เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีงานเสวนาในหัวข้อ การควบคุมทหารผ่านประชาธิปไตยโดยฝ่ายพลเรือน : เปรียบเทียบไทยกับประเทศอื่นๆ วิทยากรได้แก่ ศ.ดร.ออเรล ครัวซองท์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก เยอรมนี นายปณิธาน วัฒนายากร อดีตรองเลขาธิการนายกฯ และพ.อ.ธีรนันท์ นันทขว้าง รองผอ.กองศึกษาวิจัยทางยุทธศาสตร์ กองบัญชาการกองทัพไทย โดยมีนายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นวิทยากร
ดร.ออเรลบรรยายว่า สิ่งสำคัญของประเทศประชาธิปไตยคือ ฝ่ายรัฐบาลพลเรือนต้องควบคุมอิทธิพลและบทบาทของฝ่ายทหาร ซึ่งการควบคุมหมายถึงรัฐบาลสามารถคัดเลือกผู้นำกองทัพ วางนโยบายกองทัพ จัดการงบประมาณกองทัพ และปรับโครงสร้างกองทัพได้อย่างเต็มที่ กรณีของประเทศไทยนั้น สถานการณ์หลังเหตุการณ์รุนแรงเมื่อปี 2553 รัฐบาลควบคุมกองทัพได้น้อยมาก นอกจากนี้ยังมีกลุ่มการเมืองพยายามดึงทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง และไม่มีความพยายามของฝ่ายพลเรือนที่จะจำกัดอิทธิพลของกองทัพ
ดร.ออเรลกล่าวว่า สถานการณ์ของประเทศไทยเรียกได้ว่าเสี่ยงต่อการเกิดรัฐประหารอย่างมาก ที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดรัฐประหารมากที่สุดอันดับ 5 ของโลก และเมื่อเทียบกับประเทศที่มีการรัฐประหารบ่อยครั้งอื่นๆ อย่าง อาร์เจนตินา หรือซีเรีย จะพบว่าประเทศเหล่านี้มีรัฐประหารครั้งสุดท้ายนับสิบๆ ปีแล้ว ต่างจากไทยเพิ่งมีรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี 2549 ซึ่งปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดรัฐประหารคือ ฝ่ายทหารมักอ้างความชอบธรรมที่จะเข้ามามีบทบาททางการเมือง อีกทั้งการมีรัฐประหารเกิดขึ้นบ่อยครั้งในอดีต ทำให้ผู้ที่วางแผนอาจคิดว่ากระทำการได้โดยง่าย ส่วนจะเกิดรัฐประหารอีกครั้งในประเทศไทยหรือไม่นั้น คงบอกไม่ได้ แต่การที่ประเทศหนึ่งๆ ไม่มีรัฐประหาร ไม่ได้แปลว่ากองทัพไม่มีบทบาท อาจมีการแทรกแซงทางอื่นที่ไม่ใช่การยึดอำนาจให้เห็นกันตามท้องถนนก็เป็นได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น