วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

DSI สรุป "รมต.ประชาธิปัตย์" ทุจริตครุภัณฑ์อาชีวะ-ไทยเข้มแข็ง


วันนี้ ( 12 พ.ย. )  ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)  นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ   แถลงผลสรุปเบื้องต้นคดีทุจริตโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวศึกษา (เอสพี 2 ) ภายใต้โครงการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ในวงเงินงบประมาณ 5,300 ล้านบาท ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ว่า  ผลสอบสวนพบมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตจำนวน 4 ราย ประกอบด้วย
นายชินวรณ์  บุญยเกียรติ  อดีตรมว.ศึกษาธิการ  พรรคประชาธิปัตย์
น.ส.นริศรา   ชวาลตันพิพัทธ์  อดีตรมช.ศึกษาธิการ  พรรคเพื่อแผ่นดิน
นายเจี่ยง  วงศ์สวัสดิ์สุริยะ ผอ.สำนักนโยบายและแผนการอาชีวศึกษา และ
นายบำรุง อร่ามเรือง ผอ.วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา 
ซึ่งทั้งหมดร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ทำให้สอศ.  กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับความเสียหาย  โดยพบมี 5 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย
1. การแต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดหรือพวกพ้องของรัฐมนตรีเป็นคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ในการจัดหาครุภัณฑ์ ให้เป็นไปตามความต้องการของตนเอง โดยเฉพาะนายบำรุง อร่ามศรี
2.การจัดซื้อครุภัณฑ์ ที่มีราคาแพงเกินความจริง เช่น ครุภัณฑ์ห้องปฏิบัติการไฟฟ้าพื้นฐาน ราคาประมาณเพียงชุดละ 1ล้านบาท แต่ตั้งราคาสูงถึง 3 ล้านบาทและจัดซื้อ 19 ชุด เป็นเงินกว่า 57 ล้านบาท ผู้ขายมีกำไรกว่า 38  ล้านบาท ซึ่งครุภัณฑ์ที่จัดสรรให้วิทยาลัยไม่มีคุณภาพ และไม่เกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอน
3. การจัดซื้อก็ไม่ได้สำรวจความต้องการครุภัณฑ์ของสถานศึกษาที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการเรียนการสอน  แต่กลับจัดครุภัณฑ์ให้กับสถานศึกษาโดยที่สถานศึกษาไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดสเปค และไม่ตรงกับวิชาการเรียนการสอน  อีกทั้งยังไม่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับครุภัณฑ์นั้น 
4.ผู้ประกอบการหรือผู้ขายสินค้าครุภัณฑ์ให้กับ สอศ. อยู่ที่ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนเป็นผู้กำหนดเท่านั้น อันเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์แก่คู่สัญญารายใดรายหนึ่ง โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และ
5. การตรวจรับครุภัณฑ์ ไม่ตรงตามสเปคหรือสัญญาซื้อขาย เช่น จุดเชื่อมวงจรไฟฟ้า ตามสเปคหรือสัญญากำหนดไว้เป็นทองคำแท้ เพื่อให้ครุภัณฑ์มีราคาสูงแต่จากการตรวจสอบพบว่าเป็นทองชุบเท่านั้น เหตุเกิดที่วิทยาลัยการอาชีพบ้านผือ จ.อุดรธานี และที่วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี

นายธาริต กล่าวอีกว่า  จากการสอบสวน ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวข้างต้น  เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง แต่จงใจฝ่าฝืนกฎหมายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ  และ กระทำผิดทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 รวมทั้งผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ และไม่ยึดหลักธรรมาภิบาลในการจัดซื้อจัดจ้าง  ดีเอสไอจึงต้องส่งสำนวนคดีนี้ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  เพื่อไต่สวนต่อไป

ดีเอสไอส่งสำนวนให้ป.ป.ช. แล้ว แต่ตามพ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษฉบับแก้ไขเพิ่มเติมได้กำหนดให้ดีเอสไอยังสามารถสอบสวนต่อไปอีกได้  จนกว่า ป.ป.ช. จะมีมติอย่างอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องสอบขยายผลไปยังบุคคลอื่นๆที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เบื้องต้นพบว่า 4 คนที่ปรากฏรายชื่อถือเป็นหัวขบวนสำคัญ จึงต้องเชิญตัวให้ปากคำในฐานะผู้ถูกกล่าวหาในวันที่ 15 พ.ย.นี้ โดยดีเอสไอทำหนังสือแจ้งเจ้าตัวให้รับทราบแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบว่าจะมาหรือไม่นายธาริต กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: