ที่ปรึกษากฎหมาย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ชี้ปล่อยข่าวลือผิดแน่ ส่วนคนกดไลก์หากเป็นข้อความหมิ่นสถาบัน-ความมั่นคงผิดชัดเจน พร้อมยัน พ.ร.บ.คอมพ์ ไม่มีจุดประสงค์ลิดรอนเสรีภาพ
6 กรกฏาคม 2556 go6TV - นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากฎหมาย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า กล่าวถึงกรณีกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) แจ้งข้อกล่าวหาผู้โพสต์ข้อความในลักษณะข่าวลือว่าจะมีการปฏิวัติ เพื่อชี้นำให้ประชาชนตื่นตระหนกโดยการกักตุนอาหารและน้ำ อีกทั้งยังโพสต์ข้อความที่อาจจะก่อให้เกิดความวุ่นวายของบ้านเมือง ระบุว่า การโพสต์ข้อความ ถ้าเป็นข้อความที่คล้ายกับการปล่อยข่าวที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น จะปฏิวัติรัฐประหารแล้ว หรือว่าก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน หรือปล่อยข่าวที่มีผลเสียต่อความมั่นคง ก็คงต้องใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) (2) และ (3) เอาเข้ามาเพื่อที่จะดำเนินคดี
ถ้าจะผิดตาม (1) หมายความว่า เราแสดงความคิดเห็น แล้วเราไปตัดต่อภาพหรือข้อความบิดเบือนจากข้อเท็จจริง ส่วน (2) คือการใช้ข้อความปลอม ข้อมูลปลอมที่เราได้มา แล้วบอกให้ประชาชนตื่นตระหนกตกใจ ส่วน (3) คือเกี่ยวข้องกับความมั่นคงซึ่งระบุไว้ในกฎหมายอาญา ต้องระมัดระวังอย่าให้ไปผิดกฎหมายพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
เมื่อถามว่า เมื่อมีผู้ได้รับข่าวลือแล้วมีการส่งต่อโดยไม่ได้ตั้งใจ อาจเข้าข่ายมีความผิดเหมือนกัน นายไพบูลย์ กล่าวว่า อาจจะมีปัญหาเรื่องความผิด คนที่รับข้อความต้องระมัดระวังในเรื่องการแชร์หรือส่งต่อ ซึ่งผิดกฎหมาย (4) หรือ (5) ซึ่งเป็นการเผยแพร่ ส่งต่อ ซึ่งรู้อยู่แล้วว่ามันผิด มันปลอม ถ้ารู้แล้วยังแชร์ต่อมันก็ผิด ในกรณีที่เกิดความตื่นตระหนกตกใจโดยที่เราไม่รู้ ก็ต้องพิสูจน์เรื่องเจตนาว่าเราดูข้อความแล้วคิดว่ายังไง เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์เจตนาเป็นหลัก
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในเรื่องการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่เราทำได้ แต่จะต้องไม่เป็นการตัดต่อข้อความคนอื่น หรือเผยแพร่ส่งต่อข้อมูลที่เรารู้อยู่แล้วว่าไม่จริง หรืออาจเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ซึ่งต้องระมัดระวังในเรื่องของการแชร์หรือส่งต่อ เพราะอาจจะผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ได้
เมื่อถามว่า การส่งต่อข้อความในแอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งไม่มีใครเห็นนอกจากตัวเรากับเพื่อน มีความผิดหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ส่งผ่านสื่ออะไรก็ผิดหมด เพียงแต่ว่าเขาจะได้ข้อมูลหลักฐานหรือเปล่าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เมื่อถามว่า ทางตำรวจจะมีการดำเนินคดี เข้าข่ายไปถึงผู้ที่กด “ถูกใจ” หรือกด “Like” (ไลค์) ข้อความที่ผิดกฎหมายในเฟซบุ๊กหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า กรณีที่ข้อความนั้นเป็นเรื่องหมิ่นสถาบัน หรือว่าเกี่ยวกับความมั่นคงโดยตรง การกดไลค์ก็อาจจะมีปัญหาถูกดำเนินคดีได้ ซึ่งอาจเป็นได้ในฐานะผู้สนับสนุน หากเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงหรือการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อมองว่า ถ้าเป็นเรื่องความมั่นคง ก็มีช่องที่เจ้าหน้าที่สามารถเป็นข้ออ้างในการเอาผิดได้ นายไพบูลย์ กล่าวว่า เป็นช่องที่สามารถทำได้ ซึ่งโดยปกติถ้าเป็นตัว พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในฐานะคนที่ร่างกฎหมายเก่า โดยหลักการ พ.ร.บ.ฉบับนี้จะไม่ใช้ในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น แต่ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสถาบัน หรือความมั่นคงของชาติโดยตรง การไปกดไลค์ก็อาจจะเข้าข่ายเป็นผู้สนับสนุนและอาจถูกดำเนินคดีได้
นอกจากนี้ นายไพบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไม่ได้ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอยู่แล้ว แต่ในการแสดงความคิดเห็นต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะคอมเมนต์ที่เราเขียนไปต้องดู และถ้าเซฟตัวเองก่อนก็น่าจะมีข้อความว่าเป็นเรื่องที่เป็นความจริงหรือไม่ ซึ่งต่างกันตรงที่เจตนาซึ่งพิสูจน์กันลำบาก ถ้าโดยทฤษฎีเวลาเราส่งข้อมูลผิดๆ เขาก็ดำเนินคดีเราได้อยู่แล้ว แต่จะผิดกฎหมายหรือเปล่าก็พิสูจน์เจตนากัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น