ผมจงใจรอให้ “ฝุ่นควันมายาทางข่าวสาร” ที่ฟุ้งมาตลอดทั้งวัน มันหยุดลงก่อน เพราะเมื่อเรามองผ่านม่านหมอกควัน เราจะงง และอาจจะมองผิดพลาดได้
มองตลอดวันนี้ และย้อนไปสามวัน เราจะเห็นกลุ่มม็อบประชาธิปัตย์ เที่ยวยึดโน่นนี่นั้น เฉพาะในกระทรวงในกรุงเทพ ก็ดูยึดไปเป็นสิบ ศาลากลางจังหวัดก็ดูยึดไปร่วมสามสิบแห่ง น่ากลัวจัง ทำไงดี?
แต่หากรอฝุ่นความจางแล้วเราจะเห็นข้อเท็จจริงว่า
1. ในกรุงเทพนั้น มีคนเข้าร่วมม็อบเวลากลางวัน และทำหน้าที่ไป “เที่ยวยึด” จริงๆแค่ประมาณไม่เกิน 5 พันคน และไม่ใช่ “ยึดแล้วปักหลัก” แต่เป็น “ยึดที่แรก แล้วก็ทิ้งไปยึดที่สอง แล้วไปยึดที่สาม” เอาเข้าจริงๆ สิบกว่ากระทรวงที่อ้างว่ายึดนั้น “แค่ไปยืนยึด และก็ถอยออกมา” หากจะใช้คำว่า “ยึด” ควรจะต้อง “เข้าครอบครองได้เบ็ดเสร็จจนไม่สามารถมาทำงานได้” แต่นี่ยึดไปวันเดียว วันรุ่งขึ้นข้าราชการก็กลับเข้าไปทำงานได้ เพราะอะไรหรือครับ เพราะหากเขาจะยึดจริงๆ ต้องใช้คนสักแสนสองแสนคน ถึงจะยึดทุกกระทรวงและปักหลักอยู่ได้เลย แต่เขาไม่มีจริงๆ มีมากสุด ห้าพัน จึงได้เพียงแค่สร้างภาพว่า “ยึด” ให้เป็นข่าวแล้วก็ถอยออกมา
2.ในต่างจังหวัด เขาไม่ได้ “ยึด” เพราะหากยึดจริงๆ ต้องเข้าครอบครองตัวอาคารศาลากลาง แต่นี่เค้าไปอยู่ปักหลักตามสนามหญ้า และก็เรียกให้ข้าราชการออกไปทั้งหมด และที่สำคัญ เขาทำได้เฉพาะจังหวัดทางภาคใต้เท่านั้น เพราะเป็นฐานเสียงเขา ไม่มีจังหวัดอื่นใดในภาคอื่นเล่นด้วย ดังนั้น สรุปจังหวัดที่ “ยึดศาลากลาง” ได้จริงๆคือที่สุราษฏร์ธานีจังหวัดเดียว
ดังนั้นสรุปนะครับว่า ในกรุงเทพที่บอกไปยึดโน่นนี่นั้น สรุปว่า ณ เวลานี้ ยึดได้แค่ที่ ถนนราชดำเนิน ก.คลัง และศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (ล่าสุดถอยแล้ว เพราะคนไปยึดกลับบ้านกันหมด)
คำถามต่อมาคือ แล้วไงต่อ คงถามทั้งสองฝ่าย?
ณ เวลานี้ แรงเหวี่ยงไหลไปกดดันที่ฝ่ายม็อบประชาธิปัตย์ เพราะเวลาของตนเอง “งวดเข้าไปทุกที” งานนี้ต้องอาศัยลูกอึด ผมมองว่าทำไมเวลาเทพเทือกถึงน้อยลง
เพราะว่า เขาต้องปิดจ็อบทุกอย่างให้ได้ ภายในเดือนพฤศจิกายน หากเข้าเดือนมหามงคล แล้วเค้ายังก่อม็อบ อาจถูกมองแง่ลบได้ แต่ ณ วันนี้ ถามหา “ปัจจัยหลัก” ที่จะทำให้ “เทพเทือก” ปิดจ็อบได้นั้น แทบไม่เหลืออะไรแล้ว
- วันนี้ ทหารนิ่งในที่ตั้ง ไม่ก่อรัฐประหาร
- วันนี้ รัฐบาลนิ่ง ไม่สลายการชุมนุม
- วันนี้ รัฐสภาเดินหน้าทำงานอภิปรายไม่ไว้วางใจ เท่ากับสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ปฏิเสธการเคลื่อนไหวนอกสภา
- วันนี้ รัฐวิสาหกิจทุกแห่งนิ่ง ไม่บ้าอารยะขัดขืนหยุดงาน
- วันนี้ เอกชนทุกแห่งนิ่ง เพราะเขาต้องการให้เศรษฐกิจเดินหน้า ต้องการให้โครงการของรัฐบาลเดินหน้า
- วันนี้ ต่างประเทศทุกแห่ง 6 ประเทศใหญ่ และองค์การสิทธิมนุษยชนโลก ต่างส่งสารและแถลงการณ์ให้กำลังใจรัฐบาล และประณามการใช้ความรุนแรงยึดสถานที่ราชการ-เอกชน และคุกคามสื่อมวลชนของพรรคประชาธิปัตย์
ทุกองคาพยพ ที่จะสั่นสะเทือนอำนาจรัฐนั้น อยู่ในระบอบ กรอบกติกาเคร่งครัด และรัฐบาลก็พูดชัดว่า “ไม่สลายการชุมนุม” จึงทำให้ฝ่ายรัฐบาลกำความชอบธรรมไว้เต็มๆ อาศัยลูกอึด ความชอบธรรม และใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าดำเนินการอย่างชัดเจน โปร่งใส แค่นี้สุเทพก็กระอักแล้ว
มองดูฝ่ายค้าน
- วันนี้ พรรคประชาธิปัตย์ พล่านในสภา เปิดอภิปราย ก็ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้
- วันนี้ ม็อบประชาธิปัตย์ แผ่วลงทันทีหลังก่อความวุ่นวายยึดสถานที่ราชการทุกวัน
- วันนี้ ม็อบประชาธิปัตย์ ถูกรุมประณามจากทุกประเทศ และองค์การสิทธิมนุษยชนโลก
เงื่อนเวลาลดน้อยลงทุกที แต่ “สุเทพ” ซึ่งอยู่ในสถานะขี่หลังเสือแล้วลงไม่ได้ มีทางเลือกอย่างไร
1. ปลุกระดมมวลชนอีกครั้งในวันสุดสัปดาห์นี้ อีกครั้ง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กลับคืนมา
2. ต้องตอบสังคมจริงๆให้ได้ว่า ตกลงแล้ว “ระบอบทักษิณ” ที่สุเทพต้องการล้มนั้น มันคืออะไรกันแน่ เพราะที่สุเทพไปทำนั้น มันไปล้มระบบการบริหารราชการแผ่นดินทั้งนั้น ต้องตอบให้ได้ว่าที่ไปไล่ยึดกระทรวงฯ ต่างๆนั้น มัน “ล้มระบอบทักษิณ” ตรงไหน?
3. ต้องมีคำตอบที่ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรมว่า หากล้ม “ระบอบทักษิณ” ได้จริงๆ (สมมุตินะ) แล้ว จะนำเสนอ “ระบอบอะไร” ที่ดีกว่า ต้องเป็นรูปธรรมชนิดจับต้องได้ เข้าใจได้ ลำพังที่พูดมา 6 ข้อมันล้วนแต่จินตนาการอุดมคติ ที่คนไทย “ไม่เชื่อเลย” ลำพังที่บอกว่า ล้มเสร็จแล้วเราจะมาสร้างดรีมทีมคณะรัฐบาล มันคืออะไร ตลอดวันนี้ทั้งวัน คนไทยไม่เข้าใจประเด็นนี้ มองข้ามไปเห็นแต่บุกไล่ยึดสถานที่ราชการเท่านั้น แถมยึดศูนย์ราชการอีก มันเท่ากับตอกย้ำซ้ำรอย “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยึดสนามบินสุวรรณภูมิ”
เอาลูกอึดและความชอบธรรมเข้าว่ากัน แค่นี้ ก็พอมองออกแล้วว่า ใครจะชนะ ใครจะพ่ายหมดรูป
คนไทยคงตัดสินใจได้แล้วว่า ชั่วดีถี่ห่าง ทนอยู่กับ “ระบอบทักษิณ” แล้วได้รถไฟฟ้าความเร็วสูง ได้สนามบินสุวรรณภูมิ ได้อนาคตประเทศไทย 2020 แม้ฝ่ายต้านอาจจะอึดอัดขัดใจที่จะต้องทนเห็นนายกฯคนสวยไปอีกสมัย ก็น่าจะดีกว่าเลือก “ระบอบสุเทพ” นะ!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น