วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เปิดใจ"เจริญ จรรย์โกมล" เดินเครื่องกฎหมายนิรโทษ

สัมภาษณ์พิเศษเปิดใจ "เจริญ จรรย์โกมล" เดินเครื่องกฎหมายนิรโทษ

ออกตัวกันแล้วสำหรับเวทีนิรโทษกรรม ซึ่งล่าสุด นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และส.ส. ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย รับหน้าที่เป็นมือประสานให้พรรคการเมืองและกลุ่มความขัดแย้งต่างๆ ได้พูดคุยหารือ 


เพื่อผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมให้ผ่านสภาภายในสมัยประชุมนี้
การเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกจับตาถึงวัตถุประสงค์ที่ออกมาเดินเกมเต็มสูบ แนวทางและรูปแบบของกฎหมาย และที่สำคัญมีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ 
นายเจริญให้สัมภาษณ์พิเศษ "ข่าวสด" ชี้แจงประเด็นข้อสงสัยดังนี้ 


กฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อประโยชน์ใคร 


เรามองว่าผู้ที่มาชุมนุมเรียกร้องมาด้วยความเชื่อตามแกนนำในทรรศนะที่ว่า เป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกทางการเมืองอย่างถูกต้อง 

แต่รัฐบาลขณะนั้นกลับแก้ปัญหาโดยนำกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินเข้ามาครอบกฎหมายฝ่ายบริหาร ทำให้ผู้ที่มาชุมนุมมีความผิด หากไม่มีประกาศกฎหมายดังกล่าว ประชาชนก็ไม่มีความผิดอยู่แล้ว
ดังนั้น หลักการนิรโทษกรรมจะต้องให้ประชาชนที่เป็นผู้บริสุทธิ์ได้หลุดพ้นไปก่อน โดยขณะนี้มีปัญหาว่าประชาชนจากกลุ่มเสื้อแดงก็ดี กลุ่มเสื้อเหลืองก็ดี กลุ่มเสธ.อ้ายก็ดีที่ถูกจับกุมคุมขังดำเนินคดี และตัดสินไปแล้วมีจำนวนไม่น้อย

รวมถึงมีฝ่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าพนักงานสอบสวน อัยการ ศาล กรมราชทัณฑ์ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมล้วนต้องหาเงินมาประกันตัวประชาชนเหล่านี้เพื่อปล่อยตัวชั่วคราว 

ไม่เว้นแม้แต่ภาระญาติพี่น้องของบุคคลที่ต้องถูกดำเนินคดีอีก ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งต่อเนื่อง ไม่มีที่สิ้นสุด เราจึงต้องหาช่องทางแก้ไขปัญหาสังคม

วัตถุประสงค์ที่ออกมาขับเคลื่อน 

หลักๆ เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ เราคิดอยู่ 2 แนวทาง 1.จากการฟังตัวแทนของกลุ่มคนเสื้อแดง-เสื้อเหลือง เห็นว่าน่าจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม จึงเดินมาสู่ตรงนี้ 

ส่วนใครบ้างจะได้รับประโยชน์ สิ่งแรกที่เห็นชัดคือ ควรยกประชาชนที่มาชุมนุมเรียกร้องออกมาจากวงจรโทษก่อน ซึ่งจากการพูดคุยเบื้องต้นกับแต่ละฝ่าย ก็รับได้ในตรงนี้ 

ส่วนจะต้องมีเงื่อนไขอย่างไร จะให้แต่ละฝ่ายเป็นผู้เสนอมาก่อน ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีความเห็นต่างกัน เราจึงยังไม่พูดคุยในรายละเอียด เอาไว้เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง

2.เราต้องมาดูว่าการชุมนุมทางการเมือง ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างแกนนำถือเป็นผู้คอยโน้มน้าวให้มีการร่วมชุมนุม กลุ่มเหล่านี้จะต้องมีคณะกรรมการพิสูจน์ว่า ได้แสดงออกซึ่งความเห็นทางการเมืองอย่างไร เกี่ยวข้องต่อความผิดอย่างไรหรือไม่ เพื่อเข้าสู่กระบวนการนิรโทษกรรม 

แต่ไม่ได้ตัดสิทธิ์ว่าใครที่ไม่ต้องการพิสูจน์ก็ดำเนินคดีได้ แต่ปัญหาต่อมาว่าถ้าเป็นคดีอื่นๆ อย่างคดีอาญา คดีหมิ่น ซึ่งเรามาดูแล้วไม่ยาก อะไรที่เป็นคดีการเมืองเราก็จะสามารถพิสูจน์ได้เป็นกลุ่มๆ มาพูดคุยกัน

ขั้นตอนเข้าสู่การล้างความผิด

เบื้องต้นประสานทุกฝ่ายตั้งแต่เสื้อแดงที่ส่งนายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย, ด้านเสื้อเหลืองผ่านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษก พธม., 

พรรคประชาธิปัตย์ผ่านนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ส.ส.บัญชีรายชื่อ, ขณะที่พรรคเพื่อไทย ผ่านนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรค, ส่วนกลุ่มเสธ.อ้ายเนื่องจากได้รับแจ้งว่าไม่สบาย จึงยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน

วิธีการของผมคือ ต้องถามคู่กรณีที่มีส่วนได้เสียโดยตรงทั้ง 2 กลุ่มสีที่เคลื่อนไหวทางการเมืองก่อน ถ้าเขาไม่ยอมมาคุยกัน โอกาสออกกฎหมายก็เป็นเรื่องยาก เพราะต่างฝ่ายมีมวลชนเป็นของตัวเอง 

แต่ถ้าทั้ง 2 ฝ่ายคุยกันเข้าใจได้ โอกาสคุยกับ 2 พรรคการเมืองในฐานะส.ส. ที่การเสนอกฎหมายต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎรก็จะง่ายขึ้น

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อ้างไม่รู้เรื่อง

นายไตรรงค์ประสานกับภายในพรรคประชาธิปัตย์ระดับหนึ่งแล้ว ผ่านนายบัญญัติ บรรทัดฐาน แต่ลูกชายเขา นายณัฏฐ์ บรรทัดฐาน อาจไม่ทราบเรื่องจึงมองผมในแง่สงสัย 

ผมเองก็ยังไม่ทราบเช่นกันว่า นายไตรรงค์พูดคุยกับในพรรคประชาธิปัตย์อย่างทั่วถึงแล้วหรือไม่ แต่คิดว่ากระบวนการต้องค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับมากกว่า ไม่ใช่คุยกับคนเดียวแล้วจะจบ 

เหตุที่ผมคุยกับนายไตรรงค์เพราะรู้จักกันดี เป็นคนพูดง่าย เข้าใจง่าย นำความหวังดีไปสานต่อเป็น และยังเป็นผู้ไม่มีความขัดแย้งกับใคร เป็นบุคคลที่ทุกฝ่ายยอมรับ ดังนั้นถ้าท่านจะทำงานเพื่อบ้านเมืองอีกสักครั้งจะเสียหายอะไร

วางโมเดลนิรโทษกรรมไว้ม้วนเดียวจบ 

ถ้าเงื่อนไขนิรโทษกรรมยอมตกลงกันได้ทุกฝ่าย จากนั้นก็จะให้ยกร่างเป็นกฎหมายตามปกติ โดย ส.ส.เป็นผู้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภา เพื่อให้มีการรับหลักการ 

ซึ่งถ้าให้เป็นฉบับประชาชนเสนออีก 6 เดือนกว่าจะเสร็จ ในเมื่อเรามีการคุยกันเห็นพ้องได้ ก็ควรทำในขั้นตอนที่รวดเร็ว ประหยัดเวลา ไม่ต้องไปทำอะไรให้ยุ่งยากและเสียงบประมาณมากขึ้นอีก 

โดยกฎหมายฉบับแรก ทุกฝ่ายคงตกลงเงื่อนไขกันไม่นาน ผ่านการกลั่นกรองรายชื่อประชาชนที่จะได้รับการนิรโทษกรรมจากคณะกรรมาธิการในขั้นวาระ 1 ได้ 
ก็น่าออกเป็น พ.ร.บ.ทันสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะหมดสมัยประชุมในวันที่ 18 เม.ย. 2556

ส่วนกฎหมายฉบับที่สองก็เช่นเดียวกัน ที่ต้องมีคณะกรรมาธิการวางหลักเกณฑ์พิจารณาว่าบุคคลใดสมควรได้รับการนิรโทษกรรมในระดับแกนนำ 

ยืนยันว่าไม่มีการวางตัวใครไว้ก่อนล่วงหน้า ยังคิดด้วยซ้ำว่าการดำเนินการในส่วนนี้อาจล่าช้าในข้อยุติ แต่คงไม่เกินปีนี้ 

เร่งร้อนผลักดันไปหรือเปล่า 

ไม่หรอก ทุกวันนี้สังคมแตกแยก ไม่มีที่สิ้นสุด บ้านเมืองไม่สงบ ขัดแย้งกันรุนแรง ที่สำคัญประเทศจะเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จึงน่าจะเข้าสู่สันติได้แล้ว 

และขออย่านำไปเป็นประเด็นการเมือง อย่าไปคิดว่าจะกระทบต่อพรรคเพื่อไทยในขณะหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ไม่ใช่เรื่องของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นปัญหาส่วนรวมด้วยกันทั้งสิ้น

เป็นกาวใจไม่กลัวครหาอยากรับเผือกร้อน 

ผมทำเรื่องนี้ไม่ได้หวังอยากมีบทบาทโดดเด่น แค่คิดจะช่วยเหลือประเทศ เลยนัดผู้มีส่วนได้เสียมาประสานเจรจาก็เท่านั้น เราไม่ชอบคนดีแต่พูด อยากเห็นการปฏิบัติที่นำไปสู่สัมฤทธิผลความเป็นจริงได้ต่างหาก

และการที่ใครจะมาหยิบจับเรื่องนี้ กฎหมายก็ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเป็นบุคคลที่มีสถานะการเมืองใหญ่โต จึงจะช่วยสร้างความสามัคคี ความสงบสุขแก่ประเทศได้ คนที่ไม่ทำเรื่องนี้ก็มีเยอะแยะ แล้วไม่ไปว่าเขาบ้าง 

บางครั้งเราบอกว่ารักชาติเหมือนกัน แต่รักจนน้ำลายไหล น้ำตาไหล อันนั้นเขาเรียกคลั่งชาติ ถ้ารักชาติจริงต้องทำให้เจริญรุ่งเรือง 

จึงไม่เกี่ยวกันเลยที่ผมจะเป็นรองประธานสภาหรือไม่ ผมสวมหมวกเป็นรองประธาน ก็ทำหน้าที่ตามข้อบังคับ แต่หมวกอีกใบผมก็เป็นส.ส. ถือเป็นภาระหน้าที่ของตัวแทนประชาชนที่ต้องพึงกระทำให้สังคมเป็นสุขซ้ำไป

ฉีกแนวรับลูกต่อจากกฎหมายปรองดอง 

คนละเรื่องกัน เนื้อหาคนละแบบ วิธีการก็คนละอย่าง เนื้อหาเราพูดถึงประชาชนที่มาร่วมชุมนุมอย่างสุจริตใจ อิสระทางความคิดตามเสรีประชาธิปไตย 

การทำเรื่องนี้ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ยืนยันว่าผมไม่ได้รับลูกจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างที่บางคนวิจารณ์ด้วย

ไม่กลัวจะเดินหน้าอยู่ฝ่ายเดียวหรือไม่ สิ่งที่ผมทำไม่ใช่รัฐบาลเสนอ แต่เป็นระดับส.ส. ตัวแทนประชาชน ที่รู้ว่าการผ่านร่างกฎหมายที่เป็นไปได้คืออะไร จึงกล้าที่จะมาทำเรื่องนี้เอง 

ขอขอบคุณข่าวสดออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: