ภาคีเครือข่ายวิชาชีพการแพทย์และสาธารณสุข 8
แห่ง นำโดย นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา อ่านแถลงการณ์สนับสนุนการปรับเปลี่ยนวิธีการจ่ายค่าตอบแทนบางส่วน
แบบผสมผสานตามมิติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31
มี.ค. 2556
โดยระบุว่า จากการพิจาณาร่วมกันระหว่าง แพทยสภา
แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาการพยาบาล ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม
สภาเทคนิคการแพทย์ กลุ่มสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางแห่งประเทศไทย
และสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย มีความเห็นร่วมกันว่า
การปรับวิธีจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน เป็นการสร้างความสมดุลใน 3
มิติ ได้แก่ มิติระหว่างโรงพยาบาลทุกระดับ มิติระหว่างวิชาชีพ
และมิติระหว่างผู้ประกอบการวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวต่อระบบ ส่งผลถึงประโยชน์ประชาชนอย่างยั่งยืน
“ภาคีเครือข่ายมีความเห็นว่าโรงพยาบาลพื้นที่ทุรกันดาร
เสี่ยงภัย และขาดแคลนบุคลากร ยังคงได้รับค่าตอบแทนเช่นเดิม
ส่วนจ่ายค่าตอบแทนบางส่วนอย่างมีเหตุผลตามภาระงานเป็นวิธีการที่ใช้กันตามหลักสากล
ขณะที่ผลสรุปจากโรงพยาบาลที่นำร่องเป็นเวลา 10 ปี
พบว่ามีผลดีมากกว่าผลเสีย
และยังเป็นเหตุผลด้านงบประมาณที่ใช้อ้างอิงต่อสำนักงบประมาณ
อีกทั้งเป็นการกระจายค่าตอบแทนให้บุคลากรทุกระดับอย่างครอบคลุมและไม่เหลื่อมล้ำ
มีความยืดหยุ่นในเรื่องกรอบเงิน กรอบเวลา และวิธีการของแต่ละโรงพยาบาล
โดยเน้นการมีส่วนร่วมของแต่ละวิชาชีพ
ซึ่งจะสามารถควบคุมกันเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และที่สำคัญคือวงเงินโดยรวมยังเท่าเดิม
ไม่น้อยกว่าประกาศค่าตอบแทนกระทรวงสาธารณสุข ฉบับ 4 6
และ 7” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ภาคีเครือข่ายวิชาชีพการแพทย์และสาธารณสุข
เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขจะต้องเร่งรัดสนับสนุนและทำความเข้าใจกับผู้ปฏิบัติ
เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการนับผลงานอย่างอดทนและสร้างความเข้าใจต่อสังคม
ขณะเดียวกันการออกแบบเกณฑ์วิธีการนับผลงาน ต้องทำให้เหมาะสมและสะดวกกับแต่ละระดับของโรงพยาบาล
เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้โดยง่าย.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น