วันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2556

มาตามนัด! "กลุ่ม 40 ส.ว." ประกาศฟ้องศาล รธน. ให้ "พรบ.2ล้านล้าน" และ "ร่างแก้ไข รธน." ผิดรัฐธรรมนูญ!


วันที่ 21 มีนาคม 2556 (go6TV) ที่รัฐสภา นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. เปิดเผยว่าจากการพูดคุยของกลุ่ม 40 ส.ว. กรณีที่ส.ว.และส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ยื่นร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... จำนวนฉบับ นั้นทางกลุ่มยืนยัน ว่าไม่เห็นด้วยที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะประเด็นที่จะมีการแก้ไขเป็นเรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ของประชาชนเข้ามาเกี่ยว เป็นแค่ผลประโยชน์เฉพาะตัวที่เล่นปาหี่กันเท่านั้น และเห็นว่าการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นยุทธการยึดครองทุกมิติของประเทศไทย ที่ยึดสภาล่างได้แล้วก็จะยึดสภาสูงอีก หากทำได้องค์กรอิสระก็จะถูกยึดครองด้วย ดังนั้นกลุ่ม 40 ส.ว.จะคัดค้านอย่างเต็มที่ และเมื่อไหร่ที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้วนั้น ก็จะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ที่บัญญัติว่าส.ส.และส.ว. เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์


นายประสาร กล่าวต่อว่า กรณีที่รัฐบาลเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดยจะพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร์ในสัปดาห์หน้านั้น กลุ่ม 40 ส.ว.ได้หารือกันในเรื่องนี้และเห็นว่า เรื่องดังกล่าวควรนำเข้ามาอยู่ในพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ไม่ใช่เรื่องที่จะดำเนินการนอกงบประมาณ เนื่องจากรัฐบาลก็ชี้แจงแล้วว่าการดำเนินการตามงบประมาณในเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท จะใช้งบในแต่ละปีประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งเห็นว่าหากมีการบริหารจัดการงบประมาณปกติได้ ก็เพียงพอที่จะมีการใช้งบประมาณจึงไม่จำเป็นที่ต้องไปกู้เงินจำนวนมาก ซึ่งการที่รัฐบาลอ้างว่าต้องทำนอกงบประมาณปกติเพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน มองว่าทำให้เกิดภาวะการคลังซ่อนเร้น ซึ่งกลุ่ม 40 ส.ว.จะรอให้เรื่องผ่านการพิจารณาของสองสภา ฯ โดยก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา169 วรรค 1 หรือไม่โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 ที่บัญญัติว่า หากส.ส. ส.ว. หรือสมาชิกทั้งสองสภาฯรวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่า1ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ซึ่งเท่ากับ 65 คน เห็นว่าร่างพ.ร.บ.ที่สภาให้ความเห็นชอบขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็สามารถส่งเรื่องให้ประธานรัฐสภาส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยต่อไปได้

ไม่มีความคิดเห็น: