วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

พรรคร่วมรัฐบาลแถลงหนุน ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ช่วยทุกสี-ทุกฝ่าย

วันที่ 31 กรกฎาคม 2556 พรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนาและพรรคพลังชล ได้แถลงการณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลเรื่อง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยระบุว่า  สังคมไทยเกิดความขัดแย้ง แตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งที่ฝังลึกในสังคมไทย ทำให้เกิดการกระทำและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ขัดต่อกฎหมาย เป็นผลให้เกิดการดำเนินคดี ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเพียงเพราะมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน

ประชาชนส่วนใหญ่เบื่อหน่ายกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ต่างมีความต้องการที่จะให้ประเทศชาติหลุดพ้นจากวิกฤตดังกล่าว ต้องการเห็นคนในสังคมไทยมีความปรองดอง สมานฉันท์

ประชาชนจำนวนมากต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา มีทั้งถูกจำคุก ไม่ได้ประกันตัว และหลบหนี ส่งผลให้เผชิญกับความทุกข์ยากลำบาก ขาดความเป็นอิสระ พลัดพรากจากครอบครัว และสูญเสียอาชีพการงาน  และบางส่วนยังมีผลกระทบไปถึงบุคคลในครอบครัว เกิดสภาพบ้านแตกหรือเป็นภาระที่ทำให้การดำเนินชีวิตของครอบครัวต้องเผชิญกับภาวะวิกฤต เกิดปัญหาครอบครัว ส่งผลให้เกิดปัญหาในสังคม

พรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาฝังลึกดังกล่าวคือการให้โอกาสประชาชน เป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย เป็นการลดความขัดแย้งทางการเมือง อันจะเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่จะนำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ

ประเทศไทยมีบทเรียนจากการแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรงมาแล้ว (การปฏิวัติ การสลายการชุมนุม) ซึ่งล้วนแต่เป็นการเพิ่มความขัดแย้ง เพิ่มความไม่เข้าใจกัน การให้โอกาสประชาชนดังกล่าวคือการแก้ปัญหาโดยการให้อภัยทุกฝ่ายไม่ใช้ความอาฆาตแค้น

พรรคร่วมรัฐบาลจึงเห็นพ้องต้องกันว่าสภาผู้แทนราษฎรควรจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประเทศ พ.ศ. .... (ร่างของนายวรชัย เหมะและคณะ) โดยสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยมีหลักการสำคัญที่จะนิรโทษกรรมประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ทุกสี ทุกฝ่าย อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ระหว่างวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ถือเป็นวาระปกติ โดยพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่นำร่างพระราชบัญญัติอื่นๆ ในทำนองเดียวกันมาพิจารณาร่วมด้วย และใช้วิธีพิจารณาตามข้อบังคับปกติทั่วไป โดยไม่มีข้อยกเว้นหรือเร่งรัดใดๆ เพื่อให้เกิดความรอบคอบและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด

 โดยพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะและคณะมีหลักการคือไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ของบรรดาผู้ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจ หรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงระยะเวลาดังกล่าวซึ่งเป็นการนิรโทษกรรมให้ประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมเท่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับแกนนำและผู้สั่งการ

คดีที่ติดค้างกับประชาชนทั้งสองฝ่ายร้ายแรงไม่แพ้กัน เช่น การก่อการร้าย การยึดสนามบิน ถ้าปล่อยไว้จะกลายเป็นชนักติดหลัง ความสงบจะเกิดขึ้นยาก พระราชบัญญัติฉบับนี้จึงนิรโทษกรรมให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน  ไม่มีการเลือกข้างใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อสังคมมีความสงบสุข ความขัดแย้งทางการเมืองลดน้อยลง จึงเป็นโอกาสของประเทศในการเข้าสู่ความสงบเรียบร้อยมีความมั่นคงหลังจากเราสูญเสียโอกาสแห่งความเจริญก้าวหน้ามาเป็นเวลานานซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีเสถียรภาพ

นำประเทศกลับไปสู่ครั้งอดีต เกิดความรัก ความสามัคคีกัน ของคนในชาติ

ไม่มีความคิดเห็น: