วันที่ 27 มกราคม 2556 (go6TV) การเคลื่อนไหวของศิษย์เก่าและอาจารย์โรงเรียนอัสสัมชัญ
เรียกร้องให้ ภราดาอานันท์ ปรีชาวุฒิ ผู้อำนวยการโรงเรียนลาออกจากตำแหน่งที่อยู่มา
9 ปี นอกจากข้อกล่าวหาบริหารงานล้มเหลวและไม่โปร่งใสแล้ว
ประเด็นที่สำคัญคือโครงการอัสสัมชัญ แคมปัส พระราม 2 มูลค่า 2,500 ล้านบาท
โรงเรียนอัสสัมชัญ แคมปัส พระราม 2
ตั้งอยู่ที่คลองโคกขาม ถนนทางหลวงชนบท สค 5031 หรือถนนสารินซิตี้ ต.พันท้ายนรสิงห์
อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร ห่างจากตัวเมืองสมุทรสาครประมาณ 10 กิโลเมตร และ
ห่างจากโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก กรุงเทพฯ ประมาณ 28.4 กิโลเมตร
จากถนนพระราม 2 จะมีทางเข้าโรงเรียนอยู่ 2 ทาง ได้แก่
ทางเข้าบริเวณวัดพันท้ายนรสิงห์ กม.16.5 เลี้ขวขวาที่วัดบ้านไร่เจริญผล
ระยะทาง 4.2 กิโลเมตร และทางถนนทางหลวงชนบท
สค.2032 กม.19 ต.คอกกระบือ
ระยะทาง 2.7 กิโลเมตร
ซึ่งทางเข้าโรงเรียนจะอยู่ตรงทางสามแพร่งพอดี
ที่ตั้งของโรงเรียนอยู่ในละแวกโครงการหมู่บ้านจัดสรรที่มีชื่อเสียง
อาทิ โครงการสาริน ซิตี้ หมู่บ้านศุภาลัย ออร์คิด ปาร์ค หมู่บ้านกานดา
หมู่บ้านวิเศษสุขนคร รวมทั้งยังมีนิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สินสาคร
และสนามกอล์ฟเบสท์ โอเชียน ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียง
เมื่อเข้าไปถึงด้านในจะพบว่า
โรงเรียนตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 230 ไร่
ซึ่งมีคลองโคกขามและคลองขุดล้อมรอบ แบ่งออกเป็น 6 โซน ได้แก่ ศูนย์อำนวยการ โซนการศึกษา
ศูนย์กีฬา โบสถ์และหอประชุม โซนสันทนาการและค่ายลูกเสือ
และโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับบราเธอร์
มีสวนสาธารณะ ทะเลสาบ ระบบไฟฟ้าใต้ดิน
อาคารเรียนทันสมัย มีสนามกีฬาระดับสเตเดียมขนาด 15,000 ที่นั่ง
สนามฟุตบอลต่างหากสำหรับซ้อมอีก 2 สนาม โรงยิมเนเซียมที่มีทั้ง 2
สนามบาสเก็ตบอล สนามวอลเลย์บอล สนามแบดบินตัน 4 สนาม สนามตะกร้อ 6 สนาม
พร้อมที่นั่งอีก 5,000 ที่นั่ง
ศูนย์ฟิตเนสที่มีห้องแอโรบิก มีห้องซาวน่า
ห้องเทควันโด สระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิกสามารถบรรจุผู้ชมได้ 1,000 ที่นั่ง
สนามเทนนิสมาตรฐาน สนามเทนนิสผิวแข็ง 8 สนาม
มีการลงทุนสร้างห้องปฏิบัติการทั้งศาสตร์และศิลป์
และอพาร์ตเมนต์สำหรับครูภาคภาษาอังกฤษ 200 คน
ทั้งหมดนี้ใช้ลงทุนกว่า 2,500 ล้านบาท
โดยได้เริ่มสร้างมาตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2552 และตั้งเป้าจะสร้างเสร็จร้อยละ 75 ในปี 2558
โครงการนี้เป็นที่จับตามองว่า
เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าหรือไม่ เพราะนับตั้งแต่ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ แคมปัส พระราม
2
เปิดเรียนเมื่อเดือนมีนาคม 2555 ที่ผ่านมา
ปัจจุบันมีนักเรียนเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษาประมาณ 900 คน
(ชั้นเรียนละ 150 คน)
และมัธยมศึกษาประมาณ 90 คนเท่านั้น
ขณะเดียวกัน
ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต่างมีความต้องการที่จะให้ลูกหลานเรียนที่กรุงเทพฯ
หากจะต้องไปรับส่งบุตรหลานไกลถึงสมุทรสาคร ไป-กลับเป็นระยะทางกว่า 60 กิโลเมตร
ย่อมสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากขึ้น
จะได้ประโยชน์ก็เฉพาะบรรดาบ้านคนมีสตางค์ที่อยู่ย่านพระราม 2 เท่านั้น
และถึงแม้จะมีหอพักแต่ยังน่าเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย
และความไม่พร้อมของโรงเรียน เพราะเมื่อดูจากลักษณะทางกายภาพในยามค่ำคืน
พื้นที่บริเวณโดยรอบจัดได้ว่าเป็นที่เปลี่ยว
แม้จะมีโครงการหมู่บ้านจัดสรรแต่ก็เกิดขึ้นเป็นรายทาง ส่วนใหญ่เป็นวังกุ้ง วังปลา
และป่ารกชัฎ
ปัจจุบันทางโรงเรียนได้จัดการประชุมผู้ปกครอง
ภายใต้ชื่อ ACEP
OPEN HOUSE สำหรับผู้ปกครองนักเรียน ปี 1, 2, 4, 5 และปี 7, 8, 10 และ 11 ปีการศึกษา 2556
โดยได้จัดขึ้นในช่วงครึ่งวันเช้า รวม 4 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 และ 22 พ.ย. 2555, 10 และ 31 ม.ค. 2556
อภิมหาโปรเจ็กต์ 2,500 ล้านในคราวนี้
ผู้ที่ผลักดันโครงการนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน นั่นคือ ภราดาอานันท์
และที่สำคัญเงินที่นำมลงทุนสร้างโรงเรียนก็ได้มาจากเงินหยาดเหงื่อของผู้ปกครองโรงเรียนอัสสัมชัญ
แม้ที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารสถานศึกษาชุดเก่าได้ลงมติไม่อนุมัติโครงการก็ตาม
ความพยายามของภราดาอานันท์
ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครอง นักเรียน ศิษย์เก่า
หลายครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา
ไม่ว่าเดิมทีมีความพยายามจะออกบอนด์กู้เงินจากผู้ปกครองทั่วไปแต่เกิดการต่อต้านอย่างหนัก
สุดท้ายจึงได้แต่กู้เงินจากผู้ปกครองที่มีนักเรียนเรียนในภาคภาษาอังกฤษเท่านั้น
ขณะเดียวกัน
ยังมีข้อสงสัยกรณีที่มีกระแสข่าวว่าโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกมัธยมต้องยืมเงินจากแผนกประถม
หรือการขึ้นค่าเทอมหรือค่าธรรมเนียมที่แพงขึ้น
หรือการเปลี่ยนหลักคิดให้โรงเรียนภาคภาษาอังกฤษของอัสสัมชัญให้เป็นโรงเรียนสหศึกษา
เพราะมีนักเรียนไปเรียนไม่มากพอ
นอกจากนี้ กระแสข่าวที่ว่า
ในอนาคตโรงเรียนอัสสัมชัญที่กรุงเทพฯ จะถูกยุบ และบีบบังคับให้ไปเรียนที่สมุทรสาคร
แม้จากที่ทางผู้บริหารโรงเรียนได้ชี้แจงจะอ้างว่าเป็นการยุบรวมฝ่ายบริหารทั้งแผนกประถมและมัธยมเท่านั้น
แต่ในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนว่าโรงเรียนจะบีบบังคับอยู่กลายๆ
เพราะประกาศของผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญลงวันที่
10 ก.พ. 2554
ระบุไว้ชัดเจนว่าจะงดการสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษ (English Program) โดยเริ่มปี 2556 จะงดระดับ EP M.1 (ม.1) ที่บางรัก ปี 2557 งด EP M.2
โดยให้ไปเรียนต่อได้ที่สมุทรสาคร
หรือความพยายามให้นักเรียนภาคภาษาอังกฤษที่เดิมเรียนอยู่แผนกประถม
ที่เซนต์หลุยส์ ซอย 3 และมัธยมที่บางรัก
ต้องย้ายไปเรียนอัสสัมชัญที่พระราม 2 จนเกิดการต่อต้านจากผู้ปกครอง
คณะครู นักเรียน และศิษย์เก่าประมาณ 300
คนรวมตัวกันที่โรงเรียนอัสสัมชีญ บางรัก
เพื่อคัดค้นแผนการควบรวมโรงเรียนระหว่างแผนกประถมและมัธยม (Bangkok Post 26 ม.ค. 2556)
อีกข้อสังเกตหนึ่งก็คือ
ที่ดินผืนดังกล่าวอยู่ใกล้กับโครงการบ้านจัดสรรของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังแห่งหนึ่ง
ที่ในช่วงก่อนวิกฤตฟองสบู่แตกเคยผลักดันให้มีโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรสาคร
แต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540
กระทั่งโรงเรียนชื่อดังไม่มีโอกาสได้แจ้งเกิดในจังหวัดนี้
จากข้อเรียกร้องของศิษย์เก่าที่หนึ่งในนั้นคือ
ให้เอาเงินของโรงเรียนอัสสัมชัญที่ใช้ไปกับการสร้างโครงการพระราม 2
คืนให้กับโรงเรียนอัสสัมชัญ เพราะเป็นคนละโรงเรียนนั้น
หากการขับไล่ภราดาอานันท์สำเร็จ จะส่งผลกระทบทำให้การดำเนินงาน
โดยเฉพาะการก่อสร้างส่วนที่เหลือชะงักหรือไม่
รวมทั้ง
การที่ทางโรงเรียนได้ตั้งค่าเทอมในส่วนของเงินแรกเข้าเป็นจำนวนที่สูงถึง 700,000-750,000 บาท
แม้จะถูกมองว่าอาจเป็นการระดมทุนทางหนึ่ง
แต่ในเมื่อผู้ปกครองต่างมองว่าทางโรงเรียนเก็บเงินสูงเกินไป
โรงเรียนจะมีคำอธิบายอย่างไรให้เป็นที่เข้าใจได้
แน่นอนว่าจากข่าวที่ออกมาในทางลบ
ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนอัสสัมชัญ
รวมทั้งข้อกล่าวหาความไม่โปร่งใสในตัวภราดาอานันท์
ที่ไม่สามารถให้ความกระจ่างได้อย่างชัดเจน
ย่อมทำให้ชื่อเสียงของโรงเรียนอัสสัมชัญเสียหาย
ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อผู้ปกครองและผู้สนใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารโรงเรียนอัสสัมชัญ
กับกลุ่มศิษย์เก่าที่เคลื่อนไหวขับไล่ในครั้งนี้
แม้จะยังไม่มีความชัดเจนว่าบทสรุปจะจบลงอย่างไร
แต่อนาคตของโครงการโรงเรียนอัสสัมชัญ แคมปัส พระราม 2 มูลค่า 2,500
ล้านบาทท่ามกลางความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่
เพราะผู้ควบคุมกลไกทั้งหมด
ที่เปรียบเสมือนท่อน้ำเลี้ยงให้กับทางโรงเรียน คือ ภราดาอานันท์ ที่ต้องดูกันว่า
จะยังรั้งเก้าอี้ผู้อำนวยการโรงเรียนอัสสัมชัญต่อไปได้หรือไม่เท่านั้นเอง.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น