วันที่ 7 พฤศจิกายน 2556 go6TV - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ หลานสาวนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (บุตรสาวนางเยาวเรศ ชินวัตร) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว https://www.facebook.com/Sand.Chayika โดยมีเนื้อหาดังนี้
ค้านนิรโทษกรรมเพื่อ “ประชาธิปัตย์”?
ได้มีโอกาสอ่านบทความจากไทยรัฐออนไลน์ ประจำวันที่ 6 พฤศจิกายน เรื่องพลังโซเชียลมีเดีย ปลุกกระแสมวลชนต้าน'นิรโทษฯ'ได้จริงหรือ? (http://www.thairath.co.th/content/tech/380913) บทความดังกล่าวได้ตั้งคำถามว่า “คุณคัดค้านการนิรโทษกรรมแบบไหน?” พร้อมกับแบ่งสาเหตุการคัดค้าน ร่าง พรบ. นิรโทษกรรมฯ ไม่ว่าจะเป็นแบบนิติราษฎร์ที่ค้านการนิรโทษผู้สั่งฆ่าประชาชนและแกนนำ แบบไม่เอาทักษิณ แบบให้ทักษิณมาสู้คดีตามปกติ แบบนิรโทษคดี 112 แบบค้านนิรโทษเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง หรือ แบบค้านเพราะเกลียดนักการเมืองในสภา การรณรงค์ปลุกกระแสมวลชนต้าน “นิรโทษฯ” ในครั้งนี้ “ผู้จัดแคมเปญ” การสื่อสารทางการเมือง (Political Marketing) ได้แบ่งวิธีการสื่อสารด้วย “ข้อความหลัก” (Key Message) ถึงกลุ่มต่างๆได้ 2 ประเภท ดังนี้
ประเภทที่ 1 ข้อความหลักถึงกลุ่มคัดค้าน พรบ. นิรโทษกรรมฯ แบบเกลียดการทุจริต คอร์รัปชั่น และการกระทำผิดกฎหมาย โดย “ผู้จัดแคมเปญ” ใช้ข้อความ รักชาติ ปกป้องประเทศ ปกป้องสถาบัน ด้วยการสร้างวาทกรรมแห่งการเกลียดชัง (Hate Speech) ให้ “ทักษิณ” และครอบครัว เป็นผู้ร้าย หรือ แพะรับบาป หรือ ที่เรียกว่าเทคนิค Scape Goat ให้ผู้รับสารฟังแล้วเกิดความรู้สึกต้องการอยากปกป้องประเทศ ปกป้องสถาบันจากตัวละครตัวร้ายนี้ ด้วยเหตุผล 2 ประการว่า
1. เป็นพรบ. ที่ร่างขึ้นเพื่อเปิดช่องในการคืนเงิน 4.6 หมื่นล้าน
2. และ เป็นพรบ. ที่ล้างผิดคนโกง โดยจะมีคดีเกี่ยวกับการ ทุจริต คอร์รัปชั่น ของนักการเมืองที่ได้รับอานิสงค์หลายคดี
โดยทั้ง 2 เหตุผลที่ “ผู้จัดแคมเปญ” พร่ำพูดซ้ำๆ โดยที่ไม่ได้บอกผู้รับสารว่า การคืนเงิน 4.6 หมื่นล้านบาท ได้ถูกหักล้างด้วย ถ้อยแถลงของ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าด้วยท่าทีต่อ ร่าง พรบ. นิรโทษกรรมฯ ว่า “การบิดเบือนนั้นทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายการเงิน เพราะหากเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ดิฉันในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องลงนามรับรอง ซึ่งดิฉันไม่เคยลงนามใดๆ”
ส่วนเรื่อง การล้างผิดคดีทุจริต คอร์รัปชั่น “ผู้จัดแคมเปญ” และผู้สนับสนุนทั้งหลายก็ได้กระหน่ำข้อความ ภาพอินโฟกราฟฟิค ในโลกโซเชียล ให้เห็นว่าใครจะได้รับอานิสงค์จากการทุจริต คอร์รัปชั่น บ้าง โดยที่ไม่เคยบอกผู้รับสารเลยว่าคดีที่จะได้รับการนิรโทษฯ ส่วนใหญ่เป็นคดีที่เป็นผลพวงของการรัฐประหารทั้งสิ้น ดังคำกล่าวของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่ว่า “ที่สำคัญมีความพยายามที่จะบิดเบือนว่ากฎหมายจะ กลบเกลื่อนการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับ พรบ.นิรโทษกรรม ซึ่ง พรบ. ฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ยกโทษให้ผู้ได้รับผลพวงทางการเมือง การรัฐประหารที่ไม่อยู่ในหลักนิติธรรม รวมทั้งผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน”
มากไปกว่านั้น เมื่อ “ผู้จัดแคมเปญ” กำหนด “ข้อความหลัก” ย่อมต้องมีการวางแผนและคาดหวังผลใดจากผู้รับสาร โดยเฉพาะจุดมุ่งหมายในการที่จะขับเคลื่อนทางการเมือง กล่าวคือ “วัตถุประสงค์” ของการส่งสาร ของ “ผู้จัดแคมเปญ” หรือ “พรรคประชาธิปัตย์” ซึ่งออกตัวขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเต็มกำลังนั้นเป็นไป เพื่อสร้างโอกาสให้ได้กลับมาเป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งหรือไม่? เพราะหากเป็นเช่นนั้น คงต้องพิจารณากันให้ชัดเจนว่า การปกป้องประเทศชาติจากการทุจริต คอร์รัปชั่น ถูกใช้เป็นแคมเปญในการสื่อสารนั้น ต้องปกป้องด้วยการให้พรรคประชาธิปัตย์ กลับมาได้สิทธิถือครองอำนาจรัฐ คือคำตอบที่ถูกต้องแล้วหรือไม่?
ประเภทที่ 2 ข้อความหลักถึงกลุ่มที่คัดค้าน ร่าง พรบ. นิรโทษฯ ที่เป็นกลุ่มคนเสื้อแดง โดยเน้นเรื่องการนิรโทษให้กับผู้สั่งฆ่าประชาชนและแกนนำ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ว่าผู้สูญเสียและนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย อาจยังไม่สามารถทำใจยอมรับได้ ณ เวลานี้
อย่างไรก็ตาม “ผู้จัดแคมเปญ” ที่สื่อสารข้อความหลักประเภทนี้ ก็ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุม ปี 2553 แต่อย่างใด และไม่ได้มีความต้องการในการสร้างกระแสสังคมเพื่อนำไปสู่หนทางที่ประเทศจะยกระดับประชาธิปไตยที่ดีขึ้น มิหนำซ้ำ "ผู้จัดแคมเปญ" ยังมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองซ่อนเร้นในการล้มล้างรัฐบ าลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อีกครั้งใช่หรือไม่? และถ้าเป็นเช่นนั้น การชุมนุมอยู่ในขณะนี้นั้นคงไม่ใช่หนทางในการนำประเทศไปสู่การคืนความยุติธรรมให้กับประชาชน และส่งเสริมการปกครองระบบประชาธิปไตยให้ดีขึ้นได้
และท้ายที่สุด การชุมนุมครั้งนี้ ก็คงไม่ต่างจากการชุมนุมที่มีเป้าหมายในการล้มล้างรัฐบาลเหมือนทุกครั้ง โดยเฉพาะในขณะนี้ที่พรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่ยุติการปลุกระดม ในขณะที่ทุกฝ่ายได้ส่งสัญญาณการรับฟังและพร้อมที่จะรักษาบรรยากาศของประเทศและบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตย ซ้ำร้าย พรรคประชาธิปัตย์ยังคงสร้างเงื่อนไขใหม่ เพื่อไปสู้เป้าหมายที่ซ่อนเร้นเอาไว้ภายใต้การปลุกระดมที่ชัดเจนมากขึ้น
ทั้งๆที่ ล่าสุด นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้ออกมาแถลงอย่างชัดเจนแล้วว่า "ขอยืนยันว่ารัฐบาลรับฟังเสียงความรู้สึกของประชาชนเพราะมาโดยประชาชน ยึดเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเป็นสำคัญ และจะไม่ทำลายความรู้สึกของพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลมุ่งหวังมาตั้งแต่แรก ไม่มีทิฐิ ขอเพียงให้บ้านเมืองเกิดความสงบและสันติสุขเท่านั้น ทั้งนี้เรามีหลายขั้นตอนที่ช่วยเหลือประชาชน โดยไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ แม้พ้นระยะเวลา 180 วันไปแล้ว พรรคเพื่อไทยขอยืนยันว่าจะไม่หยิบยกกฎหมายฉบับนี้มาพิจารณาอีก”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น