วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

นิติราษฏร์: การสืบราชสันตติวงศ์ตามเทศกาลบ้านเมือง

หมายเหตุ: บทความดังกล่าวพิมพ์เผยแพร่ในเวปไซด์ นิติราษฏร์ โดยอาจารย์พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล


การสืบราชสันตติวงศ์ตามเทศกาลบ้านเมือง

โดย พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล

ภาคที่ ๑. ในสถานการณ์ปกติ

ก่อนอื่น เราต้องชัดแจ้งว่า ในปัจจุบัน องค์รัชทายาท คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามบรมราชกุมาร (the Crown Prince of Siam) [เท่านั้น] ตามพระราชราชโองการประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ1 ดังความหลายตอนในพระราชโองการฉบับดังกล่าวว่า

"สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ทรงอยู่ในฐานะที่จะรับราชสมบัติปกครองราชสมบัติสืบสนองพระองค์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้นเล่าก็ทรงพระเจริญพระชนมายุบรรลุนิติภาวะ ทรงพระวีรยภาพและพระสติปัญญาสามารถที่จะรับภาระของแผ่นดินตามอิสริยศักดิ์ ได้ ถึงสมัยที่จะสถาปนาเป็นองค์รัชทายาท ...จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามบรมราชกุมาร เฉลิมพระนาม..."

บางท่านสับสนว่า สมเด็จพระเทพฯ มีคำว่า "สยามบรมราชกุมารี" (the Great Princess of Siam) ในทางกฎหมายก็ไม่ใช่องค์รัชทายาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำรวจในพระบรมราชโองการสถาปนาอิสริยยศฯ ซึ่งเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร บัญญัติวัตถุประสงค์เพียงว่า "สมควรได้รับพระราชทานอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์ให้สูงขึ้น...เพื่อเป็นพระเกียรติประวัติสืบไป"2 ไม่ใช่องค์รัชทายาท

เมื่อพระมหา กษัตริย์ แต่งตั้ง องค์รัชทายาท ไว้อยู่แล้ว บทบัญญัติมาตรา ๒๓ วรรค ๒ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก็เป็นพับไป ไม่ใช้ในการสืบราชสันตติวงศ์สำหรับรัชกาลนี้3

ผลคือ เมื่อพระมหากษัตริย์ สวรรคตเรียบร้อยแล้ว เราแยกพิจารณาเป็น ๖ กรณี

กรณีที่ ๑. เป็นการสวรรคตในระหว่างอยู่ในสมัยประชุมรัฐสภา : บทบาทจะอยู่ที่ "คณะรัฐมนตรี" ต้องแจ้งให้ "ประธานรัฐสภา" ทราบ และ "ประธานรัฐสภา" เรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบ และ "ประธานรัฐสภา" ต้องอัญเชิญองค์รัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป ผลในทางกฎหมาย เกิดขึ้นทันทีที่ "รัฐสภา รับทราบ - ในทันทีที่ ประธานรัฐสภา ประกาศอัญเชิญฯ" โดยทางวาจา เช่นนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ก็ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ โดยบริบูรณ์ แล้วประธานรัฐสภา ประกาศให้ประชาชนรับทราบ (มาตราม ๒๓ วรรค ๑)

กรณีที่ ๒. เป็น การสวรรคตนอกสมัยประชุมรัฐสภา : เนื่องจากในทางแบบพิธี การเรียกประชุมรัฐสภา ต้องกระทำโดยตราพระราชกฤษฎีกา (มาตรา ๑๒๘ วรรคท้าย ประกอบมาตรา ๑๓๖ (๔) ) ซึ่งการตราพระราชกฤษฎีกา ต้องลงพระปรมาภิไธยโดยพระมหากษัตริย์ (มาตรา ๑๘๗ ประกอบ มาตรา ๑๙๕)

เมื่อพระมหา กษัตริย์สวรรคตไปแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างราชบัลลังก์ว่างลงและยังไม่มีการอัญเชิญรัชทายาท (เช่น ตามกรณีที่๒) ให้ประธานองคมนตรี ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลางก่อน (มาตรา๒๔) โดยก่อนเป็นผู้สำเร็จราชการฯ ประธานองคมนตรี ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรีไปพร้อมกัน (มาตรา ๒๐ วรรคท้าย ประกอบมาตรา ๑๙ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๑๖) นั่นหมายความว่า การจะเรียกประชุมรัฐสภาได้นั้น ประธานองคมนตรีต้องเป็นผู้ลงนาม โดยระหว่างนั้น ถ้าผู้สำเร็จราชการฯชั่วคราว ยังไม่ลงนามตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา หรือเป็นการล่าช้า บทบาทจะตกแก่คณะองคมนตรีเลือกบุคคล(ใครก็ได้)ซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต่อรัฐสภา เพื่อขอความเห็นความ (เห็นชอบ / ไม่เห็นชอบ) ถ้ารัฐสภา "เห็นชอบ" ให้ประธานรัฐสภาประกาศในแบบพิธีว่า "กระทำในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์" แต่งตั้ง บุคคลซึ่งรัฐสภาเห็นชอบนั้น ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (มาตรา ๑๙ วรรคแรก)

กรณีที่ ๓. กรณีสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ หรือหมดวาระ : กระบวนการจะเป็นไปตามกรณีที่ ๑. โดยให้ วุฒิสภา ทำหน้าที่แทน รัฐสภา ไปเลย (มาตรา ๒๓ วรรคท้าย) ซึ่งจะไม่มีปัญหากรณีวุฒิสภาหมดวาระ เพราะว่า สมาชิกวุฒิสภาจะพ้นสมาชิกภาพต่อเมื่อมีสมาชิกวุฒิสภาขึ้นใหม่แล้ว เท่านั้น(มาตรา ๑๑๗ วรรคท้าย) ฉะนั้น ถึงอย่างไรก็ยังคงมีวุฒิสภา

กรณีที่ ๔. ก่อนการสวรรคตของพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ได้มีการแต่งตั้งองค์รัชทายาทพระองค์ใหม่ ภายใต้เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญว่า "การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติ วงศ์ พ.ศ.๒๔๖๗" (มาตรา ๒๒ วรรคแรก) กรณีตั้งองค์รัชทายาท จะเป็นกรณีตามมาตรา ๒๓ วรรคแรก ประกอบมาตรา ๒๒ วรรคแรก ฉะนั้น การตั้งองค์รัชทายาท ก็หาได้ทำโดยความพอใจของพระมหากษัตริย์แต่ถ่ายเดียวได้ไม่ โดยบังคับแห่งรัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ผูกพัน "เงื่อนไขบังคับ" ตามกฎมณเฑียรบาลฯ มาตรา ๑๓ "ท่านห้ามมิให้จัดเอาราชนารีพระองค์ใดๆ เข้าไว้ในลำดับสืบราชสันตติวงศ์เปนอันขาด"4

บางท่านแย้ง ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้ หญิง ขึ้นครองราชย์ได้ แต่เป็นการอ้างอย่างสะเพร่า เพราะกรณี "หญิง" ขึ้นสืบราชสันตติวงศ์ได้นั้น เป็นไปตามมาตรา ๒๓ วรรค ๒ ตามบังคับแห่งรัฐธรรมนูญโดยตรง (มิใช่ บังคับตามกฎมณเฑียรบาล) ซึ่งเป็นกรณีตามวรรค ๒ ต้องเป็นเหตุการณ์ที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงตั้งองค์รัชทายาทไว้มาแต่ก่อน เว้นแต่กรณีที่องค์รัชทายาทเสียชีวิตก่อนพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน สวรรคต หรือก่อนเข้ารับตำแหน่ง

กรณีที่ ๕. กรณีพระมหากษัตริย์แต่งตั้งองค์รัชทายาทไว้แล้ว แต่ถ้าองค์รัชทายาท "เสียชีวิต" ก่อนพระมหากษัตริย์ จากนั้นพระมหากษัตริย์ สวรรคตโดยไม่ตั้งองค์รัชทายาทใหม่ขึ้นแทน กรณีจะตกไปอยู่ในบังคับมาตรา ๒๓ วรรค ๒ บทบาทจะตกแก่คณะองคมนตรี ซึ่งสามารถเสนอ "หญิง" ขึ้นครองราชย์ โดยเสนอผ่านคณะรัฐมนตรีแล้วแจ้งให้รัฐสภาเห็นชอบ

กรณีที่ ๖. กรณี พระมหากษัตริย์สวรรคตไปแล้ว และได้ตั้งองค์รัชทายาทไว้ แต่ก่อนที่ ประธานรัฐสภา "ประกาศอัญเชิญองค์รัชทายาทขึ้นทรงราชย์" ตามมาตรา ๒๓ วรรคแรก มีเหตุให้องค์รัชทายาทเสียชีวิตไปในระหว่างนั้น กรณีย้อนกลับไปเหมือนกรณีที่ ๕.

ภาคที่ ๒.ในสถานการณ์ไม่ปกติ

ในภาคนี้ เป็นการสืบราชสันตติวงศ์โดยวิถีทางมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขัดกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ตลอดจนผิดกฎหมาย

กรณีที่ ๑. เกิด การรัฐประหารโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยม : อำนาจในการสถาปนาผู้สืบราชสันตติวงศ์ ตกแก่หัวหน้าคณะรัฐประหาร อย่างเด็ดขาด โดยอาจมอบอำนาจการตัดสินใจแก่ พระบรมวงศานุวงศ์ หรือ คณะองคมนตรี ก็ได้

กรณีที่ ๒. เกิด การรัฐประหารที่มีลักษณะเป็นการอภิวัตน์โดยฝ่ายก้าวหน้า : อำนาจในการสถาปนาผู้สืบราชสันตติวงศ์ หรือยกเลิกวิธีการสืบตำแหน่งประมุขแห่งรัฐแบบสายโลหิต มาสู่การเลือกตั้ง เป็นของผู้อภิวัตน์

กรณีที่ ๓. เกิดการอัญเชิญผู้สืบราชสันตติวงศ์ผิดพระองค์และประกาศให้รัฐสภารับทราบ ผลในทางรัฐธรรมนูญเป็น โมฆะ ซึ่งการกระทำกระทบกระเทือนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยหลักการถือเป็น coup d'etat (แบบเงียบ) แต่หากไม่มีผู้ใดคัดค้านในลักษณะลุกฮือปั่นป่วนจนต้องอัญเชิญให้ถูกต้องแล้ว ก็ถือว่า การอัญเชิญผิดพระองค์นั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปโดยผลทางการเมือง5

ภาคที่ ๓. เทศกาลบ้านเมืองในปัจจุบัน

ในช่วงวัน หยุดยาวสงกรานต์นี้ ท่านผู้บัญชาการกองทัพบก และพรรคพวก ออกตบเท้า "ข่มขู่" พลเรือนประชาชนรายวัน เช่น จะดำเนินคดีหมิ่นพระมหากษัตริย์อย่างขมีขมัน , บัญชาให้หน่วยงานในสังกัดฟัองบุคคลต่างๆ เป็นต้น เป็นบรรยากาศที่ไม่พึงปรารถนาในนิติรัฐเสรีประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง เหล่านี้ เกิดขึ้นภายหลังที่มีการเผยแพร่ท่าทีของฟ้าหญิงองค์เล็กซึ่งส่งสัญญาณทางการ เมือง "ขอความเป็นธรรมให้พระเจ้าอยู่หัว" เพียงไม่นาน ตลอดจนความรู้สึกคลุมเครือไม่แน่ใจ "สถานะองค์รัชทายาท" ในหลายๆท่าน ผู้เขียนจึงอธิบายโดยทั่วไป ทั้งได้ตั้งข้อสังเกตทางกฎหมาย และผลทางการเมืองที่มีผลต่อความชอบด้วยกฎหมาย (validity & efficacy) เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์สถานการณ์การเมือง (เช่น เหตุการณ์หลังรัฐประหาร , การผลัดแผ่นดิน เป็นต้น) ตลอดจนสร้างความมั่นใจที่จะแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรง ไปตรงมาต่อพระบรมวงศานุวงษ์ซึ่งมิใช้องค์รัชทายาท พระมหากษัตริย์ พระราชินี อันไม่มีความเสี่ยงเป็นผิดมาตรา ๑๑๒ ประมวลกฎหมายอาญาได้เลย เช่น พระเทพฯ ดังอธิบายไปข้างต้น.

--------------------------------

1. ราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ) , เล่ม ๘๙ ตอนที่ ๒๐๐ , ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๕ [ฉบับออนไลน์ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2515/A/200/1.PDF ]

2. ราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ) , เล่ม ๙๔ ตอนที่ ๑๓๑ , ๕ ธันวาคม ๒๕๒๐ [ฉบับออนไลน์ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2520/A/131/1.PDF ]

3. เว้นแต่ ปรากฎเป็นกรณีที่ ๕ หรือกรณีที่๖ ในสถานการณ์ปกติ , หรือ กรณีที่ ๑-๓ ในสถานการณ์ไม่ปกติ ซึ่งจะกล่าวต่อไปตอนท้าย

4. ราชกิจจานุเบกษา , เล่ม ๔๑ , ๑๒ พฤศจิกายน ๒๔๖๗ [ฉบับออนไลน์ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2467/A/195.PDF ]

5. Hans Kelsen , "General Theory of Law and State" (translated by Anders Wedberg) , [New York : Russell & Russell , ๑๙๗๓] p.๔๑ - ๔๒ , ๑๑๘.

18 April 2011

ไม่มีความคิดเห็น: