วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2557

เห็นด้วย หรือ ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ก็ต้องออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง


วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2557

เราควรออกไปเลือกตั้งหรือไม่

                   เมื่อการเลือกตั้งทำท่าว่าจะมีขึ้นแน่ ๆ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ คำถามที่มีคนถามอยู่เป็นประจำก็คือ แล้วประชาชนทุกฝ่ายควรจะทำอย่างไร  ควรออกไปเลือกตั้ง หรือควรอยู่เฉย ๆ ไม่ออกไปเลือกตั้ง

                   มีคนส่งข้อความใน social media ชักชวนให้ทุกคนไม่ออกไปเลือกตั้งเพื่อว่าถ้ามีคนออกไปเลือกตั้งไม่ถึงร้อยละ 50 แล้วจะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

                   คนที่ส่งข้อความนั้นจะมีเจตนาอย่างไรไม่ทราบ แต่ความเข้าใจนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะถึงจะมีคนไปเลือกเพียงร้อยละ 10 การเลือกตั้งนั้นก็ไม่เป็นโมฆะ เพราะกฎหมายให้นับแต่เฉพาะคะแนนของคนที่ไปลง ไม่ได้นับคนที่ไม่ไปใช้สิทธิ์

                   สมมุติว่าในเขตเลือกตั้งหนึ่ง มีผู้มีสิทธิลงคะแนนจำนวน 100,000 คน มีผู้สมัคร 2 คน  ในวันเลือกตั้ง ทั้งเขตมีคนไปลงคะแนนเพียง 10 คน  นาย ก. ได้ 10 คะแนน นาย ข. ไม่ได้คะแนนเลย  นาย ก. ก็ได้รับเลือกตั้ง ทั้งยังกล่าวอ้างอย่างเต็มปากด้วยความภูมิใจว่า ได้รับเลือกมาด้วยคะแนน 100 เปอร์เซ็นต์ การเลือกตั้งนั้นก็ใช้ได้ตามกฎหมาย

                    ความเป็นโมฆะของการเลือกตั้ง จะไม่ได้เกิดจากจำนวนคนที่ออกไปใช้สิทธิ หากแต่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่ไม่อาจจัดการเลือกตั้งได้ในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร  ซึ่งทั้งรัฐบาลก็รู้ และ กกต. ก็รู้  เพียงแต่ยังไม่ได้มีการพูดกันอย่างจริงจัง  ซึ่งนั่นก็คงนำไปสู่ความรับผิดชอบทั้งทางอาญาและทางแพ่งที่อาจจะเกิดมีขึ้นกับรัฐบาลและ กกต. ในวันข้างหน้า ขึ้นอยู่กับว่าใครจะป้องกันตัวเองได้รอบคอบกว่ากัน

                   ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ และคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลพากันไม่ออกไปลงคะแนนเลือกตั้ง คงมีแต่คนที่เห็นด้วยกับรัฐบาลออกไปลงคะแนน  ผลจะเป็นดังนี้
                   1. คนที่ไม่ออกไปใช้สิทธิจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองทุกคน เว้นแต่คนที่ได้แจ้งเหตุไม่ไปลงคะแนนไว้แล้ว
                   2. คะแนนที่ปรากฏจาการเลือกตั้ง จะเป็นว่า ผู้มาใช้สิทธิทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์หรือเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เลือกผู้สมัครของรัฐบาล ซึ่งเป็นผลดีต่อรัฐบาลทำให้เกิดกำลังใจในการดำเนินการตามนโยบายที่คิดว่าดีแล้วต่อไปได้อย่างเต็มที่ และใช้เป็นข้ออ้างตามหลักของการเลือกตั้งปัจจุบันได้ว่าคนทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดสนับสนุนการกระทำของรัฐบาล
                   3. ส่วนคนที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็จะถูกกล่าวอ้างได้ว่า เป็นพวกที่ไม่สนใจในการเลือกตั้ง หรือไม่สนใจในผลของการเลือกตั้ง ใครจะทำอย่างไรก็รับได้เสมอ

                   แต่ถ้าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาลพากันออกไปใช้สิทธิลงคะแนน ผลจะเป็นดังนี้
                   1. คนที่เห็นดีเห็นงามกับรัฐบาลก็จะเป็นโอกาสแสดงให้รัฐบาลรับรู้ถึงความเห็นด้วยนั้น อันเป็นกำลังใจที่สำคัญให้แก่รัฐบาลที่จะทำการตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วย ก็จะได้ใช้โอกาสนี้ไปแสดงให้ปรากฏว่าไม่เห็นด้วย โดยการไปทำเครื่องหมายในช่อง ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้งหรือที่เรียกกันว่า no vote หรือ vote no หรือแม้แต่ผู้ที่คัดค้านการเลือกตั้ง ก็ต้องไปใช้สิทธิด้วยการทำเครื่องหมายในช่องดังกล่าว เพราะเป็นทางเดียวที่จะแสดงออกอย่างเป็นทางการได้
                   2. สำหรับในเขตที่มีคนสมัครคนเดียว คนที่ไม่เห็นด้วยยิ่งต้องไปใช้สิทธิเพื่อแสดงออก เพราะตามกฎหมายนั้น เมื่อมีผู้สมัครคนเดียว ผู้สมัครคนนั้นจะได้รับเลือกตั้งก็ต่อเมื่อได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ ของผู้มีสิทธิลงคะแนนในเขตนั้น และต้องได้คะแนนมากกว่าจำนวนผู้ vote no การไปใช้สิทธิเพื่อทำเครื่องหมายในช่องดังกล่าวจึงเป็นความสำคัญ และมีผลตามกฎหมาย เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะขจัดคนที่เราเห็นว่าไม่ดี ให้ไม่ได้รับเลือกตั้ง
                   3. สำหรับในเขตที่มีคนสมัครมากกว่าหนึ่งคน แม้คะแนน vote no จะไม่มีผลต่อการได้รับเลือกตั้งของผู้สมัคร  แต่ก็จะเป็นเครื่องหมายแสดงว่ามีประชาชนไม่ต้องการผู้สมัครคนนั้นขนาดไหน ยิ่งถ้าคะแนน vote no มีมากกว่าคะแนนที่เขาได้รับ  เขาก็จะอ้างไม่ได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ได้เลือกให้เขามาเป็นผู้แทน  ข้อสำคัญน้ำหนักของคะแนน vote no จะเป็นแรงกระตุ้นให้มีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ให้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง คือ ต่อไป ไม่ว่าจะมีผู้สมัครกี่คน  สมควรจะกำหนดไว้ในกฎหมายหรือไม่ว่า คนที่จะได้รับเลือกตั้งจะต้องได้คะแนนมากกว่าคะแนน vote no  และเมื่อมีการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ (เพราะไม่มีใครได้รับเลือกตั้ง)  คนที่สมัครแล้วได้คะแนนน้อยกว่าคะแนน vote no จะต้องหมดสิทธิในการลงรับสมัครในการเลือกตั้งครั้งนั้น  เพราะถือว่าประชาชนเสียงข้างมากได้แสดงให้ปรากฏว่าไม่เอาคนนั้นแล้ว จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะดึงดันให้ประชาชนต้องเลือกอีก  ถ้าสามารถผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งให้มีผลดังกล่าวได้ สิทธิของเราจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  เพราะบอกได้ว่าเราจะเอาหรือไม่เอาใคร
                   4. การไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันทั้งหมด ก็จะพากันถูกตัดสิทธิในทางการเมือง ในยามจำเป็นที่จะต้องเข้าชื่อกันเพื่อดำเนินการบางอย่าง เช่น ถอดถอน หรือเสนอกฎหมาย ก็จะไม่เหลือใคร
                   5. การไปใช้สิทธิ จะแสดงว่าประชาชนมิได้รังเกียจการเลือกตั้งหรือคัดค้านการเลือกตั้ง เพียงแต่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องปรับปรุงกติกาเสียใหม่ให้เกิดความสุจริตและเที่ยงธรรมเสียก่อน จึงแสดงออกด้วยการ vote no การไม่ไปใช้สิทธิ นอกจากความสะใจแล้ว ก็ไม่ได้ผลอะไร ทั้งยังอาจถูกแปลไปว่าไม่มีใครสนใจในการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นปกติของการเลือกตั้งทั่วไปที่คนเกือบครึ่งหนึ่งมิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้งนั้นก็ยังดำเนินต่อไป และใช้อ้างอิงได้
                   6. ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่ออกไปใช้สิทธิ จะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีใครถือโอกาสขนใครไปใช้สิทธิแทนเรา ขนาดการใช้สิทธิล่วงหน้า ยังมีคนขนคนที่ไม่มีบัตรแสดงตนมาลงคะแนนเอาด้าน ๆ เมื่อจับได้คาหนังคาเขา ตำรวจยังปล่อยตัวไปเสียอย่างนั้นแหละ

                   โดยสรุป การเลือกครั้งนี้ (หากจะมีขึ้นตามความต้องการของรัฐบาล) ประชาชนทุกคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง  ต้องออกไปใช้สิทธิกันทุกคน ทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เพราะเป็นโอกาสเดียวที่จะแสดงออกให้เห็นถึงความประสงค์อันแท้จริงของประชาชน  อุตส่าห์ออกกันมามืดฟ้ามัวดิน  แต่ถูกเขากล่าวหาว่ามีเพียงไม่กี่หมื่นกี่แสนคน  เพราะไม่มีใครนับมายืนยันให้ยอมรับกันได้ว่าเป็นแสนหรือเป็นล้าน  การไปใช้สิทธินี่แหละจะยืนยันได้ว่าคนไม่เห็นด้วยมีจำนวนเพียงไม่กี่แสนคนจริงหรือ

                   ที่สำคัญคนที่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็ต้องออกไป เพื่อเป็นกำลังใจให้รัฐบาล ในขณะเดียวกันคนที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องออกไปเพื่อไปแสดงออกให้เป็นที่ประจักษ์ ด้วยการ vote no  คนจำนวนมากเขาลำบากตรากตรำ พลัดที่นาคาที่อยู่ มากินนอนกลางถนนด้วยความเหนื่อยยากเป็นเดือน ๆ แม้แต่ชีวิตก็ต้องเสียไป  แล้วเราจะนั่งรอเสวยผลจากความลำบากของเขา บนชีวิตเลือดเนื้อของเขา โดยไม่ทำอะไรเลย แม้เพียงแค่ออกไปแสดงให้ปรากฏในคูหาเลือกตั้ง  จะไม่เป็นการเอาเปรียบเขาเกินไปหรือ จะไม่อายตัวเองและลูกหลานทีเดียวหรือ

                   ส่วนการที่การเลือกตั้งที่จัดให้มีขึ้นจะกลายเป็นโมฆะในภายหลังหรือไม่ ก็ไม่มีผลกระทบกับการออกไปใช้สิทธิของประชาชน  เพราะตัวเลขที่จะปรากฏจากผลการออกไปใช้สิทธิจะยังใช้ได้และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างได้ในที่สุด  เพราะเหตุที่จะกลายเป็นโมฆะนั้น จะไม่เกี่ยวกับจำนวนคนที่ออกไปใช้สิทธิ หากแต่เกี่ยวกับกระบวนการในการจัดการเลือกตั้ง  และวันที่กำหนดให้มีการเลือกตั้ง

                   แต่ถ้าเกิดเหตุเภทภัยใดจนทำให้ไม่สามารถเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งได้ ก็เป็นอันจนใจ  ไม่จำเป็นต้องลำบากถึงขนาดจะต้องดันทุรังให้เป็นภัยแก่ตัวเอง  เพราะถ้ามีเหตุเกิดขึ้นเช่นนั้น การเลือกตั้งในหน่วยนั้นก็คงไม่มีอยู่ดีแหละ

มีชัย ฤชุพันธุ์

29 มกราคม 2557   

ไม่มีความคิดเห็น: