วันที่ 8 มกราคม 2556 go6TV – ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
เมื่อวันที่ 7 ม.ค. (วานนี้) จากกรณีรายการโทรทัศน์ทางช่อง 3 ของนายสรยุทธ
สุทัศนจินดา เชิญ นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ
ที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการชุมนุมที่มีแนวโน้มรุนแรง และสนับสนุนการเลือกตั้ง 2
ก.พ. กับนายอนันต์ เหล่าเลิศวรกุล อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กลุ่มจุฬาเชิดชูคุณธรรม
ที่เคลื่อนไหวร่วมกับกปปส.และจะร่วมปิดกรุงเทพในวันที่ 13 ม.ค.
มาออกรายการพร้อมกัน โดยสองอาจารย์ได้แสดงทรรศนะและแนวคิดที่แตกต่างกัน ออกอากาศ 2 วันติดต่อกันเมื่อวันที่ 6 และ 7
ม.ค.
ต่อมา นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Pornson Liengboonlertchai (http://www.facebook.com/pornson.liengboonlertchai)
ถึง ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ ดังนี้
เรียน ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
ผมได้ดูอาจารย์ในรายการคุณสรยุทธเมื่อวานนี้ อาจารย์ได้พูดถึงเรื่องการปฏิรูปการเมือง
ผมคิดว่ามีหลายประเด็นที่คงถกเถียงกันได้ในเชิงวิชาการ
แต่ประเด็นหนึ่งที่ผมยอมรับไม่ได้เลยคือ
การที่อาจารย์กล่าวหาด้วยการเชื่อมโยงในเชิงทำนองที่ว่าคนไทย (บางส่วน)
ไม่มีความรู้เพราะคุณภาพการศึกษาไม่ดี การเลือกตั้งโดยให้สิทธิ 1 คน 1 เสียง
มันจึงไม่เหมาะสม นี่ถือเป็นการดูถูกคนไทย (บางส่วน)
คุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย หลายๆ
ท่านไม่มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนเหมือนกับอาจารย์ที่จบ ดร.
แสดงว่าเขาไม่มีสิทธิไปเลือกตั้ง
หรือไม่ควรได้สิทธิเท่าเทียมกันกับอาจารย์หรือครับ เพราะเขาไม่มีความรู้
หรืออาจได้รับความรู้ที่ไม่มีคุณภาพ
นี่คือความคิดที่สะท้อนให้เห็นถึงการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity) ความคิดแบบนี้แหละครับบั่นทอนระบอบประชาธิปไตย
เพราะความเสมอภาคจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยในสังคม เพราะคุณมอง
"คนไม่ใช่คน"
พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
และต่อมาได้โพสต์อีกข้อความผ่านเฟซบุ๊กเดียวกันดังนี้
เรียน ดร.อนันต์
เหล่าเลิศวรกุล คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ อีกครั้ง
ผมได้ดูสิ่งที่อาจารย์ได้อธิบายในรายการคุณสรยุทธวันนี้
อาจารย์อธิบายมาเยอะแยะมากมายถึงความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล (ทั้งรัฐบาลชุดนี้และชุดอื่นๆ)
จึงต้องออกมาขับไล่ด้วยวิธีการของ กปปส. แบบนี้
ด้วยความเคารพนะครับอาจารย์ อาจารย์ทราบไหมครับว่า
"ความชอบธรรม" (Legitimacy) นอกจากที่เขาจะใช้กับ "ตัวรัฐ"
ในฐานะของผู้ใช้อำนาจแล้ว เขาก็ยังใช้กับ "ตัวผู้ตรวจสอบการใช้อำนาจ"
อย่างอาจารย์ด้วย
กล่าวคือ
ตัวผู้ตรวจสอบการใช้อำนาจเองก็พึงต้องมีความชอบธรรมในการเข้าไปตรวจสอบอันหมายถึง
ต้องใช้วิธีการที่เป็นไปตามครรลองของระบอบเสรีประชาธิปไตยอันได้แก่การมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งประเทศ
(ตามหลักประชาธิปไตย) และตามกรอบตัวบทกฎหมาย เช่น รัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ
(ตามหลักนิติธรรม) ด้วยนั่นเอง
อย่าประพฤติปฏิบัติตนเฉกเช่นสุภาษิตที่ว่า "มือถือสาก
ปากถือศีล" คือ ไปด่าว่าผู้ใช้อำนาจว่าใช้อำนาจตามอำเภอใจ
แต่ตนเองกลับเข้าไปตรวจสอบเขาโดยวิธีการตามอำเภอใจเสียเองโดยไม่ยึดตามหลักประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม
เพราะนั่นก็คือการตรวจสอบเขาแบบไม่ชอบธรรม (illegitimate) อันถือได้ว่าอาจารย์กำลังด่าตัวเองอยู่เหมือนกันครับผม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น