โดย ชฎา ไอยคุปต์
ผ่านไปกว่า 5 เดือนคดีการเสียชีวิตในวัดปทุมวนารามวรวิหาร จำนวน 6 ศพของกลุ่มอาสาและคนเสื้อแดงที่หนีเข้าวัดซึ่งเป็นเขตอภัยทานเข้าไปหลบภัย กลายเป็นข่าวครึกโครมสะเทือนขวัญของคนทั่วไปหลังทราบข่าวคนถูกยิงตายคาวัด จนนำไปสู่การตรวจสอบหาวิถีกระสุนเจาะทะลุ-ฝังในร่างกายทั้ง 6 ศพ แต่ยังมีอีกกว่า 80 ศพที่เสียชีวิตในลักษณะเดียวกันต่างแค่สถานที่ตายนอกวัดเรื่องจึงยังแน่นิ่ง สวนทางกับข่าวไฟไหม้ที่โหมกระพือลุกลามไปทั่ว
การเสียชีวิตของ 6 ศพ ฝ่ายรัฐบาลโดยรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ออกมายืนยัน เมื่อเวลา 17.30 น. วันที่ 31 พ.ค. ในรัฐสภาหลังจากที่ส.ส.พรรคเพื่อไทยอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพร้อมกับเปิด คลิปยืนยันว่ามีทหารยิงเข้าไปในวัดปทุมวนาราม นายสุเทพ เทือกสุบรรณรองนายกรัฐมนตรียืนยันว่า วันที่ 19 พ.ค. หลังเวลา 18 .30 น. ไม่มีเจ้าหน้าที่อยู่บนรางรถไฟบีทีเอสแน่นอน เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน( ศอฉ.)แถลงย้ำอีกครั้งโดยเดิมพันด้วยตำแหน่งยืนยันทหารไม่เกี่ยว 6 ศพวัดปทุมฯโดยยึดคำชี้แจงของพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ที่ออกมาระบุเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ว่า เจ้าหน้าที่เขายืนยันว่าในช่วงเวลานั้นไม่ได้อยู่ตรงนั้น และตรวจสอบแล้วว่าไม่มีใครใช้อาวุธกับประชาชน
เมื่อถามว่า ผบ.หน่วยสามารถคุมกำลังพลที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ไม่ให้ใช้อาวุธยิง ประชาชนได้ใช่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ถูกต้อง ขอ ยืนยันว่าได้ตรวจสอบและสอบถามว่าไม่ได้ดำเนินการเช่นนั้น เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่พรรคเพื่อไทยนำเรื่อง 6 ศพ ไปขยายทางการเมือง พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ใครมีหน้าที่อย่างไร หรือใครจะดำเนินการก็ให้ดำเนินการไป
ล่าสุด ผบ.สำนักคดีเทคโนโลยีดีเอสไอนำทีมขนอุปกรณ์ไฮเทคขึ้นตรวจสถานีรถไฟฟ้าสยาม และวัดปทุมวนาราม ไขปริศนาคดีการเสียชีวิต 6 ศพในเขตอภัยทานวัดปทุมฯ พบหลักฐานสำคัญเป็นปลอกกระสุนปืน ′เอชเค′ กระจายตกอยู่ใต้ราง อีกทั้งเลเซอร์ตรวจวิถีกระสุนชี้ชัด มีการยิงกระสุนปืนจากตำแหน่งรางรถไฟ
เวลา 01.00 น. วันที่ 24 ก.ย. พ.ต.ท. วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผบ.สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะรองหัวหน้าคณะทำงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงการเสียชีวิตจากการชุมนุมของ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กลุ่มงานตรวจสอบ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ประมาณ 20 นาย พร้อมอุปกรณ์การตรวจสอบที่เกิดเหตุ เดินทางมาเก็บหลักฐานบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สยาม และภายในวัดปทุมวนาราม
รายงานข่าวแจ้งว่า จากการตรวจสอบหาหลักฐานบนสถานีรถไฟฟ้าบี ทีเอสชั้น 2 บริเวณด้านหน้าวัดปทุมฯ เจ้าหน้าที่ตรวจพบหลักฐานชิ้นสำคัญที่จะเป็นกุญแจไขปริศนาว่าใครเป็นผู้ก่อ เหตุยิงประชาชนในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดง-นปช. โดยพบปลอกกระสุนปืน "เอชเค" ใช้แล้ว ตกกระจายอยู่ใต้รางรถไฟฟ้าประมาณ 3-4 ปลอก เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์จึงเก็บไว้ตรวจสอบเปรียบเทียบกับหลักฐานหัว กระสุนปืนที่เก็บได้ก่อนหน้านี้ว่าตรงกันหรือไม่
ทั้งนี้มีภาพและคลิปวิดีโอที่ยืนยันว่ามีชายแต่งชุดคล้ายเจ้าหน้าที่ ทหารขึ้นไปประจำอยู่บนรางรถไฟฟ้าในวันที่เกิดเหตุในวัดปทุมวนาราม เรื่องนี้นายกฯออกมายืนยัน เมื่อวันที่ 31 พ.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าได้มีการพูดถึงการยิง เข้าวัดปทุมฯ จากบีทีเอสหรือสกายวอล์ค(ทางเดินเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟฟ้า) โดยมีคนอยู่บนรางรถไฟฟ้าสองชั้น ซึ่งถ้ามีคนเดินมาจะมาได้ ต้องมาจากทิศทางราชประสงค์ เพราะสถานีสยามถูกปิดล็อคประตู
นอกจากนี้นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรค แถลงว่า เหตุการณ์วันที่ 19 พ.ค. เจ้า หน้าที่รัฐไม่สามารถเข้าไปในที่ชุมนุมได้ โดยตรึงพื้นที่รอบนอกพื้นที่ชุมนุมห่าง 1 ก.ม. ส่วนภาพถ่ายที่มีทหารอยู่บนรางรถไฟฟ้า และด้านล่างเป็นภาพพล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 ยืนอยู่บนรถกระจายเสียงเชิญชวนคนเสื้อแดงกลับบ้าน ภาพเป็นกลางวัน น่าจะเป็นวันที่ 20-21 พ.ค. แต่เหตุการณ์ยิงเข้าไปในวัดเป็นตอนกลางคืน ภาพคงไม่ชัดอย่างที่นำเสนอ
ประเด็นนี้จึงนำไปสู่การถกเถียงเรื่อง "ควันไฟ" ซึ่งจะเป็นหลักฐานว่าใครพูดจริงเพราะวันที่ชาวบ้านถูกยิงเสียชีวิตตรงกับวัน ที่มีเหตุเพลิงไหม้ควันไฟจึงเป็นหลักฐานที่จะยืนยันวันเกิดเหตุ โดย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย นำคลิป มายืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้เคลื่อนขึ้นไปอยู่บนรางรถไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค.ในวันเกิดเหตุมีผู้เสียชีวิต 6 ศพในวัดปทุมวนาราม ยืนยันว่าในคลิปมีกลุ่มควันที่ถูกเผาเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีเจ้าหน้าที่ทหาร บนรางรถไฟในวันที่ 19 พ.ค.ไม่ใช่วันที่ 20 พ.ค.
การถกเถียงกันทั้งหมดกลายเป็นเรื่อง ประเด็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จบ แต่หลักฐานที่ปรากฎ คือ ปลอกกระสุนที่พบในที่เกิดเหตุเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญว่ามีการยิงลงไปจากราง รถไฟฟ้าบีทีเอสจริงตามคำบอกเล่าของชาวบ้านที่บอกว่าเห็น "ทหารยิง" ซึ่งน้ำหนักของชาวบ้านดังไม่พอที่จะทำให้เชื่อได้ว่าเป็นความจริงแม้บางคนจะ ออกมาประกาศยอมตายก็ตาม
หากนำภาพและคลิปวิดีโอรวมทั้งหลักฐานมาประมวลแล้วจะพบว่าผู้ร้ายที่ยิงประชาชนคือใครกันแน่ ระหว่างผู้ก่อการร้ายกับทหาร ? ถ้ากระบวนการพิสูจน์หลักฐานของไทยยังใช้ได้เชื่อว่ากระสุนที่ฝังในร่างของ ผู้เสียชีวิตจะถูกนำมาตรวจสอบตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ให้เกิดประโยชน์แก่คดี ได้บ้าง
หลังจากที่พยายามค้นหาภาพผู้ก่อการร้ายที่ขึ้นไปยืนบนราง รถไฟกลับไม่ปรากฎในสื่อใด มีเพียงแค่ชายใส่ชุดลายพรางพร้อมอาวุธครบมือเท่านั้น ที่ไต่อยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส นี่อาจจะจุดเริ่มต้นของการสืบสาวหาความจริงจากศพสุดท้ายที่ตายในเหตุการณ์ เดือนเมษายนถึงเดือนพฤษาคมนำไปสู่อีก 80 กว่าศพที่รอคลี่คลายท่ามกลางความแคลงใจของสังคมที่ยังตั้งคำถาม ... ใครฆ่า?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น