วันอังคารที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2556

ศาลแพ่งชี้เผาสยามฯ 19 พค. 53 "ไม่ใช่ก่อการร้าย"


วันที่ 5 มีนาคม 2556 (go6TV) ศาลแพ่งชี้เหตุเผาศูนย์การค้าสยามฯ ช่วงปราบม็อบ 19 พค. 53 ไม่ใช่ก่อการร้าย-สั่งประกันจ่ายสินไหม
ที่ศาลแพ่ง ถ.อาญารัชดาภิเษก วันที่ 5 มี.ค.ศาลแพ่งนัดฟังคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ ผบ.1219/2555 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัทเมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลย เรื่องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 51,439,819.60  บาท  กรณีมีคนร้ายลอบวางเพลิงเผาทรัพย์บริเวณศูนย์การค้าสยามสแควร์  เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553
คดีนี้โจทก์ฟ้องสรุปว่า โจทก์ได้ทำสัญญาประกันอัคคีภัยอาคารพาณิชย์ในศูนย์การค้าสยามสแคร์ จำนวน 53 คูหา ไว้กับจำเลย ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 มีคนร้ายลอบวางเพลิงเผาทรัพย์จนเพลิงไหม้ไปยังอาคารพาณิชย์ที่เอาประกันภัยไว้ ได้รับความเสียหาย  แต่จำเลยไม่ยอมจ่ายเงินค่าประกันอัคคีภัย ตามสัญญาฯ ระบุว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้น สืบเนื่องมาจากการก่อความไม่สงบของประชาชน การจลาจลและการก่อการร้าย อันเป็นข้อยกเว้นความรับผิดชอบของกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัย

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่า แม้จะมีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ นปช.เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลขณะนั้นยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ บริเวณพื้นที่สี่แยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียงต่อเนื่องกันมาจนถึงวันที่ 19 พ.ค.2553 ระหว่างการชุมนุมมีกลุ่มก่อการร้ายใช้อาวุธสงครามร้ายแรงก่อวินาศกรรมหลายครั้ง แต่ทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏชัดว่าการก่อวินาศกรรมหรือเหตุการณ์รุนแรงเหล่านั้น เป็นการกระทำของผู้เข้าร่วมชุมนุมคนใด หรือ เป็นการสั่งการโดยแกนนำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมกระทำการนั้น

 ส่วนที่แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ นปช.บางคน ปราศรัยยั่วยุให้เกิดความรุนแรง ก็อยู่บนเงื่อนไขที่ว่า ถ้ามีการสลายการชุมนุมหรือมีการทำร้ายคนเสื้อแดงจึงจะเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น เพื่อป้องกันมิให้มีการสลายการชุมนุม มิใช่เรื่องที่ว่าถ้ารัฐบาลไม่ยุบสภา นายกรัฐมนตรีไม่ลาออก จึงเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น จะถือว่าเป็นการกระทำอันมีลักษณะเป็นการข่มขู่เพื่อผลทางการเมืองมิได้ การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ นปช.ก่อนเกิดเหตุจึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการก่อการร้าย

สำหรับเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ เห็นว่า ขณะคนร้ายเผาโรงภาพยนตร์สยามนั้น แกนนำ นปช.ประกาศยุติการชุมนุมแล้ว ไม่มีข้อเรียกร้องทางการเมืองเหลืออยู่ และเหตุการณ์เผาโรงภาพยนตร์สยามนั้น ทางจำเลยนำสืบไม่ได้ว่าเกี่ยวโยงหรือเชื่อมโยงกับกลุ่มคนเสื้อแดงหรือ นปช.อย่างไร และไม่ว่าจะกระทำโดยคนใดหรือกลุ่มใด ก็มิใช่การกระทำที่หวังผลทางการเมือง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเกิดเหตุ ฟังไม่ได้ว่าเป็นการก่อการร้าย เช่นกัน และมีประเด็นต้องพิจารณาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการก่อความไม่สงบของประชาชนถึงขนาดลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลหรือไม่ เห็นว่า การกระทำที่จะฟังได้ว่าเป็นการก่อความไม่สงบของประชาชนถึงขนาดลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลนั้น จะต้องแยกพิจารณาเป็น 3 ส่วน คือ จะต้องเป็นการก่อความไม่สงบของประชาชนจำนวนมากและมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านรัฐบาล  และประชาชนที่ว่านั้นต้องเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่เหตุการณ์ที่มีการชุมนุมต่อเนื่องบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมเป็นเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้น แม้การชุมนุมจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้อื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเพียงในวงจำกัด ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ไม่ปรากฏว่าเกิดความรู้สึกตื่นตระหนกหรือหวาดกลัว ว่าจะเกิดอันตรายขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของตน เช่นนี้ ยังถือไม่ได้ว่าการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือ นปช. เป็นการก่อความไม่สงบของประชาชนถึงขนาดลุกฮือต่อต้านรัฐบาล

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุม เป็นการไม่นำพาต่อคำสั่งรัฐบาล ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย และไม่มีระเบียบจนไม่สามารถควบคุมได้ ถือได้ว่าอยู่ในความหมายของคำว่าการจลาจล อัคคีภัยที่เกิดขึ้นจึงเป็นภัยที่เกิดจากการจลาจล อันเป็นข้อยกเว้นความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย  จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยดังกล่าว มีเพียงกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่โจทก์ได้ทำไว้จำนวน 2 แห่งที่ไม่ปรากฎว่ามีข้อยกเว้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการจลาจลไว้ จำเลยจึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ในความเสียหายของอาคารพาณิชย์จำนวน 2 คูหา รวมเป็นเงิน 1,780,000 บาท พิพากษาว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี  

ไม่มีความคิดเห็น: