3 สิงหาคม 2556 go6TV - ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว https://www.facebook.com/thaksinofficial โดยมีข้อความดังนี้
วันนี้อยู่บ้านว่างๆ ก็เลยหยิบหนังสือที่พรรคพวกเอามาให้เป็นของขวัญวันเกิดมาอ่านเล่มหนึ่งชื่อ Rethinking the MBA : Business Education at a crossroad เขียนโดยอาจารย์จาก Harvard 2 คน ชื่อ Srikant M. Datar และ David A. Garvin พร้อมนักวิจัยอีกคนหนึ่งชื่อ Patrick G. Cullen เป็นหนังสือก็ไม่ใหม่เท่าไร ปี 2010 ครับ
เรื่องของเรื่องคือ คณะอาจารย์ Harvard ได้ทำการวิจัยหลักสูตรการศึกษาวิชาบริหารธุรกิจโดยเฉพาะหลักสูตรปริญญาโท หรือ MBA ว่า Harvard เพิ่งฉลองครบ 100 ปีไปเมื่อ 2008 ก็พอดีมีความเสียหายทางเศรษฐกิจของสหรัฐอย่างรุนแรง ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและบริษัทล้มก็เป็นผู้จบ MBA จำนวนมาก เขาจึงอยากจะรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น และควรปรับปรุงหลักสูตรใหม่หรือเปล่า
ปรากฏว่าหลักสูตรดังๆ ทั้งหลายเช่น ของมหาวิทยาลัยดังอื่นๆ อย่าง Stanford ก็มีความคล้ายกัน และพบว่าต้องปรับปรุงขนานใหญ่ อะไรดีใช้มานานก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์นั้น
นี่ทำให้ผมนึกถึงเมื่อ 20 ปีที่แล้วตอนผมทำธุรกิจอยู่ มีลูกน้องคนหนึ่งที่เป็นวิศวกรแล้วไปต่อ MBA อยู่อเมริกาหลายปี ก่อนจะมาทำงานกับผม เขาเสนอให้ผมอนุมัติโครงการหนึ่ง โดยที่ผมให้ไปทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนและผลตอบแทน (Feasibility Study) ก่อน
เขาทำมาครั้งแรก ผลการศึกษาไม่คุ้มกับการลงทุน ก็เลยกลับไปทำครั้งที่สอง ทีนี้ตัวเลขปรากฏว่า โครงการมีกำไร ผมก็เลยบอกว่า “เอ้ นี่ MBA สอนคุณว่าถ้าไม่คุ้ม ก็ปรับตัวเลขให้คุ้มหรือ” เขาก็ยืนยันว่าคุ้มจริงๆ ผมก็เลยอนุมัติ
ผลต่อมาปรากฏว่าบริษัทขาดทุน 40 ล้าน
หลังจากนั้นผมก็ไม่เชื่อผลการศึกษาของการทำ Feasibility โดยไม่ขอดูภาพรวมทั้งระบบอีกเลย ภาพรวมทั้งระบบก็คือสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมในประเทศและต่างประเทศ อายุของเทคโนโลยีที่ใช้ สภาวะการแข่งขัน
ถ้าดูแต่ตัวเลขก็จะพังแบบนี้ เหมือนเศรษฐกิจที่ล่มในหลายประเทศก็เกิดจากการที่ชอบดูแต่ตัวเลขบรรทัดสุดท้าย โดยไม่ดูข้อสันนิษฐานที่มาของตัวเลขและโยงกลับไปถึงปัจจัยภายนอก ภายใน และยุทธศาสตร์ขององค์กร
เรื่องที่เกี่ยวพันอีกเรื่องที่อยากจะฝากให้ระวังคือ เรื่องการวัด KPI ของความสำเร็จของพนักงานหรือผู้บริหารทั้งหลายที่กำลังนิยมใช้ก็ทำให้หลายองค์กรที่มีผู้บริหารที่ KPI ในเกณฑ์ดีแต่เจ๊งกันเป็นแถว ก็เพราะไม่เข้าใจวิธีคิดและที่มาของมัน ที่คิดโดย Kaplan
จริงๆแล้ว KPI ประกอบด้วยหลายตัวชี้วัดและให้น้ำหนักต่างกัน ซึ่งต้องแปรผันไปตามยุทธศาสตร์ขององค์กร สภาวะการแข่งขัน และสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป เพื่อเป็นตัวกระตุ้นการทำงานไม่ให้เกิด โง่แล้วขยัน หรือ ฉลาดแต่ขี้เกียจ
ถ้ากล่าวโดยสรุปก็คือว่า ถ้าขืนมองแต่ภาพเล็ก ไม่เงยหน้าดูภาพกว้างก็เหมือนคนก้มหน้าเดิน ซึ่งไม่ตกหลุมแน่ แต่ถ้าหัวไม่ชนกำแพง ก็ถูกรถชน หรือไม่ก็เดินชนคนอื่นนั้นเองครับ
หลักสูตรทุกหลักสูตร ไม่ว่าวิชาอะไรก็ต้องปรับปรุงทุก 3-4 ปีเป็นอย่างช้า เพราะโลกมี Dynamism หรือการเปลี่ยนแปลงสูง ไม่ได้เป็น Static เหมือนคนไม่เคยเปลี่ยนวิธีคิด อันตรายครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น