วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล: กรณีการดำเนินคดีทางการเมืองและคดีอื่นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง


สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ขอแสดงความยินดีกับสังคมไทยที่สามารถก้าว ผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ มาได้อย่างเรียบร้อย และกำลังจะได้รับรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งโดยเสียงส่วนใหญ่ของ ประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งได้ให้คำมั่นว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหา มิได้เข้ามาเพื่อแก้แค้นผู้ใด

จากเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในห้วงเวลา ๔- ๕ ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งยังนำพาประเทศถอยหลังเข้าสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางมาก เป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ ได้เกิดความแตกแยกของประชาชน และรัฐบาลได้ใช้อำนาจอย่างป่าเถื่อน และใช้ความรุนแรงกับประชาชน จับกุมคุมขังประชาชนผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง และดำเนินคดีกับประชาชนจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบัน ยังมีประชาชนถูกขังในเรือนจำต่างๆ ในคดีการเมืองทั่วประเทศหลายร้อยคน และมีประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่ได้รับ การเยียวยาจากรัฐจำนวนมากเช่นกัน

สำนัก กฎหมายราษฎรประสงค์ ในฐานะเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ จากเหตุการณ์ทางการเมือง ขอเสนอแนวทางการแก้ปัญหา และเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังต่อไปนี้

๑. ให้รัฐบาลประสานกับสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการถอนฟ้องจำเลยในคดีที่ เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งหมดซึ่งอยู่ในชั้นพิจารณาของศาล สำหรับคดีที่อยู่ในชั้นของพนักงานอัยการให้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดี และคดีที่อยู่ในชั้นสอบสวนก็ให้พนักงานสอบสวนมีคำสั่งไม่ฟ้อง รวมทั้งร้องขอต่อศาลให้เพิกถอนหมายจับสำหรับผู้ต้องหาตามหมายจับ

ตามพระ ราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๒๑วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชนหรือจะ มีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศให้เสนอต่ออัยการสูงสุด และอัยการสูงสุดมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด โดยความเห็นชอบของ ก.อ.” ซึ่ง เป็นการให้อำนาจแก่พนักงานอัยการการในการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ในกรณีที่พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ และต่อมาสำนักงานอัยการสูงสุดได้ออกระเบียบชื่อ “ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการสั่งคดีอาญาที่จะไม่เป็นประโยชน์ต่อ สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ พ.ศ.๒๕๕๔” ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๔ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๔ โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์อันเป็นสาระสำคัญสำหรับการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการ เอาไว้อย่างครบถ้วนแล้ว

สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์เห็นว่า การดำเนินคดีกับประชาชนในเหตุการณ์ทางการเมืองหาได้เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ ไม่ ซ้ำยังก่อให้เกิดความเกลียดชังและแค้นเคืองกันในหมู่ประชาชนทั้งสองฝ่าย กล่าวโดยเฉพาะคือ จากเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและแนวร่วม ประชาชนต่อต้านเผด็การแห่งชาติก็ล้วนแต่เป็นการแสดงออกทางการเมืองและ ถูกกระทำจากรัฐที่เป็นขั้วตรงข้ามของทั้งฝ่ายทั้งสิ้น ผู้ได้รับผลกระทบทั้งถูกดำเนินคดี หรือได้รับความเสียหายอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นประชาชนที่เป็นมวลชนซึ่งมีเจตนาอันบริสุทธิ์ในการแสดงออกทาง การเมือง รวมทั้งในหลายกรณีก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมโดยถูกกลั่น แกล้งจากฝ่ายการเมืองซึ่งมีอุดมกาณ์ทางการเมืองตรงข้ามกัน การกระทำที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองจนเป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีจึงถือว่ามี ลักษณะพิเศษในทางอาชญวิทยา ที่ผู้ต้องหา หรือจำเลยหาได้มีแนวคิดที่มุ่งแสวงหาประโยชน์ส่วนตน และถือเป็นการกระทำทางการเมืองซึ่งควรได้รับการผ่อนปรนในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อความสงบของสังคม ( เทียบคำสั่งไม่ฟ้องคดีกรณีเหตุการณ์ตากใบ )

สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์เห็นว่า ในปัจจุบันมีกฎหมายที่สามารถใช้เป็นทางออกให้สังคมอย่างเพียงพอแล้วดังที่ ได้เรียนข้างต้น และ ไม่เห็นด้วย กับการออกกฎหมายนิรโทษ กรรมอันจะทำให้ความศักดิ์สิทธิของกฎหมายถูกสั่นคลอน และทำให้หลัก”นิติรัฐ” อันเป็นหัวใจของสังคมสูญสิ้นไปรวมทั้งจะเป็นเงื่อนไขที่อาจก่อให้เกิดความ วุ่นวายทางการเมืองในภายภาคหน้า

สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์เห็นว่า บรรดาคดีที่มีการกระทำอันมีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งคดีหมิ่นหระบรมเดชานุภาพด้วย สมควรได้รับการถอนฟ้องหากคดีอยู่ในชั้นพิจารณาของศาล หรือมีคำสั่งไม่ฟ้องหากอยู่ในชั้นพิจารณาของพนักงานอัยการหรือชั้นสอบสวนของ พนักงานสอบสวน และเพิกถอนหมายจับในกรณีที่ถูกดดำเนินการออกหมายจับ ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมสามารถเดินหน้าต่อไปได้และเพื่อความปรองดองในสังคมที่แท้ จริง

๒. ให้รัฐบาลดำเนินการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับความเสียหายอันเกิดจากเหตุการณ์ ทางการเมืองทั้งหมด รวมทั้งดำเนินการเจรจาเพื่อรับผิดในกรณีที่ผู้ได้รับความเสียหายได้ยื่นฟ้อง หน่วยงานของรัฐให้รับผิดจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิดในเหตุการณ์ทาง การเมือง

จาก จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ทางการเมืองและความรับผิดชอบของ รัฐบาลที่ผ่านมา สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์เห็นว่า รัฐบาลยังไม่สามารถเยียวยาความเสียหายได้อย่างเพียงพอแต่อย่างใด จะเห็นได้จากการที่ผู้เสียหายบางส่วนยังมีการดำเนินการฟ้องร้องเพื่อให้ รัฐบาลรับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งจากการบาดเจ็บและเสียชีวิต รวมทั้งผู้ได้รับบาดเจ็บบางส่วนที่ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทาง กฎหมายได้ก็ยังไม่ได้รับการเยียวยาแต่อย่างใด เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบในนามของรัฐบาลสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์จึงขอ เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการเยี่ยวยาผู้ได้รับความเสียหายอย่างเต็มที่ และสำรับกรณีที่ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องเป็นคดีต่อศาล หากปรากฎข้อมูลเบื้องต้นว่าเป้นผู้เสียหายจากเหตุการณ์ทางการเมืองจริง รัฐบาลควรเข้าเจรจาเพื่อรับผิดในความเสียหายและชดใช้ความเสียหายอย่างเต็ม ที่มิควรต่อสู้คดี หรือประวิงคดีให้ล่าช้าเพื่อปัดความรับผิดชอบแต่อย่างใด

๓. ให้รัฐบาลตรวจสอบความจริงของเหตุการณ์ทางการเมือง และนำเสนอความจริงนั้นต่อสังคม รวมทั้งนำตัวผู้ที่เป็นผู้กระทำความผิดในนามรัฐมาลงโทษตามกฎหมาย

สำนัก กฎหมายราษฎรประสงค์เห็นว่า ความรับผิดของประชาชนกับความรับผิดของรัฐนั้นมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ประชาชนเป็นผู้ถูกบังคับใช้กฎหมายโดยรัฐ ส่วนรัฐนั้นเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายและมี “หน้าที่พิเศษ” ในการคุ้มครองประชาชน ดังนั้น ตามข้อเรียกร้องในข้อ ๑. ที่เสนอมิให้ดำเนินคดีกับประชาชนจึงมิได้รวมถึงการกระทำผิดโดยรัฐและผู้อยู่ เบื้องหลังรัฐแต่อย่างใด ทั้งนี้จะเห็นได้จากเหตุการณ์ทางการเมืองหลายครั้งที่ผ่านมา บุคคลที่เป็นผู้สั่งการให้เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการต่อประชาชนทั้งการสลายการ ชุมนุม การฆ่าโดยเจตนา หรือการจับกุมคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ล้วนแต่ไม่ได้ถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่รัฐและผู้อยู่เบื้องหลังสั่งการได้กระทำการอันโหดร้าย ต่อประชาชนซ้ำแล้วซ้ำอีก รวมทั้งเหตุการณ์ทางการเมืองในปี ๒๕๕๓ ด้วย

สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตรวจสอบความจริง และดำเนินการเพื่อนำผู้สั่งการให้สลายการชุมนุม เข่นฆ่าประชาชน รวมทั้งการจับกุมคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มาลงโทษตามกฎหมายเพื่อมิได้บุคคลเหล่านั้นได้มีโอกาสกระทำความผิดอีกและ เพื่อป้องปรามการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในภายภาคหน้าด้วย

๔. ให้รัฐบาลยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

สำนัก กฎหมายราษฎรประสงค์เห็นว่า “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือที่รัฐใช้ในการละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างกว้างขวางใน เหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งกล่าวโดยเฉพาะคือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒) และพระราชกำหนดการบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ รวมทั้งกฎหมายหมายที่ให้อำนาจพิเศษอื่นแก่รัฐด้วย

สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์เห็นว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเสมือนเครื่องมือที่รัฐใช้เพื่อปกปิดความ จริง และปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกลั่นแกล้งประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมืองมา โดยตลอด อันเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างกว้างขวาง และบทบัญญัติของพระราชกำหนดการบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ ในหลายมาตรายังเปิดเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจเกินกว่าความจำเป็น เป็นผลให้เกิดการละเมิดสิทธิของประชาชน รวมทั้งริดรอนเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย เช่น การให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ปิดสื่อ สั่งห้ามการชุมนุมอันเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จับกุมคุมขังตามอำเภอใจ จำกัดสิทธิในการกระบวนการยุติธรรมของประชาชน และอื่นๆอีกหลายประการ

การที่รัฐยังคงให้มีกฎหมายดังกล่าวอยู่จึงเสมือน “การเลี้ยงงูพิษไว้เฝ้าบ้าน” สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์เห็นว่า รัฐบาลชุดนี้มีความชอบธรรมในการยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเพราะเป็น รัฐบาลที่ได้รับเสียงจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยทั้งประเทศ รัฐบาลจึงควรใช้โอกาสนี้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้สังคมและ ประชาชนมีเสรีภาพมากขึ้นรวมทั้งกาวเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ด้วย ข้อเรียกร้องทั้ง ๔ ประการข้างต้น สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์หวังว่าจะได้รับการตอยรับจากรัฐบาลชุดใหม่นี้ ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะนำพาประเทศก้าวไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แท้จริงในไม่ช้า

เชื่อมั่นและศรัทธา

สำนักกฎหมายราษฎรประสงค์

๙ กรกฎคม ๒๕๕๔

ไม่มีความคิดเห็น: