นพ.พลเดช ชี้ 100 วัน หลังการเลือกตั้ง ประชาชนต้องเกาะติดหน้าตา-นโยบายรัฐบาลอย่างใกล้ชิด ย้ำ สส. สีเทา-หลังยาว ยกเก้าอี้รัฐมนตรีให้ไม่ได้ หวั่น ทำลายบรรยากาศปรองดอง
วันที่ 11 กรกฎาคม นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (สทพ.) และที่ปรึกษาเครือข่ายพลเมืองอภิวัฒน์ กล่าวกับ “ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย” ถึงการขับเคลื่อนการเมืองภาคพลเมืองเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ภายใต้ “เครือข่ายพลเมืองอภิวัฒน์กับปฏิบัติการณ์เปลี่ยนประเทศ” ในระยะที่ 2 หรือช่วง 100 วัน หลังการเลือกตั้งว่า ขณะนี้ทางเครือข่ายพลเมืองอภิวัฒน์ฯ กำลังดำเนินการตรวจสอบรายชื่อสมาชิกสภาผู้ทนราษฏร (ส.ส.) ในส่วนของพรรครัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลว่ามีคนใดบ้างที่เข้าลักษณะ 1.ถอยเถื่อน ดิบ ชอบใช้ความรุนแรง 2.เป็น สส. สีเทา และ 3.พวกหลังยาว เบี้ยวการประชุมสภาฯบ่อยครั้ง จากนั้นจะขึ้นแบล็คลิสต์เอาไว้ว่า บุคคลดังกล่าวไม่ควรนำมาเป็นรัฐมนตรี เพราะจะทำให้บรรยากาศของการปรองดองไม่เกิดขึ้น
ส่วนแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงจะขึ้นมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีได้หรือไม่นั้น นพ.พลเดช กล่าวว่า หากบุคคลใดที่มีลักษณะถอย-เถื่อน-ดิบก็คงต้องเข้าไปอยู่แบล็คลิสต์ดังกล่าว แต่ทั้งนี้ก็เข้าใจว่า ต่างฝ่ายต่างมีบุญคุณกันอยู่ ดังนั้น จึงต้องขึ้นอยู่ดุลพินิจของผู้มีอำนาจจัดตั้งรัฐบาล นั่นคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์และพี่ชาย เพราะข้อเสนอของทางเครือข่ายฯ ก็เป็นเพียงการส่งสัญญาณเท่านั้น หากเห็นว่า เสียงเตือนมีคุณค่า มีคุณประโยชน์ ควรรับฟังก็พิจารณา แต่หากคิดว่าไม่มีคุณค่า พรรคที่ชนะการเลือกตั้งสามารถทำได้ทุกอย่าง ก็แล้วไป
นพ.พลเดช กล่าวต่อว่า ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่ทางเครือข่ายฯ กำลังติดตามคือเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาล โดยมีการแบ่งแยกนโยบายออกเป็น 4 ประเภท คือ 1.นโยบายพื้นฐานของพรรคที่มีการจดทะเบียนไว้กับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 2.นโยบายเฉพาะกิจที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งมีด้วยกัน 32 ประการ 3.นโยบายที่รัฐบาลจะแถลงต่อรัฐสภา ซึ่งแกนนำรัฐบาลจะร่างแต่ละข้อ แต่ละด้านเป็นประโยคๆ ซึ่งในช่วงนี้จะต้องมีเกาะติดอย่างใกล้ชิดว่า นโยบายใดจะทำก่อน หลัง เพราะนั่นเป็นสัญญาประชาคมที่มีผลต่อการจัดสรรงบประมาณ
“4.นโยบายใหม่ๆ ที่ผุดขึ้นระหว่างการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ซึ่งจากกรณีสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 และ 2 ก็พบว่ามีนโยบายใหม่ๆ จำนวนมาก อาทิ บ้าน รถแท็กซี่ ประกันภัยเอื้ออาทร ฉะนั้น นโยบายระหว่างทางจึงเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าติดตาม”
ทั้งนี้ นพ.พลเดช กล่าวด้วยว่า เมื่อหน้าตาและนโยบายของรัฐบาลชัดเจน แนวทางต่อไปของการมีส่วนร่วม อาจออกมาในรูปแบบของการจัดเวทีวิชาการระดมความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งอาจมีข้อเสนอเพิ่มเติม ขณะเดียวกันอาจจะมีการแถลงข่าว แถลงการณ์หรือกิจกรรมทางสังคมควบคู่ไปด้วย
ที่มาของบทความ:
http://www.thaireform.in.th/news-highlight/item/6112.html
หมายเหตุ จากการตรวจสอบประวัตินายแพทย์พลเดชในฐานข้อมูลนักการเมืองไทยปรากฏว่า นายแพทย์พลเดช เป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในสมัยรัฐบาลสรยุทธ์ จุลานนท์ และได้รับการชักนำมาทำงานในตำแหน่งนี้ โดยสนิทสนมกับนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น