ นายบัญญัติ เบิกความต่อศาลถึงคำให้การของ น.ส.วาศิณี ทองเจือ ผู้บริหารแมคเนท ชายน์ จำกัด ในฐานะพยานฝ่ายผู้ร้อง ที่ระบุถึงการจัดส่งป้ายไปตามสาขาพรรคทั่วประเทศส่วนใหญ่จัดส่งไปในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2547 ทั้งที่การขออนุมัติเงินจากกกต.ต้องนับตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 ว่า น.ส.วาศิณีเป็นพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือน้อยที่สุด เพราะให้การขัดแย้งกับนายสุชาติ เกิดเมฆ หรือเป๋ โปสเตอร์ ผู้บริหารบริษัท เกิดเมฆ แอ๊ดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด เพราะโดยวิสัยของ ปชป.ไม่น่าปล่อยให้คนที่ไม่มีหัวนอนปลายเท้ามาของานทำแล้วเสนอราคาถูกด้วยซ้ำ แต่ได้รู้ว่า ตู้เซฟอยู่ตรงไหนคิดว่า การทำบันทึกของ น.ส.วาศิณีน่าจะทำภายหลังและเป็นบันทึกที่เป็นความเท็จ
"เข้าใจว่ามีการปรึกษาหารือใกล้ชิดกับพ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันตชัย อดีตหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีไซฟ่อนเงินจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน)ทำผิดกฎหมายหลักทรัพย์ฯ แทนที่จะสนใจคดีดังกล่าวแต่กลับมาสนใจพรรคประชาธิปัตย์มาก นี่คือเจตนาชัดเจน และการให้ถ้อยคำของนางวราภรณ์ ณ ป้อมเพชร ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบระบบบัญชีการเงินและทรัพย์สินของ กกต.เคยบอกว่าพ.ต.อ.สุชาติ รู้เรื่องนี้ดีที่สุด และนางวราภรณ์กับน.ส.วาศิณีได้มีการติดต่อประสานงานกัน น่าจะเกิดจากการสมคบคิดของ 3 คนนี้"นายบัญญัติ กล่าว และว่า พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่กกต.ก็แสดงออกปฏิปักษ์ต่อ ปชป. โดยมีเหตุ 2 ประการคือ 1.ถูกกดดันจากฝ่ายการเมืองที่เสื้อแดงบุกมา กกต.ประกาศว่าไม่ยุบ ปชป.จะยุบชีวิต กกต. และ2.มีมูลเหตุที่พรรคเคยฟ้อง กกต.จนติดคุก อาจทำให้เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจให้ข้าราชการบางส่วนซึ่งเป็นส่วนน้อย
จากนั้นนายประดิษฐ์ เบิกความว่า นายธงชัย คลศรีชัย ที่เป็นญาติ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ปชป. และตนไม่ได้เรียกนายธงชัยหรือชักชวนมาร่วมงานพรรค แต่นายธงชัยมาช่วยเพราะเคยเป็นยุวประชาธิปัตย์ และไม่เคยมีห้องทำงานหรือโต๊ะทำงาน รวมทั้งไม่ได้มอบหมายงานการทำป้ายให้นายธงชัย เพราะงานดังกล่าวมอบให้นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองเลขาธิการปชป. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานยุทธศาสตร์ด้านการประชาสัมพันธ์ของพรรคเป็นผู้ดำเนินการ
นายประดิษฐ์ กล่าว่า ส่วน ส.ต.อ.ทชภณ พรหมจันทร์ พยานฝ่ายผู้ร้องที่ยื่นเรื่องคดีไซฟ่อนมายังดีเอสไอนั้น ทราบว่า ส.ต.อ.ทชภณ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นนายอานนท์ พรหมจันทร์ ในภายหลังและทำงานที่บริษัท เดอะมอลล์ฯในปี 2540 ส.ต.อ.ทชภณ อ้างว่า รู้จักบิดาตนคือ นายวิสาร ภัทรประสิทธิ์ ที่เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2530 ดังนั้น 10 ปีที่บิดาเสียชีวิตแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่รู้จัก ส.ต.อ.ทชภณ ซึ่งทราบข่าวว่า ส.ต.อ.ทชภณ ได้สร้างปัญหาให้บริษัทใส่ร้ายป้ายสีผู้บังคับบัญชา ในที่สุดมีการตั้งคณะกรรมกาตรวจสอบโดยมีผลว่า ส.ต.อ.ทชภณ ได้กล่าวเท็จใส่ร้ายป้ายสีผู้บังคับบัญชา จึงให้พักงาน 7 วัน แต่ ส.ต.อ.ทชภณ ไม่ยอมรับและลาออกจากบริษัท หลังจากนั้นจึงทราบว่า ส.ต.อ.ทชภณ ได้โกรธแค้นครอบครัวตนมาก ก่อนจะออกได้ทำความวุ่นวายและมีคำพูดว่าจะล้างแค้นครอบครัวตนด้วย
ต่อมา นายนิพนธ์ บุญญามณี เบิกความยืนยันว่า ไม่เคยสั่งให้นายประจวบ สังขาว โอนเงินให้กับคนของ ปชป. และไม่เคยได้รับเงินกับนายประจวบ ที่เป็นเงินของบริษัท ทีพีไอฯ ตั้งแต่เกิดเรื่อง ทางดีเอสไอ ก็ไม่เคยเรียกไปสอบถามข้อเท็จจริง แต่กลับใช้วิธีการตรวจสอบบัญชีธนาคาร เพื่อจะดูว่าตนได้รับการโอนเงินเข้าบัญชีหรือไม่ แต่ก็ไม่พบสาเหตุที่เข้าไปเกี่ยวข้องเพราะดีเอสไอและ กกต.บอกว่าพบมีการโอนเงินจากบริษัทเมชไซอะฯ เข้าบัญชี นางมาลี ปัญญาลักษณ์ น้องสาวตนที่ไปทำสัญญาร่วมกับนายประจวบ ในการทำโฆษณาของบริษัททีพีไอฯ โดยได้ค่าจ้างประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งแม้จะมีการพบว่าสัญญาว่าจ้างดังกล่าวมีการว่าจ้างในช่วง 30 ธันวาคม 2547-25 มกราคม 2548 และในเอกสารบอกว่า เมซไซอะฯ จะจ่ายเงินให้ล่วงหน้า 40 %แต่จริงๆ แล้วไม่ได้มีการโอนให้จริง เพราะเงินทั้งหมดมาโอนให้วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2548
นายประพร เอกอุรุ เบิกความเป็นพยานปากสุดท้ายว่า สาเหตุที่เข้าไปเกี่ยวข้องเพราะมีการเปิดเผยว่า มีการโอนเงินจากนายประจวบ เข้าบัญชีนางอาภรณ์ เอกอุรุ น้องสาว จนฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจว่าเป็นการรับโอนเงินบริษัททีพีไอฯให้พรรค ทั้งที่นายสมศักดิ์ เอกอุรุ ลูกพี่ลูกน้อง ไปรับทำงานโฆษณาให้บริษัททีพีไอฯ โดยรับงานจัดงานสัมมนาที่ โรงแรมสมิหลา บีช ที่จ.สงขลา ซึ่งน้องสาวตนได้ไปช่วยงาน จึงมีการจ่ายเงินค่าจ้าง และการร่วมงานกันครั้งนั้นก็เป็นเรื่องที่นางอาภรณ์ และนายสมศักดิ์ไปดำเนินการเอง ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งมีหลักฐานการจัดสัมมนาของโรงแรมมายืนยันได้
เมื่อเสร็จสิ้นการไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกร้องเกือบ 3 ชั่วโมง ศาลได้อ่านรายงานกระบวนวิธีพิจารณาคดี พร้อมนัดไต่สวนพยานฝ่ายผู้ถูกร้องนัดที่ 3 จำนวน 5 ปาก ในเวลา 10.00 น. วันที่ 11 ตุลาคม ประกอบด้วย นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองเลขาธิการ ปชป. นางอาภรณ์ รองเงิน สมุห์บัญชีเลือกตั้งปี 2548 นางอรุณี รวยสูงนูน ผู้ตรวจสอบบัญชีพ ปชป. นายคมสัน โพธิ์คง อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 และนายอิศระ หลิมศิริวงษ์ ประธานอนุกรรมการของ กกต.
นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา และหนึ่งในคณะทำงานด้านกฎหมายต่อสู้คดียุบ ปชป. กล่าวถึงกรณีนายธาริต เป็นพยานในการต่อสู้คดียุบพรรคว่า ยังไม่เคยเห็นคำให้การ แต่เท่าที่ทราบเป็นข้อเท็จจริงที่ตรงกับพรรคที่มีข้อมูลอยู่ว่า ดีเอสไอในตอนนั้นรับใช้ระบอบทักษิณ ซึ่งต้องการยุบ ปชป.ให้ได้ จึงเชื่อว่าเป็นผลดีต่อรูปคดี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น