วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

"พิชิต ชื่นบาน" ชี้ คำร้องถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ไม่ใช่เอกสารลับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00น. ที่ผ่านมา นายพิชิต ชื่นบาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความผ่าน เฟสบุ๊คส่วนตัว https://www.facebook.com/pichitofficial ในฐานะคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค โดยมีความเห็นว่า ข้ออ้างของฝ่ายค้านที่ไม่แสดงคำร้องขอถอดถอนนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยอ้างเป็นเอกสารลับนั้น เป็นข้ออ้างที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ นายพิชิต ได้โพสต์ข้อความ เพิ่มเติมดังนี้


๑. รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๑ วรรคแรก ตอนท้ายระบุชัดแจ้งว่า “คำร้องขอให้ถอดถอนบุคคลตาม มาตรา ๒๗๐ ออกจากตำแหน่ง คำร้องขอต้องระบุพฤติการที่กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวกระทำความผิดเป็นข้อๆ ให้ชัดเจน”  เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๘ ในการกล่าวหาว่า นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือจงใจฝ่าฝืน บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายจะเสนอ โดยไม่มีการยื่นคำร้องขอตาม มาตรา ๒๗๑ ก่อนมิได้ จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๘,๒๗๐ และมาตรา ๒๗๑ เป็นไปตามหลักการคุมครองสิทธิ เพราะเป็นการกล่าวหาในทางอาญาที่ผู้ถูกกล่าวหา จะต้องรู้ว่าถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในเรื่องใด รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗๑ จึงบัญญัติในฝ่ายกล่าวหาต้องระบุความผิดเป็นข้อๆ ให้ชัดเจน เพราะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหาต้องเข้าใจว่าถูกกล่าวหาในเรื่องใด เพื่อไม่หลงประเด็นที่กล่าวหา และหลงข้อต่อสู้ในฐานะที่ถูกกล่าวหา เพราะนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหามีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๖๒ ในการชี้แจงข้อหาการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ในเรื่องที่ถูกกล่าวหาตามคำร้องในเรื่องนั้นด้วยตนเอง

คำถาม เมื่อรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ผู้กล่าวหาต้องระบุความผิดเป็นข้อๆ ให้ชัดเจน และฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาต้องชี้แจงข้อกล่าวหา  หากถือการตีความฝ่ายค้านว่าคำร้องเป็นเอกสารลับไม่ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาจะชี้แจงได้อย่างไร ความผิดที่กล่าวหาเรื่องอะไร ประเด็นอะไร ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติกระทั่งผู้กล่าวหาต้องระบุเป็นข้อๆ ให้ชัดเจน เช่นนี้ ผู้ถูกกล่าวหาจะชี้แจงให้เป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างไร
๒. ฝ่ายค้านต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า ระหว่างคำร้องขอถอดถอน ซึ่งเปรียบเสมือนคำฟ้อง คำกล่าวโทษ หรือข้อกล่าวหาไม่ใช่เรื่องลับ การแสดงพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหาต่างหากที่ฝ่ายค้านจะอ้างเป็นเอกสารลับได้ ซึ่งสามารถมาแสดงต่อสภา เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวหาของตนในอันที่จะสนับสนุนข้อกล่าวหาว่าเป็นความจริง ฝ่ายค้านต้องแยกแยะทางหลักการของกฎหมายให้ได้ “ขอยืนยันว่าคำร้อง ถอดถอนไม่ใช่เอกสารลับ พยานหลักฐานที่จะต้องนำเสนอต่างหากที่เป็นเอกสารลับยังไม่ต้องนำมาแสดงในชั้นเสนอญัติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๕๘” เปรียบเทียบการแจ้งข้อกล่าวหา และการฟ้องจำเลยในคดีอาญา ซึ่งนายอภิสิทธ์ฯ และนายสุเทพฯ ที่ถูกกล่าวหาจากอัยการสูงสุดว่า มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล พนักงานสอบสวน และศาล กฎหมายกำหนดให้ต้องอ่านข้อกล่าวหา และคำฟ้องให้บุคคลทั้งสอง แต่พยานหลักฐานพนักงานสอบสวน และศาล จะไม่แสดงหลักฐานในวันเวลาที่กล่าวหา ซึ่งเรื่องนี้จะพิสูจน์ความจริงกันในวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๖ ในเวลาที่อัยการสูงสุดนำบุคคลทั้งสองไปฟ้องคดีที่ศาลอาญา

๓. ในการอภิปรายที่ผ่านมา เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้านกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ฯ อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ในรัฐบาลที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยก็จะแนบคำร้องถอดถอนไปกับญัติ อภิปรายไม่ไว้วางใจส่วนฝ่ายค้านเองในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาก็ยอมถ่ายสำเนาคำร้องขอถอดถอนในที่ประชุมสภา สรุปก็คือฝ่ายค้านยอมให้สำเนาคำร้องขอถอดถอนในวันที่ประชุมสภา คำถามที่ฝ่ายค้านยอมถ่ายคำร้องให้ประธานสภาในวันประชุมสภากับการไม่ถ่ายคำร้องถอดถอน ให้กับประธานสภาในวันยื่นญัติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านอาศัยรัฐธรรมนูญมาตราใด หรือถือหลักการอะไร ซึ่งไม่มีในรัฐธรรมนูญจะให้ช้า หรือให้เร็วสุดท้ายก็ต้องให้สำเนาคำร้องขอถอดถอน เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ผู้กล่าวหาระบุความผิดเป็นข้อๆ ให้ชัดเจน

ขอยืนยันว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายคุ้มครองสิทธิ และอำนวยความยุติธรรมของทั้งผู้กล่าวหา และผู้ถูกกล่าวหาตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๐ ในเรื่องนี้เป็นการกล่าวหาบุคคลระดับนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งถือเป็นความผิดอาญา ดังนั้นจะต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ฝ่ายค้านต้องยกเว้นการเล่นเกมทางการเมืองออกจากกติกาตามรัฐธรรมนูญ

๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ค

ไม่มีความคิดเห็น: