วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทุกคนต้องอ่าน! "แกมี" บุกไทย 7-9 ตุลา ขอทุกคนอยู่บ้าน เปิดทาง จนท. ระดมสูบน้ำเต็มที่


Go6TV(5 ตุลาคม 2555) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการ เตรียมความพร้อมรับมือพายุแกมี ว่า รัฐบาลมีความพร้อมอยู่แล้ว การระบายน้ำมีตั้งแต่ต้นน้ำ เขื่อนก็พร่องน้ำแล้ว สำหรับพื้นที่ กทม.การขุดลอกคูคลองเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ ยังติดตั้งเครื่องสูบน้ำ รวมถึงการตั้งศูนย์จราจร เพราะน้ำท่วมใน กทม.จะเกี่ยวข้องกับการจราจรด้วย

เมื่อถามว่า ที่นักวิชาการประเมินว่าน้ำจะท่วม กทม. 2-3 สัปดาห์นั้น คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) มีการประเมินตรงกันหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ถ้าน้ำท่วมจะเป็นลักษณะน้ำท่วมขัง แต่เราไม่คิดว่าจะนานอย่างนั้น จากที่ประเมินนั้นคิดว่าคงมีน้ำท่วมขัง แต่จะนานหรือไม่ต้องไปดูเป็นจุดไป เมื่อถามว่ารัฐบาลจะไม่มีการเกี่ยงงานกับ กทม.ใช่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ไม่มี ทั้งนี้รัฐบาลกับ กทม.ต้องทำงานร่วมกัน อะไรที่รัฐบาลช่วยเหลือได้ก็ทำ เราไม่ได้มองว่างานนี้เป็นงานที่รับผิดชอบโดยใคร

เปิดศูนย์ร่วมระบายน้ำ

นายรอยล จิตรดอน ประธานคณะอนุกรรมการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์และจัดสรรน้ำ ในคณะกรรมการ กบอ. แถลงเปิดศูนย์ปฏิบัติการร่วมระบายน้ำในพื้นที่ปลายน้ำ ที่อาคารบางกอกไทยทาวเวอร์ ซ.รางน้ำ ว่า ศูนย์ดังกล่าวจะปฏิบัติหน้าที่ระหว่างวันที่ 1-31 ตุลาคมนี้ ทำหน้าที่วิเคราะห์รวบรวมข้อมูลเพื่อวางแผนระบายน้ำ ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนการทำงานการระบายน้ำในทุกภาคส่วน

นายรอยลกล่าวว่า ระหว่างวันที่ 7-9 ตุลาคม พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางบางส่วน และกรุงเทพฯจะมีฝนตกหนักต่อเนื่อง โดยในกรุงเทพฯมีปริมาณฝนสูงถึง 90-100 มิลลิเมตร/วัน เฉลี่ย 33.33 มิลลิเมตร/ชั่วโมง และจะตกเกือบ 100% ของพื้นที่

คาด"กทม."ฝนหนักข้ามคืน

นายรอยลกล่าวว่า ส่วนการรับมือได้เตรียมเรือผลักดันน้ำและเครื่องสูบน้ำไว้พร้อมแล้ว นอกจากนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เตรียมรถยก 109 คัน เพื่อเคลื่อนย้ายรถหากเกิดกรณีฉุกเฉิน ส่วนกองทัพบกได้ออกคำสั่งให้กำลังพล 1 ใน 6 ทั่วประเทศ พร้อมช่วยเหลือประชาชน 24 ชั่วโมง และเปิดพื้นที่ในค่ายทหารเพื่อจอดรถ

นายรอยลกล่าวว่า ส่วนการเตรียมการระบายน้ำในพื้นที่ต่างๆ ว่าขณะนี้ได้พร่องน้ำในเขื่อนที่เกี่ยวข้อง เช่น เขื่อนลำพระเพลิง ที่จะต้องรับน้ำจาก จ.นครราชสีมา ที่คาดว่าอาจเกิดฝนตกหนักในคืนวันที่ 8 ตุลาคม ขณะที่กรุงเทพฯมีความเป็นไปได้ว่าฝนจะตกหนัก 24 ชั่วโมง ตั้งแต่คืนวันที่ 8 ตุลาคมต่อเนื่องถึงคืนวันที่ 9 ตุลาคม

เผยเขตเมืองฝนเม็ดใหญ่

"ปัญหาในกรุงเทพฯที่พบคือ จากการคำนวณพบว่าฝนจะตกแค่ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง แต่กลับพบว่าปริมาณฝนจริงกลับตกมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ เช่น ตกถึง 90 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง เป็นเพราะกรุงเทพฯมีตึกสูง มีการใช้เครื่องปรับอากาศ รวมทั้งมีการสะสมความร้อน และมีประมาณฝุ่นจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยมลพิษที่ทำให้ปริมาณน้ำฝนเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นไปได้สูงว่าพื้นที่ในเมืองที่มีตึกสูงและมีจุดกำเนิดมลพิษมาก เช่น สีลมและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจะมีปริมาณฝนมากกว่าพื้นที่โล่งหรือพื้นที่นอกเมือง" นายรอยลกล่าว

ด้านนายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธาน กบอ. กล่าวว่า จากรายงานพบว่าฝนที่ตกในพื้นที่เขตเมืองที่มีมลพิษสูงจะมีเม็ดใหญ่และปริมาณน้ำมีมากกว่าพื้นที่โล่งเมื่อเทียบจากระยะเวลาที่ฝนตกลงมาเท่ากัน เพราะพื้นที่ที่มีมลพิษสูงจะมีฝุ่น ไอเกลือ และไอเสียจากรถยนต์ บวกกับความเร็วลมที่ยกตัวทำให้เม็ดฝนใหญ่กว่าปกติ ปริมาณน้ำจึงมากกว่าปกติ ถ้าฝนตกลงมาเป็นเวลานานโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมขังจึงมีสูง

ยันไม่ใช่แค่"ฝนรำคาญ"

"ช่วงวันที่ 7-9 ตุลาคมนี้ เชื่อว่าปริมาณฝนค่อนข้างสูง ไม่ได้ตกแบบฝนรำคาญอย่างที่พูดกัน ขณะนี้ทุกฝ่ายเตรียมพร้อมและช่วยกันทำงาน หยุดทะเลาะกันชั่วคราว"

ผู้สื่อข่าวถามว่า วันที่ 7-9 ตุลาคมนี้ ประชาชนต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง นายปลอดประสพกล่าวว่า ไม่จำเป็นก็ไม่ควรออกจากบ้าน ควรเปิดที่ว่างให้มากที่สุดเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงาน โดยชุมชนต่างๆ ต้องเตรียมตัว ประชุมหารือเพื่อแนะนำลูกบ้านว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร เตรียมอุปกรณ์อะไรเพื่อแก้ปัญหาในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ยังไม่จำเป็นถึงขั้นต้องกักตุนอาหาร ทั้งนี้ช่วงดังกล่าวทีมงานของศูนย์ปฏิบัติการร่วมระบายน้ำในพื้นที่ปลายน้ำจะทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมง

"ช่วงนี้อยากให้คนไทยจิตใจเข้มแข็ง เตรียมรับกับภาวะไม่ปกติที่จะเกิดขึ้น เป็นช่วงเวลาไม่นาน หากทุกคนเข้าใจและร่วมมือก็จะผ่านเรื่องนี้ไปได้" นายปลอดประสพกล่าว

ถกผู้ว่าฯเตรียมแผนรับมือ

ต่อมานายปลอดประสพกล่าวภายหลังการประชุม กบอ.ว่า เชิญผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก ฉะเชิงเทรา และ กทม. ร่วมประชุมหารือแผนรับมือพายุแกมี โดยแผนนี้จะบังคับใช้ครอบคลุมทั่วประเทศ มีเป้าหมายเพื่อทำให้พื้นที่เสี่ยงภัยมีความปลอดภัย จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยนายกฯสั่งการให้ศูนย์บัญชาการส่วนหน้า ตั้งศูนย์เผชิญเหตุประจำพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที นอกจากนี้ให้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อจัดทำแผนรับมือพายุแกมี

"ให้ประชาชนใน จ.อุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีษะเกษ และนครราชสีมา เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน ส่วน จ.นครนายก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด เฝ้าระวัง เพราะอาจมีน้ำท่วมขัง" นายปลอดประสพกล่าว

พล.ร.อ.จักรชัย ภู่เจริญยศ เสนาธิการทหารเรือ กล่าวว่า พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) สั่งการให้กรมอู่ทหารเรือ เร่งสร้างเครื่องผลักดันน้ำ 100 เครื่อง ตามคำขอของ กบอ. ขณะนี้กองสร้างเสร็จแล้ว 39 เครื่อง และส่งไปติดตั้งตามที่ กบอ.ขอแล้ว 34 เครื่อง ทั้งนี้จะพยายามสร้างให้เสร็จ โดยวันที่ 6 ตุลาคม จะเสร็จอีก 30 เครื่อง และวันที่ 21 ตุลาคม จะเสร็จอีก 31 เครื่อง

หวั่นฝั่งตะวันออกท่วมกว่าเดิม

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตั้งกระทู้ถามสดเรื่องการแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยถามว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญพายุโซนร้อนแกมี ขณะที่พายุพระพิรุณจะจ่อเข้ามาวันที่ 20 ตุลาคม ถามว่ารัฐบาลมีมาตรการอย่างไร

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธาน กบอ. ชี้แจงว่า โชคดีที่พายุดีเปรสชั่น แกมี ถูกฉุดด้วยลูกใหม่ ไม่เช่นนั้นพายุนี้จะรุนแรง อย่างไรก็ตาม ภาคตะวันออกน้ำจะมากขึ้น ต้องปิดประตูระบายน้ำทุกประตูที่ไปจากแม่น้ำเจ้าพระยาและภาคตะวันออกของกรุงเทพฯไม่ให้ลงแม่น้ำบางปะกง โดยให้แม่น้ำบางปะกงรับน้ำจากภาคตะวันออกทั้งน้ำเก่าและน้ำใหม่ที่จะมา อีกทั้งต้องเตือนราษฎรให้อพยพบ้าง เพราะจะท่วมมากกว่าเดิม ให้เตรียมพื้นที่พักพิงประชาชน และเตรียมถุงทรายเพื่อทำแนวกันน้ำชั่วคราว รวมทั้งพร่องน้ำในเขื่อนสียัด จ.ฉะเชิงเทรา

นายปลอดประสพกล่าวว่า ขณะที่ฝั่งตะวันตกพบว่าใน จ.สุพรรณบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร ระดับน้ำเกือบล้นตลิ่งแล้ว ต้องใช้เครื่องผลักดันน้ำ ซึ่งกองทัพเรือส่งเรือ 30 ลำ เพื่อระบายน้ำแม่น้ำท่าจีนลงสู่อ่าวไทย

"พล.ม.2-ร.1"พร้อมรับน้ำ

ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า หากรัฐบาลประกาศจะให้พื้นที่กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) เป็นพื้นที่รองรับน้ำหรือแก้มลิงรับน้ำในกรุงเทพฯ เราก็จะทำ เพราะมีบ่อน้ำและสระน้ำจำนวนมาก และกำลังมองพื้นที่อื่น เช่น กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.)

"นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเข้าไปดูพื้นที่ พบมีบ่อน้ำและสระน้ำจำนวนมากจึงอยากให้ช่วยระบายออกไป เพื่อรองรับพายุแกมี" พล.อ.อ.สุกำพลกล่าว

ทส.ส่งเครื่องสูบน้ำช่วย

ด้านนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม (ทส.) กล่าวหลังลงพื้นที่ตรวจสอบเครื่องสูบน้ำบริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดง ร่วมกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และคณะ ว่า กรมทรัพยากรน้ำซื้อเครื่องสูบน้ำ 50 เครื่อง ติดตั้งในพื้นที่เสี่ยง ขณะนี้เมีความพร้อมในทุกพื้นที่ ได้ประสานงานกับ กทม.และกรมราชทัณฑ์ ขุดลอกท่อระบายน้ำทั่วกรุงเทพฯ โดยฝั่งตะวันตกสามารถระบายน้ำได้เร็วกว่าเดิม 3 เท่า ส่วนฝั่งตะวันออกเตรียมติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม

นายปรีชากล่าวว่า นอกจากนี้ได้ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรน้ำ 200 นาย เพื่อเตรียมความพร้อมช่วยเหลือประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียงด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: