แทบทุกคนคงจดจำ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ได้ดีในฐานะอดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารล้มรัฐบาลประชาธิปไตยเที่ยวล่าสุดเมื่อ 19 พ.ย.2549 แต่สำหรับคอข่าวชายแดนใต้คงจดจำเขาได้ในฐานะอดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) สายเลือดมุสลิมที่ได้รับการฝากความหวังว่าจะ "ดับไฟใต้" ได้สำเร็จ
ปัจจุบัน พล.อ.สนธิ นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ (หลังจาก ลับ-ลวง-พราง ตามสไตล์มาระยะหนึ่ง) และนำทีมลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งใหญ่เที่ยวนี้ด้วย โดยพื้นที่เป้าหมายพื้นที่หนึ่งของเขาและพรรคมาตุภูมิก็คือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
น่าสนใจว่าในฐานะอดีต ผบ.ทบ.ที่เคยรับผิดชอบปัญหาภาคใต้เต็มมือ เขาจะมีนโยบายดับไฟใต้อย่างไร และในฐานะอดีตประธาน คมช.ที่เคยทำรัฐประหาร เขาจะมีนโยบายบริหารประเทศภายใต้ระบบรัฐสภาอย่างไร
O ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองที่ไม่ใช่พรรคใหญ่ 2 ขั้วซึ่งกำลังขับเคี่ยวกันอยู่ ได้กำหนดยุทธศาสตร์หาเสียงอะไรไว้บ้าง?
ผมคิดว่าพรรคการเมืองไม่ควรกำหนดยุทธศาสตร์ทางการเมืองของตนเอง แต่ควรแปรยุทธศาสตร์ของชาติมาเป็นยุทธศาสตร์ของพรรค เพราะการที่พรรคการเมืองหรือนักการเมืองมาเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ในส่วนของพรรคมาตุภูมิได้นำยุทธศาสตร์ของชาติมากำหนดนโยบายเฉพาะเพื่อแก้วิกฤติของประเทศในหลายเรื่อง เช่น ปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การเน้นความเป็นกลาง และการแก้ไขปัญหาการทุจริต
เราเน้นเรื่องความรักความสามัคคีของคนในชาติ ซึ่งขณะนี้ต้องยอมรับว่าในประเทศของเรามีวิกฤติความขัดแย้งมาก โดยเฉพาะวิกฤติความขัดแย้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง ซึ่งเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ต้องยอมรับว่าแม้ประเทศไทยจะมีรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่องค์ประกอบของประชาธิปไตยคือเราจะต้องทำให้เกิดความเสมอภาค จึงต้องแก้ทั้งปัญหาความยากจนและการศึกษา เพราะปัญหาดังกล่าวนี้เป็นตัวที่ทำให้ประเทศไทยไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ที่ผ่านมาการกำหนดนโยบายลงไปสู่ระดับท้องถิ่นเกิดจากส่วนกลาง คือรัฐเป็นผู้กำหนดแนวคิดจากบนลงล่าง แทนที่จะให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วน เข้ามากำหนดแบบล่างขึ้นบน แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น และรัฐบาลมักจะเห็นว่าสิ่งที่ตัวเองทำหรือนโยบายที่กำหนดลงไปคือสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่ จึงกลายเป็นว่าแม้รูปแบบการปกครองที่เป็นอยู่จะเป็นการทำงานเพื่อผลประโยชน์ของคนไทยก็จริง แต่โดยภาพรวมกลับทำได้ไม่เต็มที่
O มองว่าวิกฤติความขัดแย้งมีต้นตอมาจากอะไร?
วิกฤติและความขัดแย้งในประเทศมาจากปัจจัยหลัก 2 ข้อ คือ การศึกษากับความยากจน หากเราสามารถทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีการศึกษาดี เศรษฐกิจดี ความยากจนน้อยลงก็จะแก้ไขได้ ผมเห็นว่าวิธีแก้ไขปัญหาคือรัฐบาลต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการปกครองให้น้อย แทรกแซงให้น้อย ให้ประชาชนระดับท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมได้มาก รวมถึงส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีศักยภาพปกครองตัวเอง โดยเฉพาะการให้อาสาสมัคร ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) เป็นกำลังหลักในการดูแลพื้นที่มากกว่าที่จะนำกำลังอื่นๆ เข้าไป
O ข้อเสนอนี้รวมถึงการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะการถอนทหารจากกองทัพภาคต่างๆ ที่ส่งเข้าไป?
คือในยุคสงครามเย็น การแก้ปัญหาตามปกติจะให้ทหารประจำถิ่นดูแลพื้นที่ ส่วนทหารจากกองทัพภาคอื่นจะเป็นตัวช่วยตัวเสริม สำหรับกรณีภาคใต้ก็ให้แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะที่เป็นกำลังหลักมีอำนาจตัดสินใจแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง
การแก้ปัญหาภาคใต้รัฐต้องวางคนให้ถูกกับงาน การส่งใครลงไปทำงานในพื้นที่ คนที่เข้าไปจะต้องมีความเข้าใจปัญหาและสามารถพัฒนาตามความต้องการประชาชนได้จริง อยากถามว่าแม่ทัพภาคที่ 4 ขณะนี้มีอำนาจสั่งการจริงหรือ ในยุคที่ผมเป็น ผบ.ทบ. เป็นรองนายกรัฐมนตรี เห็นได้ชัดเจนว่าการสั่งการจะไม่สามารถทำได้อย่างที่ต้องการ เพราะมีอำนาจแทรกแซงจากรัฐบาลสูงมาก มีหลายหน่วยงานที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้ไม่มีเอกภาพในการกำหนดนโยบาย
O ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และเป็นอดีต ผบ.ทบ.รับผิดชอบปัญหาภาคใต้ คิดว่าการหาเสียงในพื้นที่ชายแดนใต้จะได้รับการตอบรับจากประชาชนแค่ไหน?
ทางพรรคจะส่งผู้สมัครลงทุกพื้นที่ให้ครบทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
O ในฐานะที่หัวหน้าพรรคเป็นมุสลิม และชูนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาภาคใต้ คาดหวังคะแนนในระบบสัดส่วนในระดับใด หรือหวังเฉพาะ ส.ส.เขต?
เราต้องการ ส.ส.เขตด้วย และระบบสัดส่วนด้วย ไม่มุ่งไปที่บัญชีรายชื่ออย่างเดียว เรามองคนในพื้นที่ภาคใต้รวมทั้งมุสลิมทั่วประเทศ ในฐานะที่เราเป็นมุสลิมก็เชื่อว่าความที่เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลามน่าจะสร้างความน่าเชื่อถือศรัทธาได้ในระดับหนึ่ง เพราะว่าประเทศไทยมีมุสลิมประมาณ 6 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ แต่จำนวน 4 ล้านคนเป็นผู้ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้คะแนนเสียงจากมุสลิมทั้งหมด เพราะเป็นไปได้ยาก คะแนนบัญชีรายชื่อในส่วนของมุสลิมเราก็ไม่ได้แย่งใคร เพราะพรรคเราเชื่อว่าจะมีกลุ่มคนเฉพาะที่จะลงคะแนนให้
จากการทำสำรวจ (โพลล์) น่าเชื่อว่าเราจะเป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะผลโพลล์ออกมาว่าประชาชนอีกร้อยละ 52 ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคใด และหากพรรคมาตุภูมิจะขอเป็นทางเลือกหนึ่ง เขาก็อาจจะตัดสินใจเลือกเราก็ได้
O จะแก้ข้อกล่าวหาเรื่องที่ทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 อย่างไร?
สำหรับเพื่อนนักการเมืองด้วยกัน เมื่อผมมาเล่นการเมือง ผมก็สนิทกับทุกกลุ่ม ทุกพรรค ทุกสี ในวันที่ผมทำปฏิวัติ ผมคือบุคคลที่มีหน้าที่ปกป้องประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาธิปไตยอยู่ภายใต้ระบอบที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถ้าผมเป็นผู้ทำลายประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2549 คงไม่มีประชาชนนำดอกไม้มาให้
เมื่อผมมาเล่นการเมือง ผมจะเจอคำถามเยอะมากว่าทหารที่มาเล่นการเมืองไม่เคยมีใครประสบความสำเร็จ ผมอยากให้นักข่าวไปถามคนอื่นที่รู้จักผมว่าผมเป็นอย่างไร ผมแตกต่างจากนายทหารคนอื่นที่เข้ามาอยู่ในวงการเมืองก่อนหน้านี้หรือไม่ ผมอยากให้คนอื่นมองผมมากกว่าที่ผมจะมองตัวเอง
สาเหตุที่ผมมาเล่นการเมืองก็คืออยากทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมือง เพราะที่ผ่านมาพรรคการเมืองทุกยุคเหมือนมีเจ้าของ ไม่ได้ทำพรรคให้เป็นของประชาชน ระบบการบริหารพรรคเป็นไปโดยตัวบุคคล เอาคนมาเป็นผู้นำ ไม่ใช่เอาระบบมาเป็นตัวนำ
O การเลือกตั้งครั้งนี้คาดหวังว่าจะนำไปสู่การยุติความขัดแย้งแบ่งสีแบ่งฝ่ายได้หรือไม่?
ตอนเรียนหลักสูตรของ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) และเรียนปริญญาเอก ผมเคยอ่านงานวิจัยของนักวิชาการชาวฝรั่งเศสท่านหนึ่ง ซึ่งได้วิจัยบุคลิกของคนไทยเอาไว้ และบอกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราเกิดจากลักษณะนิสัยของคนไทย 4 ประการ คือ ขี้เกียจ ขี้โกง ขี้โอ้อวด และขี้อิจฉา 4 ตัวนี้ทำให้ประเทศเราไม่สามารถก้าวเดินไปข้างหน้าได้
ดังนั้นคนที่เป็นผู้นำประเทศจะต้องหาทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและลักษณะนิสัยคนไทยให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคม โดยเฉพาะการปลูกฝังความสำนึกรักชาติ เพราะถ้าคนเราเห็นว่าประเทศชาติมาเป็นที่หนึ่ง การให้อภัยจะเกิดขึ้นทันที
การที่ประเทศชาติมาก่อนมันจะทำให้เราลดการเอาชนะคะคานกัน ในช่วงที่ผมเรียนหลักสูตรของ กกต.และได้ทำการวิจัยเรื่องประชาชนต้องการผู้นำแบบไหน เราได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่าประชาชนต้องการผู้นำที่ทำให้คนในชาติมีความรักความสามัคคี และทำให้สังคมปรองดองกันได้ ลักษณะผู้นำประเทศคือปัจจัยสำคัญที่จะนำพาประเทศไปในทิศทางไหน ขณะนี้ประเทศเราประสบปัญหาวิกฤติผู้นำ คือขาดผู้นำที่ดี
O คิดว่าวิกฤติการเมืองครั้งนี้จะทำให้พรรคมาตุภูมิสร้างปรากฏการณ์เหมือนสมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (เมื่อครั้งเป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม) ได้หรือไม่ คือได้ ส.ส.น้อย แต่หัวหน้าพรรคได้เป็นนายกรัฐมนตรี?
ในความเป็นจริงมันยากมาก เพราะคนที่จะเป็นผู้นำประเทศจะมาจากพรรคใหญ่ และพรรคการเมืองใหญ่ก็คงไม่ยอมให้พรรคเล็กขึ้นมา พูดง่ายๆ คือความเป็นไปได้มี แต่ความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้
O การปฏิวัติรัฐประหารจะเกิดขึ้นได้อีกหรือไม่?
สถานการณ์การเมืองขณะนี้ผมบอกได้เพียงว่าใครคิดจะทำถือว่าโง่ที่สุด และเป็นการฆ่าตัวตาย แล้วก็จะทำให้บ้านเมืองพังพินาศ ระบบของประเทศจะพังทันที
O เชื่อว่าต่อไปนี้จะไม่มีปฏิวัติรัฐประหารแล้วใช้หรือไม่?
ณ วันนี้นะ ผมตอบ ณ วันนี้
O วิเคราะห์หรือไม่ว่าทำไมพรรคเพื่อไทยยังได้รับความนิยมจากประชาชนสูงสุด ทั้งที่ถูกโจมตีเรื่องเผาเมือง?
ถ้าจะให้วิเคราะห์การที่กลุ่มเสื้อแดงโตขึ้น มีปัจจัยหลัก 2 ประเด็นคือ ความเหลื่อมล้ำของสังคมและความยากจน รวมทั้งปัญหาที่เกิดจากการที่รัฐบาลไม่สามารถลงไปทำงานในทุกภูมิภาคได้ เนื่องจากเกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ประเทศไทยจึงกลายเป็นแบ่งแยกภูมิภาคออกเป็นส่วนๆ มากขึ้น เมื่อความยากจนยังสูง ความเหลื่อมยังมี รัฐบาลจะลงไปแก้ปัญหาก็ลงไปไม่ได้ มันก็เกิดปัญหาอย่างนี้ ทั้งที่ผู้ที่ขึ้นเป็นผู้ปกครองต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกภาค แต่มันก็ทำไม่ได้
O การรับตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง มีปฏิกิริยาจากรุ่นน้องในกองทัพอย่างไรบ้าง?
เขาก็เป็นห่วง หลายคนแสดงความเป็นห่วงและให้กำลังใจ ก็บอกกับเขาว่าเรามาตรงนี้ก็เพราะว่ารักประเทศ ผมอาจจะไม่เหมือนคนอื่นตรงที่บรรพบุรุษอยู่กับประเทศไทยมากว่า 400 ปี แม่ทัพนายกองที่อยู่ในตระกูลนี้ก็ปราบกบฏกันมาหลายครั้ง ถึงแม้ผมจะเป็นมุสลิมแต่ก็ไม่มีประเทศอื่นนอกจากประเทศไทย
O หากพรรคมาตุภูมิได้รับเลือกเข้ามา มีอะไรที่อยากจะทำบ้าง?
มีเรื่องมากมายที่เราสามารถทำได้ โดยเฉพาะเรื่องการทำให้ประเทศไทยสามารถขยายการค้าขายกับประเทศที่เป็นมุสลิมด้วยกัน เป็นการเอาคนที่มีศาสนาเดียวกันไปทำการค้ากับต่างประเทศ ผมอยากทำประเทศไทยให้เป็นตลาดการค้า เป็นครัวโลก ซึ่งเชื่อว่าทำได้
O การเมืองกับกองทัพขณะนี้แยกกันไม่ออก ในฐานะที่เป็นทหารเก่ามีความเห็นอย่างไร?
เราต้องสร้างกองทัพให้เข้มแข็ง กองทัพต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และที่สำคัญคือต้องแยกการเมืองกับการทหารออกจากกันอย่างเด็ดขาด การเมืองและการทหารจะต้องไม่ระแวงกัน แต่ต้องเกื้อหนุนเพื่อปกป้องรักษาประชาธิปไตยของประเทศชาติ
หมายเหตุ : กิ่งอ้อ เล่าฮง เป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น