เป็นเรื่องราวใหญ่โตขึ้นมา เมื่อนิตยสารไฮโซอย่าง "WhO?" ฉบับวันที่ 86 วางแผนวันที่ 1 มี.ค. ขึ้นปกพ่อลูกนักรบยิ้มพริ้มภูมิใจ นามว่า "สมเด็จฯฮุน เซน" นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และ "พล.ท.ฮุน มาเน็ต" รองผู้บัญชาการทหารบกกัมพูชา ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน ที่มาบัญชาการสงครามชายแดนไทย-กัมพูชาด้วยตัวเอง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันทั่วเมือง ว่า เหตุใดนิตยสารชื่อดังเล่มนี้ถึงเลือกขายพ่อลูกชาติทหารคู่นี้ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นอริของไทย ท่ามกลางขัดแย้งริมชายแดนไทย-เขมร ที่ควันแห่งการสู้ริมชายแดนยังไม่จางหายไป
ฉบับนั้น "WhO?" เขียนคำเชิญชวนให้อ่านดังนี้
Who′s in Focus ฉายสถานการณ์ไทย (ไม่อยาก) ทะเลาะเขมรที่ถือว่าเป็นเรื่องขึ้นมาจริงๆ จากการปะทะกันอย่างรุนแรงบริเวณชายแดนไทย-เขมร บนพื้นที่พิพาท 4.6 ตร.กม.ในเขตอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีบรรยากาศตึงเครียดอย่างหนัก
ทั้งหมดทั้งมวลนี้จากการข่าวให้ข้อมูลว่าผู้สั่งการคือ พลโทฮุน มาเน็ต ลูกคนที่ 2 จากบุตรจำนวน 6 คน ของฮุนเซน และนางบุญรานี ที่นำทัพออกมาด้วยตนเอง หลายฝ่ายคาดกันว่าเขาต้องการพิสูจน์ตนเอง และสร้างบารมีในฐานะว่าที่ผู้สืบทอดอำนาจของฮุนเซน ในขณะที่ประชาชนกัมพูชาก็ไม่ได้ให้ความสนใจในตัวฮุน มาเน็ตสักเท่าไหร่ ว่ากันว่า ฮุนเซนพยายามเสริมอำนาจตนเองให้แข็งแกร่งด้วยการกำหนดตัวผู้นำในอนาคต ตามรอยคิมจองอิล ผู้นำเกาหลีเหนือที่เพิ่งโปรโมทลูกชายด้วยการติดยศพลเอก
ตามที่ WhO? ฉบับที่ 86 ประจำวันที่ 1 มีนาคม 2554 นำสองพ่อลูก "ฮุน เซน" และ "ฮุน มาเน็ต" ขึ้นปก และทำให้มีเสียงท้วงถามถึงความถูกต้องนั้น WhO? ขออนุญาตกราบเรียนด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ดังนี้
1) เราต่างก็เป็น “คนไทย” ที่รู้สึกร้อนหนาว เจ็บปวดกับการที่พี่น้องร่วมชาติถูกกระทำย่ำยีจากการบัญชาการของพ่อลูกคู่นี้ ความรู้สึกปวดร้าวและสูญเสียคงไม่ต่างกัน เมื่อคิดว่าหนึ่งในพี่น้องไทยผู้บาดเจ็บและสูญเสียอาจเป็นพ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูงเรา เลือดรักชาติย่อมทำให้เราเป็นเดือดเป็นแค้นไม่ต่างกัน
ยิ่งเมื่อเห็นลูกชายของ ฮุน เซน ออกมานำทัพเอง กะจะย่ำยีพี่น้องชายแดนเรา ความรู้สึกเจ็บปวดนี้คงไม่ต่างกับเมื่อเห็น "ลูกใคร" สักคนออกมารังแกคนอื่นจนทำให้เราต้องถามว่า… "ลูกใครหว่า"
เมื่อเราตอบได้ว่า…เป็นลูกใคร เรามักจะพูดว่า ก็พ่อเป็นอย่างนั้นนี่นา ลูกถึงได้เป็นอย่างนี้
นี่คือ "เจตนา" ที่ทำให้เราหยิบยกเรื่องของ ฮุน เซน และลูกขึ้นมา "ศึกษา" ถึงเส้นทางการเติบโตของ "ระบอบ ฮุน เซน" การก้าวกระโดดในลักษณะการเหยียบหัวผู้อื่น และอีกหลายสิ่งอย่างที่ WhO? พยายามนำมาเผยแพร่ถ่ายทอดให้รู้ว่า "ศัตรู" ตัวเอ้ของเราเป็นเช่นไร เช่นเดียวกับประโยคที่ขึ้นพาดหัวว่า "Like father, Like son" พ่อเป็นอย่างไร ลูกเป็นอย่างนั้น
2) การทำข่าวใดๆ ก็ดี เป็นเพียงการรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อหวังให้ผู้อ่านสามารถวิเคราะห์และเก็บเกี่ยวความเป็นจริงได้ ในฐานะของ "คนทำข่าว" เท่านั้น มิได้อยู่ภายใต้อิทธิพลหรือตกเป็นเครื่องมือของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง
3) หากการทำข่าวของ WhO? ครั้งนี้ ทำให้ผู้อ่านเข้าใจเป็นอย่างอื่น เรากราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยความเสียใจอย่างสุดซึ้ง และขอยืนยันว่า เราเป็นคนไทยทั้งตัวและหัวใจ
บรรณาธิการบริหาร
แต่แถลงการณ์พิเศษชุดนี้ ก็ไม่อาจทดแทนกับความรู้สึกของคนไทย ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของกองบรรณาธิการ เห็นได้จากคอมเม้นต์ ซึ่งมีกว่า 60 ความคิดเห็น ซึ่งส่วนมากเป็นความคิดเห็นเชิงลบ
ไม่ว่าจะเป็น "เอ่อ ทั้งรูป !! ทั้งสำนวนเขียน !! นี่เหรอความรู้สึกเสียใจ !!"
"เอามาโชว์ก่อน แล้วแถลงการณ์แก้ตัวทีหลัง ยังไงก็โชว์ไปแล้ว ตอนนี้ดังแล้ว เรื่องการฟอกตัวของWho นั้นทำไม่ยากครับ แค่แถลงการณ์แก้ข่าว แค่นี้Whoก็กลับมาดูดีเหมือนเดิม มุขเดิมๆนี้ยังใช้ได้เสมอนะครับในวงการสื่อมวลชน"
"ถ้าได้สัมภาษณ์ 2 พ่อลูกนี้ ถามให้ด้วยว่ายิงใส่ชาวบ้าน ยิงใส่โรงเรียนทำไม พวกเขาทำอะไรให้ ถ้าไม่ชอบรัฐบาลก็ยิงใส่ค่ายทหารสิ ทำไมต้องเอาชาวบ้านเป็นตัวประกัน ว่าแต่กล้าหรือเปล่า และคำว่า"ตาสว่าง"ต้องการสื่ออะไร คุณ บก.หนังสือwho"
"ทั้งรูปภาพ ทั้งจั่วหัว ไม่ยกยอปอปั้น ? เนื้อความ มีเพียงผู้อ่านเท่านั้นที่รู้ แต่ภาพหน้าปกซึ่งทุกคนที่ไปแผงหนังสือได้เห็น มันสื่ออะไร ตลกล่ะครับคุณ !!"
"แถลงการณ์พิเศษ มันก็แค่ประดิษฐ์คำเพิ่มอีกชุดเท่านั้น" หรือ "รู้เขารู้เรา ด้วยรูปยิ้มกริ่ม เยี่ยงนี้น่ะเหรอ !!"
อย่างไรก็ตาม มีผู้ที่คิดในเชิงบวกกับแถลงการณ์พิเศษชิ้นนี้และเห็นว่าควรให้ความเป็นธรรมกับนิตยสารเล่มนี้ว่า "ผมคิดว่าความผิดเดียวที่อาจจะมีคือช่างภาพถ่ายรูปดีเกินไปนิดนึงครับ :) แต่เชื่อมั่นว่าเจตนารมณ์และวิจารณญาณของผู้เขียนและ บก.ยังมีครบถ้วนบริบูรณ์ เสียใจที่ผมไม่มีโอกาสอ่านเนื้อหา แต่เมื่อดูจากโปรยหัวข่าวบนหน้าปก like father, like son ก็พอจะทราบสิ่งที่อยู่ในเล่มได้ ขอร้องผู้วิจารณ์ครับว่า กรุณาทำความเข้าใจในสิ่งที่ตนเองจะวิจารณ์และให้ความเห็นให้ถ่องแท้เสียก่อน แล้วจะว่าอะไรก็สุดแท้แต่ใจจะอยากแสดงออก ผมรู้สึกว่าสังคมของเราขาดสิ่งนี้ไปเยอะขึ้น ใช้อารมณ์กันมากขึ้น ความแตกแยกจึงปรากฏในสังคมชัดเจนและมากขึ้นอย่างทุกวันนี้ โปรดอย่าทำให้มากขึ้นอีกเลยครับ สังคมของเราจวนจะรับไม่ไหวแล้ว"
รวมทั้งมี นักเขียนจากกองบรรณาธิการ ออกมาชี้แจงว่า "กรณี WhO? ขึ้นปกฮุนเซ็นและลูกชาย ฮุนมาเน็ต ทำให้มีเสียงหนึ่งท้วงถามว่า...ไม่มีคนไทยดีๆพอที่จะขึ้นปกแล้วหรือ ดิฉันในฐานะบรรณาธิการบริหารอยากเรียนชี้แจงว่า แน่นอนคนไทยดีๆมีมากมาย ซึ่งหากติดตามอ่านกันจริง มิได้ดูเฉพาะหน้าปก ก็จะเห็นว่ามีคนทุกระดับชั้นอยู่ใน WhO? เพราะ WhO? เป็นหนังสือข่าวบุคคล ฉะนั้นผู้ที่เป็นข่าวและเรา "น่าจะ"ทำความรู้จักไม่ว่าคนชาติไหน เราก็จะ "ศึกษา" ดิฉันเชื่อว่าการรู้จักทั้งมิตรและศัตรู เผื่อจะทำให้เรา "ตาสว่าง"ขึ้นบ้าง ไม่หันมาเป็นศัตรูกันเองเยี่ยงทุกวันนี้"
ขอบคุณมติชนออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น