วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

"โฆษกกลาโหม" โต้ "ชวนนท์ กำลังสร้างความเข้าใจผิดต่อทหาร"


หมายเหตุ : พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวง กลาโหม ส่งเอกสาร "คำชี้แจงเพื่อแก้ไขข่าวสารที่สร้างความเข้าใจผิด" แจกให้สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 12 พ.ย. ชี้แจงกรณีนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ชี้จุดบกพร่องสำเนาคำสั่งปลดร.ต. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ของกระทรวงกลาโหม


คำชี้แจงเพื่อแก้ไขข่าวสารที่สร้างความเข้าใจผิด

ตามที่ปรากฏว่ามีการนำสำเนาคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 1163/55 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2555 เรื่อง ให้ปลดนายทหารสัญญาบัตรออกจากราชการ ไปสำเนาแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชน และนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ได้แถลงว่า คำสั่งดังกล่าวมีข้อความผิดตกบกพร่องนั้น กรมเสมียนตรา กระทรวงกลาโหม ขอชี้แจงให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องดังนี้

1. สำเนาคำสั่งกระทรวงกลาโหม ที่ 1163/55 ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2555 ที่ถูกต้องจะต้องมีการลงนามรับรองสำเนาถูกต้องโดยเจ้ากรมเสมียนตรา หรือผู้ที่เจ้ากรมเสมียนตรามอบหมาย เนื่องจากเป็นหน่วยร่างและรับผิดชอบต่อความถูกต้องของคำสั่งดังกล่าว

สำเนาคำสั่งที่อ้างว่ามีการพิมพ์คำว่า "รัฐมนตรีว่าการทรวงกลาโหม" ตกคำว่า "กระ" นั้น เป็นสำเนาที่ไม่ตรงกับข้อความในฉบับจริง ซึ่งพิมพ์คำว่า "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม" ไว้อย่างถูกต้อง และเป็นสำเนาคำสั่งฯ ที่ได้นำส่งแจกจ่ายให้กับผู้รับคำสั่ง และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว

2. คำว่า "ผิดหลง" ที่ปรากฏในคำสั่ง เป็นคำที่ถูกต้องตามภาษากฎหมายแล้ว มิใช่คำที่พิมพ์ผิดพลาด ดังที่มีผู้กล่าวหาและพยายามทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชน

3. การใช้คำว่า "ว่าที่ ร.ต." นำหน้าชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในย่อหน้าแรก เป็นการบรรยายถึงการ กระทำและความผิดของ ว่าที่ร้อยตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2531

แต่การใช้คำว่า "ร.ต." นำหน้าชื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในตอนต่อๆ ไป เนื่องจากเป็นการออก คำสั่งต่อ ร้อยตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในวันออกคำสั่ง มียศอย่างใดก็ต้องเรียกตามนั้น (เช่นถ้าเป็น พันเอก ก็ต้องพิมพ์คำว่า "พ.อ.") ในวันออกคำสั่ง

แต่คำสั่งจะให้มีผลบังคับย้อนหลังไปยังวันใดตามสมควรแก่เหตุก็ย่อมทำได้ ทั้งนี้ เป็นความถูกต้องและเป็นไปตามแบบธรรมเนียมทหารแล้ว

4. การกล่าวหาว่า การออกคำสั่งฯ กระทำอย่างเร่งรีบลุกลี้ลุกลนนั้น เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะการดำนินการกรณีนี้ ดำเนินการมานานแล้วแต่ยังไม่ปรากฏผลสอบสวนการรายงาน

เมื่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมีหนังสือถึงกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2555 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ที่ 281/55 ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2555 และคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ที่ 295/55 ลง วันที่ 2 กรกฎาคม 2555

คณะกรรมการฯ ประกอบด้วย พลอากาศเอก ไมตรี โอสถหงษ์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน พลเอกหม่อมหลวง ประสบชัย เกษมสันต์ ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม พลตรี สุชาติ หนองบัว เจ้ากรมกำลังพลทหารบก พลตรี พินิจ ฉัตรเสถียรพงศ์ ผู้ช่วยเจ้ากรมเสมียนตรา พลตรี รณชัย มัญชุสุนทรกุล เจ้ากรมจเรทหารบก และ พลตรี นิวัติ ศรีเพ็ญ ผู้ช่วยเจ้ากรมพระธรรมนูญ เป็นกรรมการ

พันเอก กิตติศักดิ์ บุญสุข ผู้อำนวยการกองระเบียบการ กรมเสมียนตรา เป็นกรรมการและเลขานุการ และ พันเอก ชวลิต ชาตะสิงห์ รองผู้อำนวยการ กองนิติธรรมทหาร กรมพระธรรมนูญ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

จนเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2555 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมีหนังสือขอให้รายงานผลการดำเนินการเมื่อแล้วเสร็จ ต่อมาเมื่อ พลอากาศเอก ไมตรี เกษียณอายุราชการไป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการกรณีนี้ ต่อไป

โดยมี พลเอกหม่อมหลวง ประสบชัย เกษมสันต์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานกรรมการ พลโท ธวัชชัย บุญศรี จเรทหาร พลโท พอพล มณีรินทร์ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอม เกล้า พลโท ประพันธ์ พุทธานุ เจ้ากรมการสรรพกำลังกลาโหม และ พลตรี สุรเดช เฟื่องเจริญ เจ้ากรมกำลังพลทหารบก เป็นกรรมการ

พลตรี สวัสดิ์ ทัศนา ผู้ช่วยเจ้ากรมเสมียนตรา เป็นกรรมการและเลขานุการ พลตรี ชาติชาย แจ้งสี รองเจ้ากรมการสรรพกำลังกลาโหม เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ พันเอก ณัฐพล เกิดชูชื่น ผู้อำนวยการกองจัดการ สำนักงานกำลังพล กรมเสมียนตรา และพันเอก ภาณุ พรหมดิเรก ผู้อำนวยการกองนิติธรรมทหาร กรมพระธรรมนูญ เป็นผู้ช่วยเลขานุการดำเนินการต่อไป

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2555 คณะกรรมการฯ ได้มีหนังสือแจ้งให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาให้การ หรือส่งเอกสารหลักฐานภายในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ได้มาให้การหรือส่งเอกสารหลักฐานใดๆ มาให้

ดังนั้น คณะกรรมการฯ จึงได้พิจารณาตัดสินและเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้พิจารณาดำเนินการ รวม 6 ขั้นตอน

การพิจารณาลงความเห็นของคณะกรรมการฯ ทั้งชุดที่มี พลอากาศเอก ไมตรี โอสถหงษ์ อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน และคณะกรรมการฯ ชุดที่มีพลเอกหม่อมหลวง ประสบชัย เกษมสันต์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานกรรมการ มีการแสวงหาข้อเท็จจริงต่างๆ และพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบกับข้อกฎหมายต่างๆ อย่างรอบคอบ ใช้เวลาต่อเนื่องกันเป็นเวลา 136 วัน (หนึ่งร้อยสามสิบหกวัน)

จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่การกระทำที่รีบร้อนรวบรัดอย่างที่มีการกล่าวอ้าง ผู้ที่แสวงความคิดเห็นในเชิงดูถูกดูหมิ่นหรือสร้างความเข้าใจผิดต่อคณะกรรมการฯ หรือชี้นำว่าการดำเนินการของคณะกรรมการฯ ไม่น่าเชื่อถือ อาจมีความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ทั้งสองชุด ต่างก็มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ไม่มีผู้ใดเห็นต่างหรือคัดค้าน และได้รายงานผลให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมทราบ และพิจารณาใช้ดุลพินิจในการดำเนินการต่อไป

ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้อนุมัติสั่งการเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2555 ท้ายบันทึกรายงานของคณะกรรมการฯ เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไปแล้ว

5. การออกคำสั่งให้ปลดทหารสัญญาบัตรออกจากราชการนั้น เป็นการดำเนินทางวินัยทหารโดยแท้ ซึ่งเป็นขั้นต้นตอนแรกของข้อเสนอของคณะกรรมการฯ

เนื่องจาก ณ วันกระทำผิดดังกล่าว คำสั่งการบรรจุและคำสั่งการแต่งตั้งเป็นนายทหารสัญญาบัตร ยังมีผลบังคับอยู่ แม้ว่าจะเป็นคำสั่งอันมิชอบมิได้มีนัยว่าคณะกรรมการฯ ได้รับรองเห็นชอบคำสั่งการบรรจุหรือคำสั่งการแต่งตั้งเป็นนายทหารสัญญาบัตรว่าถูกต้องแล้วแต่อย่างใด

โดยกรมเสมียนตราจะได้ดำเนินการในขั้นตอนต่อๆ ไป ตามอนุมัติสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และตามระเบียบแบบ แผนของทางราชการ

ไม่มีความคิดเห็น: