วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556

คำแถลง ของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรื่อง ข้อเสนอทางออกประเทศไทย

คำแถลง ของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เรื่อง ข้อเสนอทางออกประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2556
ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

พี่น้องประชาชนชาวไทยที่เคารพทุกท่าน

วันนี้ ดิฉันขอรบกวนเวลาของพี่น้องประชาชน เพื่อจะได้มีโอกาสอธิบายถึงความคิดและแนวทางที่รัฐบาลจะดำเนินการ อันเป็นไปตามแนวนโยบายที่ได้แถลงไว้กับพี่น้องประชาชน ตั้งแต่ที่ดิฉันได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลนี้ได้เข้ามาทำงานเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

ดิฉันตระหนักเสมอว่า ที่พี่น้องประชาชนได้ให้ความไว้วางใจกับดิฉันและพรรคเพื่อไทยนั้นคือการที่พี่น้องประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ ต้องการเห็นความสงบ สันติ และความปรองดองเกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อที่ประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปได้

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดิฉันและรัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อให้เกิดการปรองดองขึ้นในชาติด้วยความพยายามอย่างจริงใจที่จะเดินหน้า อดทน ไม่ตอบโต้ เพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง สร้างสรรค์และความไว้วางใจ รวมทั้ง การเปิดพื้นที่ให้กับทุกกลุ่มที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง และรัฐบาลพร้อมที่จะประนีประนอมกับทุกฝ่าย และพยายามผลักดันให้มีการใช้เวทีรัฐสภามากกว่า ท้องถนนในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

แต่ในขณะเดียวกันดิฉันก็เข้าใจเช่นกัน ว่าความขัดแย้งที่มีมาอย่างต่อเนื่อง เราจะคาดหวังให้เกิดความปรองดองที่แท้จริงนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน ซึ่งทุกคนก็เห็นแล้วว่าในบางช่วงเวลา มีความขัดแย้งปะทุขึ้นจนเป็นเหตุแห่งความรุนแรง ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ใดๆต่อสาธารณชน สังคมและเศรษฐกิจโดยรวมเลย

ที่น่าเสียใจที่สุดคือ การที่มีบุคคลบางกลุ่มต้องการการเคลื่อนไหวบนท้องถนน ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ แต่การแสดงออกกลับมีท่าทีที่ไม่ยอมรับกติกาของประชาธิปไตย มีการยั่วยุ กระตุ้นเพื่อนำไปสู่การล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เรียกร้องให้มีการปฏิวัติรัฐประหาร และใช้ความรุนแรง

ภายใต้สภาวะดังกล่าว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องปกป้องและรักษาระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งต้องป้องกันเหตุร้ายและความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้ง คุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ราชการ และเอกชนทั่วไป ตลอดจนผู้ชุมนุม ที่สำคัญคือเป็นการดูแลให้ผู้ที่ใช้สิทธิและเสรีภาพอยู่ในกรอบกติกาประชาธิปไตย ดังนั้น เมื่อวันพุธที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีจึงมีมติประกาศใช้มาตรการตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551

พี่น้องประชาชนชาวไทยที่เคารพ

ดิฉันขอยืนยันว่า ถึงแม้รัฐบาลชุดนี้ จะมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่ดิฉันเชื่อเสมอว่าในระบอบประชาธิปไตย ต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่และต้องให้เกียรติและรับฟังเสียงส่วนน้อยควบคู่กันไป เพราะประชาธิปไตยเป็นของทุกคน ไม่ใช้เป็นของเฉพาะผู้ประสบชัยชนะทางการเมืองจากการเลือกตั้ง โดยการคงกติกาการรักษาความเสมอภาคและเท่าเทียมกันแก่ทุกคน ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา ตลอดจนยังดำเนินการที่จะรับฟังปัญหาโดยตรงจากประชาชนทั่วประเทศ อย่างเช่นจากโครงการประชาเสวนาในการหาทางออกของประเทศ ทั้งในประเด็นแนวทางการปรองดอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการเสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาค และการรักษาไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ นิติธรรม ที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสากลทั่วโลกยอมรับ
ภายใต้ความพยายามทั้งหมดนี้ ดิฉันเข้าใจดีว่าหลายกลุ่มหลายฝ่ายยังมีปัญหาที่ค้างคาใจอยู่ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่ว่าจะมีความเชื่อที่แตกต่างไม่ลงรอยกัน แต่ดิฉันเห็นว่าเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนในขณะนี้ ในฐานะเพื่อนร่วมชาติที่ต่างต้องการเห็นลูกหลานของเราทุกคนมีความสุข อยู่ในสังคมที่มีความสงบและมีความมั่นคงทางการเมืองและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ซึ่งเราจะต้องร่วมมือร่วมใจกันเพื่อแก้ปัญหาต่างๆเหล่านี้ให้บรรลุความสำเร็จ

หลายคนบอกกับดิฉันว่า สิ่งที่ดิฉันคิดนั้นคงไม่มีวันเป็นไปได้ แต่ดิฉันกลับมีความเห็นในทางตรงกันข้าม โดยมองว่าทุกครั้งที่มีปัญหา เราต้องมองให้เป็นโอกาส เพราะเมื่อครั้งที่เกิดมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ดิฉันได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกคนในการที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ร่วมกันแก้ปัญหา จนในที่สุดเราสามารถที่จะฟันฝ่าอุปสรรค และหยุดยั้งภัยพิบัตินั้นไว้ได้

พี่น้องประชาชนชาวไทยที่เคารพ

ดิฉันอยากให้คนไทยกลับไปคิดถึงความรู้สึกดีๆในช่วงเวลาดังกล่าว ถึงแม้จะเป็นคนละสถานการณ์ แต่คนไทยทุกคนได้แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเสื้อสีใด ชนชั้นใด หากเรารวมตัวกัน สมัครสามานสามัคคีกัน เราจะสามารถแก้ปัญหาฟันฝ่าอุปสรรคไปได้

สำหรับภายใต้ภาวะปัจจุบันที่มีความสับสนทางการเมืองเกิดขึ้นอีกครั้งในขณะนี้ และหลายคนกังวลว่าความขัดแย้งจะบานปลาย เกิดความไม่สบายใจ ดังนั้น ดิฉันจึงขอเสนอแนวทางเพื่อหาทางออกให้กับประเทศอย่างยั่งยืน โดยการวางทิศทางข้างหน้าอย่างสร้างสรรค์ มีส่วนร่วม ทิ้งความขัดแย้งไว้ในใจเพื่อประเทศของเรา โดยเปิดเวทีการระดมความคิดเห็น ที่จะขอเชิญชวนตัวแทนจากกลุ่มบุคคลทั้งฝ่ายรัฐบาล พรรคการเมือง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สมาชิกวุฒิสภา องค์กรอิสระ เอกชน และนักวิชาการ มาร่วมโต๊ะพูดคุย ออกแบบประชาธิปไตยของประเทศไทย เพื่อหาทางออกให้กับอนาคตของเรา เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย และเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ

โดยในสัปดาห์หน้า รัฐบาลจะเชิญตัวแทนกลุ่มบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และมีความเห็นที่หลากหลายในมุมมองให้มาหารือร่วมกัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง ร่วมกันคิดว่าเราจะวางอนาคตบ้านเมืองอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นภาระของลูกหลาน อันจะเป็นพื้นฐานของความร่วมมือในการพัฒนาชาติ สร้างความไว้วางใจ และความเปลี่ยนแปลงที่ออกจากวงจรแห่งความขัดแย้ง

ดิฉันต้องการเห็นบรรยากาศของความร่วมมือ ไม่ใช่การจ้องจับผิด แต่การเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ไม่ละเว้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และเมื่อหารือกันแล้ว ดิฉัน ใคร่เสนอให้มีการวางกลไกที่ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นในรูปแบบของคณะทำงานหรือเรียกชื่ออื่นตามความเหมาะสมเพื่อเป็นกลไกที่ทำหน้าที่ในการปฏิรูปทางการเมือง โดยกลไกดังกล่าวจะเป็นเวทีสำคัญในการวางรากฐานอนาคตในโครงสร้างทางการเมือง กำหนดแนวทางปฏิรูปกฎหมาย และวางพื้นฐานระบบการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง ยั่งยืน

ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกฝ่ายจะเข้าใจถึงความปรารถนาดีของดิฉันในครั้งนี้ และวันนี้ดิฉันไม่ได้บอกว่าจะให้ทุกท่านลืมอดีต แต่เราต้องนำอดีตนั้นมาเป็นบทเรียน เพื่อทำให้ประเทศของเราเดินหน้า ก้าวพ้นความขัดแย้ง เราต้องเปิดโอกาสให้เปลี่ยนจากความขัดแย้งมาเป็นบรรยากาศของความคิดสร้างสรรค์และไว้ใจกัน เพื่อเป็นการมุ้งสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบ มีส่วนร่วม เพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าให้กับอนาคตลูกหลานของเรา และไม่ควรทิ้งมรดกของความขัดแย้งให้เป็น ภาระของรุ่นต่อไป


สวัสดีค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: