วันที่ 21 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า
ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ โพสต์เฟซบุ๊ก
http://www.facebook.com/jessada.denduangboripant
เขียนข้อความและเนื้อหาร่างพิมพ์เขียว
ร่างแถลงการณ์กลุ่มขั้วที่ 3 มีเนื้อหาเสนอทางออก คลี่คลายวิกฤตการเมืองของไทย
มีเนื้อหาดังนี้
โพสต์โหวต "ร่าง แถลงการณ์กลุ่มขั้วที่
3" เปิดโหวตจนถึงเทียงวัน วันพฤหัสบดีที่ 23 นี้เท่านั้น
โปรดอ่านเนื้อหาโดยละเอียดและพิจารณา ก่อนจะกด Like หรือเขียนวิจารณ์ครับ
ถ้าเห็นด้วยกับร่างแถลงการณ์ โปรดกด Like ถ้าไม่เห็นด้วยกับร่างแถลงการณ์
โปรดพิมพ์ No ครับ
ถ้ามีผู้สนับสนุนเป็นจำนวนมากเพียงพอ
และมีผู้ที่คัดค้านอยู่จำนวนไม่มาก
ผมขอเป็นตัวแทนนำเสนอเอกสารเป็นแถลงการณ์ฉบับจริง แก่สื่อมวลชนในวันศุกร์นะครับ
(ร่าง) แถลงการณ์กลุ่ม “ขั้วที่
3 คัดค้านความรุนแรง”
พิมพ์เขียว “ถอยคนละก้าว
win-win ทุกฝ่าย ปฏิรูปอย่างสันติ”
จากสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่ดำเนินมากว่า
2 เดือนและดำรงอยู่ในขณะนี้ อันเกิดจากความขัดแย้งอย่างยิ่งระหว่างฝ่ายรัฐบาลที่จะยังคงปฏิบัติงานต่อไปตามอำนาจที่ระบุไว้ในข้อกฎหมายโดยยึดมั่นในหลักการนิติรัฐและฝ่าย
กปปส.
ที่เรียกร้องให้รัฐบาลออกจากอำนาจและดำเนินการปฏิรูปสังคมให้มีจริยธรรมทางการเมืองมากขึ้นตามแนวทางนิติธรรมความขัดแย้งนี้ได้นำไปสู่ความบาดหมางเกลียดชังกันของผู้คนในชาติ
เกิดความเสียหายตามมาอย่างมหาศาลต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
อีกทั้งยังก่อให้เกิดความรุนแรง มีการบาดเจ็บล้มตาย
เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวไทย
จนอาจถึงขั้นเกิดการปะทะกันนองเลือดขึ้นได้จากทั้ง 2 ขั้วฝั่งที่ยังคงไม่ลดราวาศอกกันอยู่เช่นนี้
กลุ่ม “ขั้วที่
3 คัดค้านความรุนแรง” ซึ่งเป็นกลุ่มของประชาชนคนธรรมดา
ที่มีทั้งผู้ที่สนับสนุนและผู้ที่คัดค้านแนวคิดของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่าย กปปส.
แต่มุ่งหวังจะเห็นความสงบสันติเกิดขึ้นในประเทศ
หวังจะเห็นการต่อสู้กันทางการเมืองด้วยวิธีการที่เป็นประชาธิปไตย
หวังที่จะเห็นคนไทยสามารถอยู่ร่วมกันได้ในผืนแผ่นดินเดียวกัน
แม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน จึงขอเสนอตัวเป็นคนกลางในการที่จะดึงให้ทั้ง 2
ฝ่ายกลับมาสู่เวทีเจรจากันอีกครั้ง
เพื่อหาทางออกให้กับแผ่นดินไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเราทุกคน
กลุ่มขั้วที่ 3 ขอเสนอให้ทั้ง 2
ฝ่ายกรุณาเปิดใจศึกษาแนวทางในการเจรจาระหว่างกัน ตามร่างพิมพ์เขียว “ถอยคนละก้าว
win-win ทุกฝ่าย ปฏิรูปอย่างสันติ” ดังข้างล่างนี้
และพิจารณาความเป็นไปได้ก่อนที่จะเปิดการเจรจา หาแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อไป
โดยอยู่บนพื้นฐานของการยอม “ลด” ระดับข้อเรียกร้องของฝ่ายตนเองลงและพยายาม
“ให้” ในสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามเรียกร้องบ้าง
เพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ตึงเครียดน้อยลงและนำไปสู่เส้นทางที่จะทำให้เกิด “การปฏิรูป” ทางการเมืองขึ้นได้จริง
โดยไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง เกลียดชังกัน หรือบาดเจ็บล้มตายกันอีก
ร่างพิมพ์เขียว “ถอยคนละก้าว
win-win ทุกฝ่าย ปฏิรูปอย่างสันติ” มีเป้าหมายโดยสรุปคือ
“ดำเนินการให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันจัดการเลือกตั้งในวันที่
2 กุมภาพันธ์ 2557 นี้ให้สำเร็จ แล้วจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชั่วคราวร่วมกันจากคนนอก
เพื่อดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรมในเวลาอันสั้นเพียงไม่เกิน 1 ปี
ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558” โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.
ขอให้รัฐบาลลดการข่มขู่คุกคามกล่าวหาแกนนำและผู้ชุมนุม โดยขอให้ ฯพณฯท่าน
นายกรัฐมนตรี ลาพักราชการเป็นการชั่วคราว และให้รองนายกรัฐมนตรีที่พอจะเป็นที่ยอมรับของสังคมได้ดำเนินการรักษาการแทนไปก่อน
จนกว่าการเลือกตั้งจะแล้วเสร็จ เพื่อแสดงความจริงใจในการร่วมแก้ปัญหาครั้งนี้
2. ขอให้ทางกลุ่ม กปปส. ลดระดับการปิดกรุงเทพฯ
และระงับการปิดหน่วยงานราชการต่างๆ รวมทั้งการขัดขวางกระบวนการรับสมัครและการลงคะแนนเลือกตั้ง
แต่ยังสามารถใช้สิทธิของตนเองได้อย่างเต็มที่ในการแสดงออกทางการเมืองอย่างสงบปราศจากอาวุธ
โดยเสนอให้ใช้พื้นที่สาธารณะ ดังเช่น ท้องสนามหลวง เป็นเวทีใหญ่ในการชุมนุมต่อไป
3. ขอให้การเลือกตั้งที่กำหนดไว้ในวันที่ 2
กุมภาพันธ์นี้ได้เกิดขึ้นโดยสงบสันติปราศจากการคุกคามใดๆ
ตามพระราชโองการโปรดเกล้าให้พลเมืองทุกคนไปปฏิบัติหน้าที่ของตนเองตามรัฐธรรมนูญ
โดยให้ถือการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งเชิงสัญลักษณ์
ผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลก็ให้ไปโหวตเลือกพรรคร่วมรัฐบาล
ผู้ที่คัดค้านรัฐบาลก็ให้ไปโหวตเลือกพรรคร่วมฝ่ายค้าน ผู้ที่สนับสนุน กปปส.
หรือพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งไม่ได้ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งนั้น ก็ขอให้รณรงค์กันไปโหวต
“No” แทน
เพื่อเป็นภาพสะท้อนว่ามีคนจำนวนมากที่ไม่ได้เห็นด้วยกับรัฐบาลในนโยบายต่างๆ
ที่เคยทำมา
4. เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้ว
ขอให้พรรคการเมืองทุกพรรคที่ได้รับการเลือกตั้ง รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์และ กปปส.
ได้มาทำสัตยาบัญร่วมกัน ในการที่จะจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เป็นการชั่วคราว
เพื่อดำเนินการปฏิรูปการเมืองให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ก่อนที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ในอีก
1 ปีถัดจากนี้ไป เช่น ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558
5.
ขอให้สภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับการเลือกตั้งมาใหม่นี้ ดำเนินการเลือก ส.ส.
ที่มาจากพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงโหวตสูงสุด
เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลชั่วคราว ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดและตามจารีตทางการเมืองที่เคยกระทำมา
โดย ส.ส. ผู้นั้น ขอให้ไม่ใช่เครือญาติของ ฯพณฯท่าน อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.
ทักษิณ ชินวัตร เพื่อลดข้อครหาและความรุนแรงทางการเมืองลง
6. ขอให้นายกรัฐมนตรีท่านใหม่
ร่วมกับตัวแทนของพรรคการเมืองทุกพรรคในสภาฯ รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์และ กปปส. ดำเนินการสรรหาคณะรัฐมนตรีร่วมกัน
โดยรัฐมนตรีใหม่ทุกท่านจะต้องมาจากบุคคลภายนอกที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใดๆ
มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ
ประวัติและความชำนาญในการทำงานเป็นที่ยอมรับว่าเหมาะสมกับตำแหน่งในกระทรวงนั้นๆ
และให้มีหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานของกระทรวงตามแผนและนโยบายระยะยาวของกระทรวง
ไม่ใช่การมาเสนอหรือผลักดันนโยบายใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ของตนเอง
7. ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันออก พรบ.
นิรโทษกรรม (3 วาระรวด) ให้กับแกนนำและผู้ที่มาร่วมชุมนุมทางการเมืองทั้งหมด
ยกเว้นในกรณีของการกระทำผิดกฏหมายอาญาที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของผู้อื่น
เพื่อให้เกิดบรรยากาศการปรองดองร่วมกันในการหาทางออกของประเทศครั้งนี้
8. ขอให้สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา
ร่วมกันตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษ เพื่อทำหน้าที่ปฏิรูปการเมืองโดยเฉพาะ
โดยให้มีทั้งตัวแทน ส.ส. และ ส.ว. รวมทั้งตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กปปส.
และนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้
ซึ่งการปฏิรูปทางการเมืองนี้ให้นำเอกสารที่ได้เคยมีการจัดทำไว้แล้วในอดีต เช่น
ของคุณหมอประเวท ของท่านอานันท์ และของอาจารย์คณิต มาพิจารณาได้เลย
โดยไม่ต้องเสียเวลาและงบประมาณในการจัดทำใหม่อีกครั้ง
9.
ขอให้การทำงานของคณะกรรมาธิการร่วมปฏิรูปการเมืองนี้ดำเนินการโดยเร็ว
และมีแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมออกมาภายใน 2-3 เดือน ว่าจะมีการแก้ไขกฎหมาย
กฎระเบียบ หรือแม้แต่รัฐธรรมนูญข้อใดบ้าง
ก่อนที่นำมาลงมติในทั้งสองสภาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
10. ขอให้นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลแห่งชาติ
ดำเนินการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกตั้งใหม่ โดยควรที่จะเป็นวันที่ 2 กุมภาพันธ์
2558 หรือวันที่ใกล้เคียง หลังจากนั้นแล้ว
ให้ทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นโดยดุษฎี
ไม่มีการออกมาเรียกร้องให้ล้มผลการเลือกตั้งอีก เพื่อให้รัฐบาลใหม่ได้ทำงานตามนโยบายที่ตนได้หาเสียงไว้อย่างเหมาะสม
ตามระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง
เวทีที่เป็นกลางในการเจรจากันระหว่างแกนนำทั้ง2
ฝ่ายนั้น ทางตัวแทนของกลุ่ม “ขั้วที่ 3 คัดค้านความรุนแรง” คือ
รองศาสตราจารย์ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ในฐานะของกรรมการสภามหาวิทยาลัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเภทเลือกตั้งจากคณาจารย์ประจำ
ยินดีที่จะประสานงานให้ใช้ห้องประชุมสารนิเทศ
ของหอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยหวังที่จะทำให้เกิดการจัดทำ “ปฏิญญา” ร่วมกัน
ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่เป็นเสาหลักเสาหนึ่งของแผ่นดิน
ในที่สุด
ร่างพิมพ์เขียวดังกล่าวข้างต้นนี้ กลุ่ม “ขั้วที่
3 คัดค้านความรุนแรง” ยอมรับว่าอาจจะไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุดและเป็นที่ยอมรับจากทั้ง
2 ขั้วฝ่าย
แต่หวังว่าจะเป็นร่างตุ๊กตาที่เป็นรูปธรรมเพียงพอที่จะให้สามารถนำมาพิจารณาและเป็นแนวทางเริ่มต้นในการเจรจากันได้เพื่อที่ประเทศชาติของเราจะยังดำคงอยู่อย่างสงบสันติ
และเพื่อไม่ให้ลูกหลานไทยของเราจะต้องเกิดและมีชีวิตอยู่ในสังคมที่เกลียดชังกันและนองเลือดกันเช่นนี้อีกต่อไป
กลุ่ม “ขั้วที่
3 คัดค้านความรุนแรง”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น