จิตร ภูมิศักดิ์ : เขาคือใคร ?
- อัครพงษ์ ค่ำคูณ -
ในโลกใบเล็กอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้มีที่ทางของความทรงจำแห่งสังคมหรือที่เราเรียกว่าประวัติศาสตร์อยู่มากมายสำรับคนหลายคน และอาจมากมายเกินพอ ที่คนรุ่นหลังจะได้รับรู้ ยกย่องสรรเสริญ และได้รำลึกนึกถึงผู้คนเหล่านั้น แต่สำหรับคนบางคนแล้ว ก็อาจจะไม่มีที่ทางแห่งใดบนโลก หรือถ้ามีก็น้อยนิดสำหรับให้เขาได้อาศัยแอบอิงอยู่ตามลำพังอย่างสงบ
จิตร ภูมิศักดิ์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2473 ณ ตำบลประจันตคาม อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของ ศิริ ภูมิศักดิ์ นายตรวจสรรพสามิต กับ แสงเงิน (ฉายาวงศ์) และมีพี่สาวหนึ่งคนชื่อ ภิรมณ์ เมื่อ จิตร อายุได้ 2 ปี ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ปีเดียวกับวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติพระบรมราชินีนารถ และ คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์
เดิมทีนั้นเขามีชื่อว่า สมจิตร เมื่ออายุได้ 9-10 ปี ก็ตัดชื่อออกเหลือเพียง จิตร เพราะนโยบายรัฐนิยมของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ.2481-2487/พ.ศ.2491-2500) ที่บุคคลต้องตั้งชื่อ/เรียกชื่อตามลักษณะของเพศหญิง-ชายให้ชัดเจน
พ.ศ. 2484 บิดาได้ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดพระตะบอง ซึ่งไทยยึดเอามาจากเขมรและเปลี่ยนชื่อเป็น จังหวัดพิบูลสงคราม ทำให้จิตรเข้าโรงเรียนที่นี่ เขามีโอกาสเรียนภาษาฝรั่งเศสและภาษาเขมรได้แตกฉาน ถึงขั้นสามารถอ่านภาษาในจารึกเขมรโบราณได้ เมื่อสิ้นสุดสงครามอินโดจีนใน พ.ศ. 2489 ไทยจึงต้องคืนพระตะบองให้เขมร บิดามารดาของจิตรได้แยกทางกัน ครอบครัวจึงย้ายไปอยู่ที่จังหวัดลพบุรี และมารดาเปิดร้านขายเสื้อผ้าเพื่อหาเงินส่งลูกเรียนหนังสือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 - 3 ที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร ในกรุงเทพมหานคร
พ.ศ. 2493 จิตรเข้าศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้เขามีโอกาสเรียนรู้และรับใช้ใกล้ชิดกับปรมาจารย์ถึง 2 ท่าน คือ ดร.วิลเลี่ยม เจ. เก็ดนี่ย์ ดุษฎีบัณฑิตทางอักษรศาสตร์ ฝ่ายภาษาโบราณตะวันออก อดีตที่ปรึกษาของหอสมุดแห่งชาติ และ เรียนวิชาภาษาไทยกับ “เสฐียรโกเศศ” หรือ ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน ซึ่งมีเรื่องเล่าว่าจิตร สอบได้ 100 คะแนนเต็ม แต่อาจารย์หักออก 3 คะแนนเพื่อไม่ให้เหลิง
พ.ศ. 2496 จิตรเป็นสาราณียกรของมหาวิทยาลัย มีหน้าที่ผลิตหนังสือของมหาวิทยาลัยฉบับ 23 ตุลาฯ (วันปิยะมหาราช) แต่แทนที่จะทำเนื้อหาให้เหมือนกับปีที่ผ่านมา เขากลับชี้ให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงของประชาชน เช่นมีข้อความให้นิสิตน้อมรำลึกถึงกรรมกรคนงานที่สร้างตึกจุฬาลงกรณ์ และประชาชนผู้เสียภาษีบ้าง
แต่ก่อนที่หนังสือจะเย็บปกเสร็จ เจ้าหน้าที่ของโรงพิมพ์ “ไทยวัฒนาพาณิช” ได้แอบส่งหนังสือไปให้ตำรวจสันติบาลจึงสั่งให้มีการอายัดหนังสือและมีการตั้งศาลเตี้ยสอบสวนขึ้นที่หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั่งจิตรถูกกลุ่มนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์จับ “โยนบก” หรือทุ่มลงจากเวทีหอประชุม ทำให้ได้รับบาดเจ็บถึงขั้นต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเลิดสิน และทางฝ่ายมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโทษและมีมติให้จิตรพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปี คือในปี พ.ศ. 2497
พ.ศ. 2498 จิตรจึงได้กลับเข้าเรียนต่อในชั้นปีที่ 3 ในช่วงนี้ จิตรได้หันมาทำงานเป็นมัคคุเทศก์ นำชาวต่างประเทศไปท่องเที่ยวชมนครวัดนครธม ทำให้จิตรมีความเชี่ยวชาญทางโบราณคดีภาษาเขมรและการอ่านจารึกได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในการกลับเข้ามาเรียนครั้งนี้ จิตรได้รวมกลุ่มกับเพื่อนนิสิตที่มีแนวคิดก้าวหน้าจากคณะต่างๆ ทำกิจกรรมที่เน้นหนักไปในทางปฏิบัติและการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งในระดับคณะ ในระดับมหาวิทยาลัย และในระดับขบวนการนิสิตนักศึกษา
มีการกระตุ้นให้นักเรียน นิสิตนักศึกษามีความรักประชาธิปไตย สนใจการเมืองให้เข้าใจว่าการเมืองเป็นปมเงื่อนในการแก้ปัญหาของประเทศ การคัดค้านวัฒนธรรมอันต่ำทรามของจักรวรรดินิยมอเมริกา พิทักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ คัดค้านความไม่เป็นประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัย คัดค้านระบบอาวุโส ลัทธินิยมคณะ ลัทธินิยมมหาวิทยาลัย และลัทธิบ้ากีฬาฯ กระตุ้นให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยต่างๆ มีความสามัคคีกันตระหนักถึงผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ตระหนักถึงภัยของจักรวรรดินิยม และได้มีความพยายามผลักดันให้เกิดองค์กรกลางของกลุ่มนิสิตนักศึกษาไทยขึ้นซึ่งก็คือ “สหพันธ์นักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” แต่มีการยึดอำนาจของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เสียก่อนจึงไม่สำเร็จ
นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ให้นักศึกษาบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ที่พิษณุโลก ปี พ.ศ. 2499 ชักชวนนิสิตจุฬาฯ ออกไปปฏิบัติงานตาม หัวลำโพง ตามกรมแรงงาน กรมประชาสงเคราะห์ในเวลาเย็น นำอาหารเครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรคไปแจกจ่าย และหาที่อยู่ตามวัดต่างๆ ให้ผู้อพยพชาวอีสานที่เข้ามาหางานทำและรณรงค์ไม่ให้ชาวอีสานถูกหลอกลวงการใช้แรงงาน โดยมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตร มหาวิทยาลัยศิลปากร เข้าร่วมด้วย
กลุ่มของ จิตร พยายามที่จะสร้างความสามัคคีระหว่างจุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ซึ่งขณะนั้นบรรยากาศขาดความสามัคคี ด้วยจุฬาฯ ดูถูกธรรมศาสตร์ว่าเป็น “มหาวิทยาลัยไพร่” จบออกมาไม่มีงานทำเป็นตลาดวิชาลูกตาสีตาสาก็มาเรียนได้ ด้านธรรมศาสตร์ก็ดูถูกจุฬาฯ ว่าเป็น “มหาวิทยาลัยผู้ดี” มีแต่ลูกคนรวยเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ทางกลุ่มได้ชูคำขวัญที่ก้าวหน้าเพื่อจูงให้นิสิตนักศึกษาจากสองมหาวิทยาลัยลืมลัทธิหลงมหาวิทยาลัยหันมาถือเอาอุดมการณ์รับใช้ประชาชนร่วมกันแทน
เหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดคือ การร่วมคัดค้านการเลือกตั้งที่สกปรกเมื่อปี พ.ศ. 2500 โดยออกใบปลิวเปิดโปงการโกงการเลือกตั้งของ พรรคเสรีมนังคศิลา (ซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เป็นหัวหน้า) และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งท้ายที่สุดจบลงด้วยการทำรัฐประหารยึดอำนาจโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 จิตร ภูมิศักดิ์ จบการศึกษาอักษรศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นจึงทำงานเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์และเป็นอาจารย์พิเศษวิชาภาษาอังกฤษที่คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมทั้งเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ สถาบันค้นคว้าเรื่องเด็กของยูเนสโกที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร
จากการสอนของ จิตร ทำให้หนังสือรับน้องใหม่ของศิลปากร ปี พ.ศ. 2500 เป็นหนังสือที่ปฏิวัติแนวคิดเรื่องศิลปะอย่างขุดรากถอนโคน มีการเผยแพร่งานเขียนเรื่อง “ศิลปเพื่อชีวิต” ซึ่งใช้นามปากกาผู้เขียนว่า “ทีปกร” (ต่อมาสำนักพิมพ์เทเวศน์ จึงรวมพิมพ์เป็นเล่มชื่อ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน”) หนังสือรับน้องศิลปากรนี้ จัดพิมพ์ 1,000 เล่ม แต่หลังจากมีการแจกหนังสือดังกล่าวได้ถูกบรรดานักศึกษาคณะจิตรกรรม ต่อต้านและนำไปทำลายเป็นจำนวนมาก จนเกิดการชกต่อยระหว่างผู้มีแนวคิดแตกต่างกันสองแนวทาง
และปีเดียวกันนี้จิตรได้เขียนบทความชื่อ “บทบาททางวรรณคดีของพระมหามนตรี” ซึ่งมีเนื้อหาล้อเลียนวัฒนธรรมศักดินา โดยเฉพาะวรรณกรรมของชนชั้นสูงในเรื่อง “อิเหนา” และเขียน “เพลงยาวบัตรสนเท่ห์” เพื่อสะท้อนการฉ้อราษฎร์ บังหลวง เป็นต้น
ตอนเช้าตรู่ของวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501 จิตรถูกจับกุมพร้อมกับบุคคลอื่นๆ ที่ต่อสู้เพื่อประชาชน ด้วยข้อหา “มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์” และ “สมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร” เป็นผลมาจากการใช้นโยบายปราบปรามแบบเหวี่ยงแหของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2507 จิตร ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากศาลกลาโหมยกฟ้อง รวมแล้วเป็นเวลากว่า 6 ปีเศษที่จิตรติดคุกโดยไม่มีความผิด ระหว่างที่จิตรอยูในคุกนั้นก็ใช้เวลาส่วนมากในการเขียน ซึ่งผลงานเด่นๆ ที่เกิดขึ้นในคุก เช่น เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา, นวนิยายแปลเรื่อง “แม่” ของแมกซิมกอร์กี้, นวนิยายแปลจากอินเดียเรื่อง “โคทาน” ของเปรมจันท์ (แปลไม่จบ) และ ผลงานทางวิชาการที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่นักศึกษาอุษาคเนย์ทุกคนต้องอ่านและศึกษานั่นคือ “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
เดือนตุลาคม พ.ศ. 2508 จิตร ได้ตัดสินใจเดินทางสู่ชนบทภาคอีสาน เพื่อเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในนาม “สหายปรีชา” และปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนักปฏิวัติผ่านงานเขียน บทความ และบทวิจารณ์สังคมมากมาย จนกระทั่ง วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 ขณะเข้ามาขอข้าวจากชาวบ้าน จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐล้อมยิงเสียชีวิต ณ บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร นับเป็นฉากสุดท้ายแห่งการเริ่มต้นตำนานชีวิตของบุรุษผู้นี้
ผลงานทางวิชาการจำนวนมากมาย เช่น โฉมหน้าศักดินาไทย ตำนานแห่งนครวัด และข้อเขียนทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่เปิดโลกทัศน์การศึกษาประวัติศาสตร์ไทยไม่ให้จำกัดอยู่เพียงยุคสุโขทัย อยุธยา หรือรัตนโกสินทร์ และถือได้ว่า จิตร ภูมิศักดิ์ คือผู้จุดเทียนนำทางให้แก่ปัญญาชนรุ่นหลังอย่างปฏิเสธไม่ได้
มีคนเคยกล่าวว่า พระจันทร์ในวันเพ็ญ แม้จะเป็นเสมือนแสงดวงใหญ่ ที่ส่องสว่างให้แก่โลกในเวลาค่ำคืน โดยผู้คนต่างก็จ้องมองดูดวงจันทร์ด้วยความชื่นชม จึงไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกับหิ่งห้อยป่าที่มีแสงสว่างเพียงน้อยนิด ไม่มีแม้ผู้คนจะสนใจไตร่ถาม แต่ถึงกระนั้นก็ตาม หิ่งห้อยป่าก็สามารถที่จะสร้างแสงสว่างให้ตนเองได้ หาจำเป็นต้องหยิบยืมเอาแสงสว่างจากพระอาทิตย์มาห่มคลุมหลุมบ่อและปกปิดความมืดของตนดังเช่นพระจันทร์ไม่
เป็นเวลากว่า 37 ปี (พ.ศ. 2509-2546) ที่ จิตร ภูมิศักดิ์ ละสังขารจากโลกใบนี้ไป แต่เป็นเวลากว่า 73 ปี (พ.ศ. 2473-2546) ที่ จิตร ภูมิศักดิ์ ยังคงเป็นเสมือนแสงสว่างดวงเล็กๆ แต่มีพลังอันยิ่งใหญ่ ที่จะคอยส่องทางชี้นำให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน ในป่าหรือในเมือง ในบ้านหรือในคุก ชายหรือหญิง ขอแต่เพียงมีใจแสวงหา พร้อมที่จะทำงานเพื่อรับใช้ประชาชนผู้ทุกข์ยาก และขึ้นชื่อว่า ได้สืบทอดเจตนารมณ์ที่ดีพอเหมาะสม ในการใช้ปัญญาเพื่อแสวงหาทางออกให้กับสังคมนี้ตลอดไป
(หมายเหตุ บทความนี้เขียนเมื่อปี 2546 หากนับถึงปัจจุบันก็จะครบรอบ 45 ปี)
ขอขอบคุณ - อัครพงษ์ ค่ำคูณ -
http://www-unix.oit.umass.edu/~pokpongj/Interest/interest_people_writing_06.htm
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น