ข่าวอย่างเป็นทางการกรณีเครื่องโบอิ้ง 737 เครื่องบินสัญชาติไทย ถูกทางการเยอรมนีอายัดที่ท่ากาศยานเมืองมิวนิค ว่า เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งสัมปทานดอนเมืองโทลเวย์็ เมื่อปี 2548 และได้มีการดำเนินการผ่านกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ กระทั่ง 1 ก.ค. 2552 คณะอนุญาโตตุลาการสากล ที่ศาลนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พิพากษาให้ประเทศไทยต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัทวอลเตอร์ บาว เป็นเงินราว 30 ล้านเหรียญยูโร บวกกับค่าดอกเบี้ยอีกราว 2 ล้านเหรียญยูโร ที่ล้มละลายไปเนื่องจากรัฐบาลไทยในช่วงนั้นผิดพันธะสัญญา ซึ่งต่อมาทางการไทยได้อุทธรณ์ โดยหน่วยงานที่เป็นผู้ดำเนินการ คือ สำนักงานอัยการสูงสุด แต่เจ้าของคดี คือ กระทรวงคมนาคม อย่างไรก็ตาม นายแวร์เนอร์ ชไนเดอร์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทดังกล่าว มีอำนาจบังคับคดี โดยสามารถอายัดทรัพย์สินของรัฐบาลไทยได้ในทุกพื้นที่ของประเทศที่มีพันธะต่ออนุสัญญานครนิวยอร์ก ซึ่งเมื่อ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้ฟ้องศาลเยอรมนี และมีคำสั่งอายัดเครื่องบินลำดังกล่าว
นายกษิต กล่าวว่า เครื่องบินลำนี้เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล ไม่ใช่ของรัฐบาลไทย ไม่สามารถอายัดได้ จึงถือว่าเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของฝ่ายเจ้าทุกข์ที่ให้ข้อมูลกับศาลเยอรมนี โดยทางกระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการส่งข้อมูลหลักฐานไปให้กับศาลเยอรมนีในทันที ผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี รวมทั้งตนได้มีหนังสือไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี ซึ่งอยู่ระหว่างไปราชการที่สหรัฐอเมริกา ผ่านนายนรชิต สิงหเสนี เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทย ประจำสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก นอกจากนี้ ทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ที่เยอรมนีนี้ยังได้ติดต่อกรมสนธิสัญญาทางกฎหมายของกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี ให้ประสานงานกับศาลยุติธรรมของเยอรมนีด้วย
นายกษิต กล่าวอีกว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ตามเวลาของประเทศเยอรมนี คณะนักกฎหมายไทย ประกอบด้วย อัยการสูงสุด และรองอธิบดีกรมสนธิสัญญาของกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางถึงนครมิวนิคแล้ว ขณะที่เมื่อวานนี้ เอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงเบอร์ลิน ได้พบปะกับทนายของทีมกฎหมายไทยแล้ว นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนียังได้โทรศัพท์มาพูดคุยกับตน โดยตนจะออกเดินทางไปประเทศเยอรมนี ในเวลา 23.45 น. ของวันนี้ ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อไปพบกับรัฐบาลเยอรมนีและแสดงความกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง ถึงความผิดพลาดอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าขณะนี้หลักฐานข้อมูลทั้งหมดคงจะอยู่ในมือของทางการเยอรมนีแล้ว เป้าหมายแรกของทางการไทย คือ ต้องการให้ศาลเยอรมนียกเลิกการอายัดเครื่องบินลำดังกล่าวในทันที หรือในโอกาสแรก โดยทางการไทยนั้นมีความเคารพต่อกระบวนการยุติธรรมของเยอรมนี
เมื่อถามว่าจะมีการฟ้องร้องดำเนินการต่อหรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า เป้าหมายแรกคือต้องให้ศาลเยอรมนียกเลิกการอายัดเครื่องบินก่อน เมื่อถามถึงท่าทีของทางการเยอรมนี นายกษิต ตอบว่า หลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีได้รับจดหมายของตนก็มอบหมายให้ปลัดต่างประเทศของเยอรมนีโทรศัพท์มาหารือกับตน จึงน่าจะถือว่าร้อนใจเช่นกัน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า แน่นอน หากผลออกมาไม่สมเหตุสมผล ประเทศไทยถูกโลกตะวันตกเพ่งเล็งมาตลอด ซึ่งรัฐบาลก็ได้ดำเนินการทุกอย่างอย่างโปร่งใสและจรรโลงประชาธิปไตย จึงอยากให้ประเทศที่บอกว่าตนเป็นประชาธิปไตย ผ่านระบอบเผด็จการมา ได้เข้าใจ และอยากให้มีความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ต้องการให้เป็นน้ำผึ้งหยดเดียว
ท้ายสุด นายกษิต ได้วอนสื่อฯ ให้สื่อสารความจริงไปยังประชาชนชาวไทยว่า เหตุการณ์นี้ ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามกุฏราชกุมาร แต่อย่างไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น