วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2557

เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี หนุนเลือกตั้งไทย ชี้ ประท้วงไทย-บังกลาเทศ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง



วันที่ 6 มกราคม 2557 go6TV - นายอิชาล สุเพรียดี ผู้อำนวยการเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (Asian Network for Free Election หรือ ANFREL) ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ควรเปรียบเทียบกรณีการประท้วงคัดค้านการเลือกตั้งในประเทศบังกลาเทศ กับการประท้วงคัดค้านการเลือกตั้งในประเทศไทยของกลุ่ม กปปส. เนื่องจากทั้งสองเหตุการณ์มีลักษณะเป็น แฝดคนละฝาคือถึงแม้ผู้ประท้วงเรียกร้องให้เลื่อนหรือล้มเลิกการเลือกตั้งคล้ายๆกัน แต่บริบทและภูมิหลังของปัญหาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

นายอิชาล กล่าวว่า ในกรณีของบังกลาเทศ รัฐบาลบังกลาเทศภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีชัค ฮาซินา ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแพร่หลาย ทั้งจับกุมนักเคลื่อนไหว ปิดกั้นเสรีภาพสื่อ และใช้กำลังปราบปรามฝ่ายตรงข้าม นอกจากนี้รัฐบาลของนางฮาซินายังใช้กลไกนอกรัฐธรรมนูญ บิดเบือนให้ตนได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งนี้ ฝ่ายผู้ประท้วงจึงเรียกร้องให้เลื่อนการเลือกตั้ง และให้มีรัฐบาลเฉพาะกาลที่เป็นกลาง เพื่อจะได้จัดการเลือกตั้งที่โปร่งใสและยอมรับโดยทุกฝ่าย

 “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบังกลาเทศ เป็นปัญหามานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเริ่มมีนายอิชาลกล่าว

นายอิชาล ยังระบุว่า การประท้วงในประเทศบังกลาเทศนั้นขนาดใหญ่มาก มีการเคลื่อนไหวในแทบทุกจังหวัด มีกลุ่มการเมืองใหญ่ๆให้การสนับสนุน อย่างพรรคชาตินิยมบังกลาเทศ (บีเอ็นพี) ซึ่งเป็นพรรคที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ต่างจากกรณีของประเทศไทย ที่ไม่ใช่การเคลื่อนไหวของคนทั้งหมด อีกทั้งผลการเลือกตั้งและสถิติก็ชี้ชัดว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช่เสียงสะท้อนของคนไทยทั้งประเทศ

ทั้งนี้ นายอิชาลกล่าวด้วยว่า ทราบว่าผู้ประท้วงในไทย และตนก็ต้องการเห็นการปฏิรูปในประเทศไทยเพื่อให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรมในสังคมมากขึ้น แต่การปฏิรูปก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตามระบอบประชาธิปไตย ไม่เช่นนั้นก็จะยิ่งวุ่นวาย เพราะต่างฝ่ายก็ต้องการผลักดันข้อเรียกร้องของตนโดยไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์ ดังนั้น ตนจึงไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของกลุ่ม กปปส. ที่จะให้แต่งตั้ง สภาประชาชนเนื่องจากไม่ได้เป็นวิถีปฏิบัติสากล 

เราไม่ทราบได้เลยว่ากลุ่ม กปปส.จะกระทำการปฏิรูปตามที่รับปากไว้ และไม่มีกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนเลยว่าการปฏิรูปนี้จะใช้เวลาเท่าใดกันแน่นายอิชาลกล่าว พร้อมตั้งคำถามว่า ถ้าหากมีกลุ่มต่อต้านการปฏิรูปของกปปส. ทางกลุ่มกปปส.จะยอมรับหรือไม่

ผู้อำนวยการเครือข่ายเอเชียฯ กล่าวอีกว่า ตนหวังว่าจะได้เห็นการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. เพราะการเลือกตั้งเป็นเวทีแก้ไขปัญหาและความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ยอมรับว่ายังไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยก่อนถึงวันเลือกตั้ง เพราะขณะนี้สถานการณ์ในไทยคาดคะเนได้ยาก

นอกจากนี้ นายอิชาลย้ำว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นอย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกันก็ควรเปิดการเจรจากับรัฐบาลอย่างสันติด้วย ซึ่งตนก็ได้ทราบมาว่า รัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ประกาศตั้งสภาปฏิรูปการเมืองแล้ว ตนไม่แน่ใจว่าจะได้ผลมากน้อยเพียงใด แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีสำหรับกลุ่ม กปปส.ที่จะพิจารณาเข้าร่วมเวทีการปฏิรูปนี้ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี เคยออกแถลงการณ์ 2 ฉบับเมื่อปลายเดือนธ.ค. 2556 โดยฉบับหนึ่งมีเนื้อหาคัดค้านการเลือกตั้งในบังกลาเทศ เพราะไม่เชื่อว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างโปร่งใสและชอบธรรม ขณะที่อีกฉบับหนึ่ง ทางเครือข่ายสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในประเทศไทยในวันที่ 2 ก.พ. พร้อมเรียกร้องให้กลุ่ม กปปส. ยุติการขัดขวางการเลือกตั้ง และให้ยึดเวทีการเลือกตั้งเป็นเครื่องตัดสิน โดยกลุ่ม กปปส. อาจจะเลือกโนโหวตเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่กลุ่ม กปปส. ไม่มีสิทธิ์ห้ามมิให้ผู้อื่นไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

นายอิชาลระบุว่า แถลงการณ์ทั้ง 2 ฉบับที่มีเนื้อหาแตกต่างกัน แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ในบังกลาเทศกับประเทศไทย แตกต่างกันมาก ไม่ควรเปรียบเทียบกัน

ไม่มีความคิดเห็น: